เมื่อวันที่ 4 เม.ย. นายชัชวาล แพทยาไทย ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคไทยสร้างไทย แสดงความวิตกกังวลอย่างยิ่งต่อผลกระทบจากการประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศไทยในอัตรา 36% โดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งเป็นมาตรการตอบโต้ทางการค้าหลังสหรัฐฯ เสียดุลการค้าให้กับประเทศไทย โดยระบุว่า มาตรการดังกล่าวจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อภาคการส่งออกข้าวไทย โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักไปยังสหรัฐฯ และสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจในภาพรวมไม่น้อยกว่า 8,000 ล้านเหรียญสหรัฐทันที
“นี่คือวิกฤตครั้งใหญ่ที่จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อเกษตรกรชาวนาไทย ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ” นายชัชวาลกล่าว พร้อมชี้ให้เห็นว่าการขึ้นภาษีครั้งนี้จะทำให้ราคาข้าวหอมมะลิของไทยในตลาดสหรัฐฯ พุ่งสูงขึ้นทันทีจาก 900-1,000 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ไปอยู่ที่ราว 1,400 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน กลายเป็นราคาที่สูงเกินกว่าตลาดจะรับได้ และอาจทำให้ผู้บริโภคในสหรัฐฯหันไปเลือกข้าวจากประเทศคู่แข่งแทน ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกข้าวไทยลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
นายชัชวาล ได้เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งนำประเด็นนี้เข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และนำเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน “รัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับปัญหาที่กระทบต่อความเป็นอยู่ของเกษตรกรไทยอย่างแท้จริง แทนที่จะมุ่งผลักดันแต่กฎหมายที่ส่งเสริมอบายมุข ทั้งสถานบันเทิงครบวงจรที่ซ่อนกาสิโน และพนันออนไลน์ ซึ่งส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสังคมและไม่ได้เกิดประโยชน์กับประชาชนส่วนใหญ่และเกษตรกรเลย ” นายชัชวาลกล่าว
โดยขอเสนอแนวทางรับมือ 5 ประการดังนี้ 1) ผลักดันการเจรจาทางการค้ากับรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อขอผ่อนปรนภาษีหรือนำกลับเข้าสู่ระบบ GSP 2) ขยายตลาดใหม่โดยเน้นการส่งออกข้าวหอมมะลิไปยังตลาดยุโรป ตะวันออกกลาง และจีน 3) สร้างมูลค่าเพิ่มให้ข้าวไทยผ่านการพัฒนาเป็นสินค้าเฉพาะกลุ่ม เช่น ข้าวอินทรีย์ 4) ลดต้นทุนการผลิตเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน 5) ใช้โอกาสจากจุดอ่อนของคู่แข่ง โดยชูคุณภาพข้าวไทยที่เหนือกว่า รัฐบาลควรทำงานเชิงรุก ประสานความร่วมมือกับภาคเอกชนและเกษตรกร เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมข้าวไทยซึ่งเป็นทั้งแหล่งรายได้สำคัญและเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ของชาติ หากไม่มีการดำเนินการอย่างเร่งด่วน ความเสียหายที่เกิดขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวมและความมั่นคงทางอาหารของประเทศในระยะยาว
นอกจากนี้นายชัชวาล ย้ำว่า ฤดูกาลทำนาปีกำลังจะเริ่มต้นในเดือนหน้า หากรัฐบาลยังคงนิ่งนอนใจ เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวปลายปี ราคาข้าวเปลือกจะตกต่ำอย่างแน่นอน “รัฐบาลยังมีเวลาเตรียมมาตรการรับมือ แต่ต้องเร่งดำเนินการตั้งแต่บัดนี้ โดยเฉพาะโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าว และสินเชื่อสนับสนุนสหกรณ์การเกษตรสำหรับรับซื้อข้าวจากชาวนา ควรมีความชัดเจนตั้งแต่ต้นฤดูการผลิต ไม่ใช่รอให้เกิดปัญหาราคาข้าวตกต่ำแล้วค่อยมานั่งแก้กันทุกปี ซึ่งมักจะไม่ทันการณ์และสร้างความเดือดร้อนให้กับเกษตรกร” นายชัชวาลกล่าว