เมื่อวันที่ 6 เม.ย. สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศต่อกรณี “คนไทยกับเหตุการณ์แผ่นดินไหว” กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,239 คน (สำรวจทางออนไลน์และภาคสนาม) ระหว่างวันที่ 1-4 เมษายน 2568 พบว่า กลุ่มตัวอย่างติดตามข่าวเหตุการณ์แผ่นดินไหวจากสื่อโซเชียลมีเดีย (เฟซบุ๊ก เอ๊กซ์ ติ๊กต็อก ยูทูป ไลน์) มากที่สุด ร้อยละ 89.11 และมีความกังวลต่อภัยพิบัตินี้ ร้อยละ 84.91

จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้ทำให้ประชาชนค่อนข้างกังวลต่อความปลอดภัยและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ร้อยละ 48.83 ส่งผลให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยการติดตามข่าวสารต่าง ๆ มากขึ้นร้อยละ 79.43 ทั้งนี้กลุ่มตัวอย่างต้องการให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีระบบติดตาม แจ้งเตือนภัยพิบัติที่รวดเร็ว แม่นยำ ร้อยละ 72.18 รองลงมาคือ ยกระดับเรื่องภัยพิบัติเป็นวาระแห่งชาติ ร้อยละ 45.10

ด้าน น.ส.พรพรรณ บัวทอง ประธานสวนดุสิตโพล ระบุว่า ผลโพลสะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยตื่นตัวกับภัยธรรมชาติ ที่ไม่อาจคาดเดาได้ ท่ามกลางความไม่แน่นอนก็รู้สึกว่า “ข้อมูลจากรัฐ” นั้นล่าช้า สังคมออนไลน์ก็เต็มไปด้วยข่าวปลอม ที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว จึงเรียกร้องให้รัฐบาลจัดลำดับความสำคัญให้กับเรื่องนี้ เร่งพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยที่ แม่นยำ ฉับไว ไว้ใจได้ และเข้าถึงทุกคน เพื่อไม่ให้เกิดการถอดบทเรียนซ้ำ ๆ แต่ไม่ได้นำมาปฏิบัติจริง

ขณะที่ อาจารย์มณฑล สุวรรณประภา อาจารย์ประจำหลักสูตรอนามัยสิ่งแวดล้อมและสาธารณภัย คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กล่าวว่า ผลการสำรวจสะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในการรับรู้ด้านภัยพิบัติของคนไทย โดยเฉพาะแผ่นดินไหวซึ่งไม่เคยเป็นปัญหาหลักของประเทศไทยจนกลายเป็นความกังวลอันดับหนึ่ง ขณะที่พฤติกรรมการรับข้อมูลข่าวสารผ่านโซเชียลมีเดียชี้ให้เห็นว่าภาครัฐยังขาดช่องทางการสื่อสารด้านภัยพิบัติที่น่าเชื่อถือ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ภาครัฐต้องปรับกลยุทธ์การสื่อสารผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลต่าง ๆ เพื่อให้สามารถเข้าถึงประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม ถือเป็นความท้าทายสำคัญที่ภาครัฐต้องสนับสนุนและผลักดันให้ภัยพิบัตินี้เป็นวาระแห่งชาติ โดยบูรณาการการทำงาน ทั้งในระดับนโยบายและปฏิบัติ ตั้งแต่การพัฒนาระบบฐานข้อมูลที่เชื่อมโยงกัน การจัดสรรงบประมาณที่เพียงพอ การสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ทนต่อภัยพิบัติ ไปจนถึงการเสริมสร้างศักยภาพชุมชนในการรับมือภัยด้วยตนเอง เพื่อลดความเปราะบางและเพิ่มความยืดหยุ่นของสังคมไทยต่อภัยพิบัติที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นในอนาคต.