“บิ๊กเอ” ผศ.พิมล ศรีวิกรม์ ประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านกีฬา เป็นประธานในการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านกีฬา (มวยไทยซอฟต์พาวเวอร์) ครั้งที่ 4/2568 ที่ห้องประชุมพิพิธภัณฑ์กีฬาแห่งชาติ การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) หัวหมาก เมื่อวันที่ 8 เม.ย. ที่ผ่านมา โดยมี นางโปรดปราน สมานมิตร รองผู้ว่าการ กกท. ฝ่ายกีฬาอาชีพและกีฬามวย, นายปรีชา ลาลุน รองผู้ว่าการ กกท. ฝ่ายกีฬาเป็นเลิศและวิทยาศาสตร์การกีฬา กกท. และคณะอนุกรรมการ ร่วมประชุม
หลังการประชุม ผศ.พิมล กล่าวว่า ที่ประชุมได้มีการพูดคุยและอนุมัติในการเตรียมสนับสนุนการจัดมวยไทยเฟสติวัล ที่กรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย ซึ่งมีการขอการสนับสนุนมาจาก นายดามพ์ บุญธรรม เอกอัครราชทูต ณ กรุงริยาด นับเป็นเรื่องดีที่มวยไทยจะได้ไปเผยแพร่ ทางคณะอนุกรรมการฯ ก็จะมีการส่งทีมมวยไทย ไปจัดกิจกรรมโชว์ที่ซาอุฯ

นอกจากนี้ ที่ประชุมคือการรับรองมาตรฐานค่ายมวยไทยในต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันเรามีการทำอยู่ในการเดินทางไปต่างประเทศ ในกิจกรรม “อเมซิ่ง มวยไทย มาสเตอร์ คลาส” ก็จะมีทีมงานของคณะกรรมการมวยไทย ไปตรวจเยี่ยมค่ายมวยต่าง ๆ ของชาตินั้น ๆ แต่ปรากฏว่าค่ายมวยไทยในต่างประเทศมีเยอะมาก ๆ อย่างเช่นในสหราชอาณาจักร มีเป็น 1,000 ค่าย ดังนั้นไม่มีทางที่คณะกรรมการฯ จะเดินทางไปตรวจได้ครบทุกที่
“ที่ประชุมจึงได้มีการพูดคุยกันในการจัดทำเช็กลิสต์มาตรฐานค่ายมวยไทย ในต่างประเทศ ว่าจะต้องมีอะไรบ้าง เช่น นวม, กระสอบทราย หรือสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งค่ายมวยนั้น ๆ สามารถนำเช็กลิสต์นี้ไปดู แล้วก็ส่งมาให้ทางคณะกรรมการตรวจอีกครั้ง เมื่อตรวจแล้วผ่านทุกข้อ ก็จะได้ประกาศนียบัตรไป เพื่อช่วยเร่งให้มีค่ายมวยไทยที่ได้มาตรฐานในต่างประเทศมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ก็จะมีการสุ่มตรวจค่ายมวยอย่างละเอียดอีกครั้งด้วย” ผศ.พิมล กล่าว

จากนั้นได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเชิงปฏิบัติการ “โครงการต้นกล้ามวยไทย” ระหว่าง กกท. กับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยมี ผศ.พิมล เป็นประธาน พร้อมด้วย นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการ สพฐ. และนางโปรดปราน ร่วมลงนาม
สำหรับโครงการนี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการต้นกล้ามวยไทย ที่จะได้นำเอามวยไทยเข้าไปสอนในโรงเรียนของ สพฐ. เริ่มตั้งแต่เปิดภาคเรียนหน้าเป็นต้นไป เบื้องต้นทาง สพฐ. ได้คัดเลือกมา 60 โรงเรียนที่มีความพร้อม ทางคณะกรรมการฯ จะส่งครูมวยเข้าไปสอนในโรงเรียน ทำให้นักเรียนสามารถเลือกเรียนเป็นวิชาเลือกได้ ซึ่งจะทำให้นักเรียนที่ชอบมวยไทย สามารถต่อยอดเพื่อไปเป็นนักมวยอาชีพในอนาคตต่อไป

“การนำมวยไทย เข้าไปในโรงเรียนทั้ง 60 โรงเรียน น่าจะทำให้เข้าถึงนักเรียนได้ 3,500-4,000 คน นับเป็นการนำร่องที่ดี ถ้าหากประสบความสำเร็จ ในปีต่อไปอาจจะเพิ่มเป็น 100-200 โรงเรียน ก็ได้” บิ๊กเอ กล่าว.