เมื่อวันที่ 5 เม.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการ สตง. พบว่ามีการของบประมาณเพื่อก่อสร้างมาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2550 ต่อมามีการขอปรับเปลี่ยนงบประมาณในปี 2563 ออกเป็น 2 แบ่งเป็น งานผู้ให้บริการควบคุมงานก่อสร้าง วงเงิน 74.6 ล้านบาทเศษ ดำเนินการโดย กิจการร่วมค้า PKW (บริษัท พี เอ็น ซิงค์โครไนซ์ จํากัด บริษัท ว.และสหาย คอนซัลแตนตส์ จํากัด และบริษัท เคพี คอนซัลแทนส์ แอนด์ แมเนจเม้น จํากัด)
งานก่อสร้างอาคารดังกล่าว วงเงิน 2.1 พันล้านบาทเศษ ดำเนินการโดย กิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์อีซี (บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จํากัด (มหาชน) และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จํากัด)
นอกจากนี้จากการตรวจสอบพบบริษัทและผู้รับเหมาที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการก่อสร้างโครงการดังกล่าวมีมากกว่า 31 บริษัท แบ่งเป็นงานโครงสร้าง 7 บริษัท
-บ.ทีเค คอนสตรัคชั่น จำกัด
-บ.ทีแอล 86 จำกัด
-บ.แอล เอส เอส จำกัด
-บ.จักรพงษ์ จำกัด
-หจก.ฉลองรัตน์
-บ.เอสเอ คอนสตรัคชั่น 2008 จำกัด
-ผู้รับเหมา
นอกจากนี้ยังพบว่ามี 24 บริษัทที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างโครงการดังกล่าว แบ่งเป็น งานสถาปัตย์ 11 บริษัท, งานระบบ 9 บริษัท, งานลิฟท์ , งานปั้นจั่น, งานรปภ , งานตกแต่ง อย่างละ 1 บริษัท
ทั้งนี้มีรายงานว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสอบสวนหาสาเหตุอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะมีการขอข้อมูลการทำงานทั้ง 31 บริษัทรวมสอบปากคำในประเด็นที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง มีรายงานว่าทาง พล.ต.ท.สยาม บุญสม ผบช.น. ได้มอบหมายให้ พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รอง ผบช.น. พล.ต.ต.เจษฎา สวยสม ผบก.น.2 และชุดทำงานทำการสอบปากคำผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
โดย พล.ต.ต.เจษฎา สวยสม ผบก.น.2 กล่าวถึงความคืบหน้าทางคดีการก่อสร้างอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน สตง. แห่งใหม่ถล่ม ว่า อยู่ระหว่างพิจารณาว่ามีกี่บริษัที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเพื่อมาให้ข้อมูล และอยู่ระหว่างให้พนักงานสอบสวนรวบรวมข้อมูล ทั้งรายละเอียดสัญญาจ้าง และที่สำคัญรอผลการตรวจพิสูจน์จากผู้เชี่ยวชาญว่ามีความผิดส่วนไหนบ้าง ทั้งการออกแบบว่าถูกต้องหรือไม่ การกำหนด TOR สเป็กตรงหรือไม่ ผู้ตรวจการจ้างได้ดูดีไหม และการตรวจรับเป็นอย่างไร หรือผู้รับเหมาเอาของผิดสเป็กมา อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการช่วยชีวิต และการตรวจพิสูจน์อัตลักษณ์ผู้เสียชีวิต รวมถึงเรื่องเยียวยาผู้เสียชีวิต จากกระทรวงยุติธรรม