กรณีที่สภาวัฒนธรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช ร่วมกับกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ได้จัดเทศกาลมหาสงกรานต์ แห่นางดานเมืองนคร โดยมีจุดศูนย์กลางการจัดงานที่วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร มีการหยิบยกฟื้นฟูกิจกรรมโบราณมาจัดอย่างหลากหลาย เพื่อสนับสนุนโครงการพระบรมธาตุมรดกโลก กำหนดจัดกิจกรรมระหว่างวันที่ 11-15 เม.ย. 2568 โดยหนึ่งในกิจกรรมที่ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง คือการพิสูจน์ตำนานพระธาตุไร้เงา โดยนายภาณุ อุทัยรัตน์ อดีต สว. และอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ประสานงานติดต่อสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ยกคณะลงมาศึกษาวิจัย และยืนยันเรื่องพระธาตุไร้เงา ซึ่งมีอยู่จริง ตรงกับวันที่ 11 เม.ย. ของทุกปี ตามที่เดลินิวส์ได้นำเสนอข่าวมาแล้วนั้น
ฮือฮา! นักดาราศาสตร์พิสูจน์ “พระธาตุไร้เงา” นครศรีฯ ตรงวันเถลิงศกสงกรานต์

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 12 เม.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในช่วงวันที่ 10-11 เม.ย. นางอรพิน รินาพร้าว ผู้เชี่ยวชาญและหัวหน้ากลุ่มวิจัยการศึกษาประวัติศาสตร์และมรดกทางดาราศาสตร์ (สดร.) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมคณะเกือบ 10 คน ได้เดินทางเข้าติดตั้งวัสดุอุปกรณ์ทางเทคโนโลยีและดาราศาสตร์ที่ฐานพระเวียนรอบองค์พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช เพื่อถ่ายภาพพระบรมธาตุเจดีย์ และดาวรวงข้าวในมุมต่าง เพื่อนำไปประเมิน วิจัยคำนวณและวิเคราะห์และนำมาสู่การบรรยายอธิบายทางวิชาการ ยืนยันเรื่อง “พระธาตุไร้เงา บทสะท้อนความมหัศจรรย์ของพระมหาธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช”
ต่อมาในเวลา 09.30 น. ที่ห้องประชุมศาลา 100 ปี วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)(สดร.) ได้เป็นตัวแทนสถาบันดาราศาสตร์แห่งชาติบรรยายพิเศษเรื่อง “พระธาตุไร้เงา บทสะท้อนความมหัศจรรย์ของพระมหาธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช” โดยบรรยายอธิบายเรื่องการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์ในแต่ละวันในรอบปี ไม่ได้ขึ้นทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตกตลอดเวลา ซึ่งจะมีอยู่วันหนึ่งที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนที่มาและเส้นโคจรมาตรงและตั้งฉากกับพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช เมื่อดวงอาทิตย์ตั้งฉากกับองค์พระบรมธาตุเจดีย์ จะเกิดปรากฏการณ์พระธาตุไร้เงาทันที จึงยืนยันได้ว่า ตำนานที่เล่าต่อ ๆ กันมาว่า พระธาตุเมืองนครไร้เงานั้นเป็นเรื่องจริง แต่ไม่ได้ไร้เงาทุกวันทุกเวลา แต่พระธาตุจะไร้เงาเมื่อดวงอาทิตย์ตั้งฉาก ซึ่งเกิดขึ้นปีละ 1 ครั้ง ในวันที่ดวงอาทิตย์ตั้งฉากพอดี ตรงกับวันที่ 11 เม.ย. ของทุกปี สำหรับในปีนี้ดวงอาทิตย์ตั้งฉากกับยอดพระบรมธาตุ และทำให้พระธาตุไร้เงาในเวลา 12.21 น.

“ดวงอาทิตย์ตั้งฉาก ทำให้วัตถุไร้เงามีอยู่จริง แต่วันเวลาไม่ตรงกัน เป็นไปตามการโคจรของดวงอาทิตย์ แต่สิ่งพบในการศึกษาวิจัย วิเคราะห์ คำนวณตามหลักวิชาการดาราศาสตร์โบราณคดี ซึ่งพบและยืนยันชัดเจนว่า พระธาตุเมืองคอนไร้เงาเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ๆ ซึ่งในปีนี้พระธาตุไร้เงาในเวลา 12.21 น. ตามที่กล่าวว่าแล้วข้างต้น แต่สิ่งที่เราพบมันพิเศษมากกว่านั้น คือพระธาตุไร้เงาในวันเถลิงศก เปลี่ยนปีใหม่พอดี คือช่วงมหาสงกรานต์พอดี และเป็นวันรับเจ้าเมืองใหม่ของเมืองนครศรีธรรมราชในอดีต มันจึงเป็น 3 ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน ที่ไม่มีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้น มันเกิดได้ยากมาก ๆ บ่งบอกถึงความเป็นเลิศของบรรพบุรุษบรรพชนของชาวนครศรีธรรมราช ในการวางผังฤกษ์การก่อสร้างพระบรมธาตุเจดีย์”
ก่อนหน้านี้สถาบันวิจัยทางดาราศาสตร์ เคยเดินทางมาศึกษาวิจัยและนำไปคำนวณ วิเคราะห์ศึกษารูปแบบการวางผังก่อสร้าง ยึดโยงเกี่ยวข้องกับหลักการใด เป็นไปตามคัมภีร์ไหน การวางผังฤกษ์ก่อสร้างพระบรมธาตุเจดีย์ ตรงกับวันเถลิกศกสงกรานต์ เรียกว่า “ฤกษ์จิตรา” และตรงกับ “วันรับเจ้าเมืองใหม่” ของชาวนครศรีธรรมราชในครั้งโบราณ เราคำนวณได้แบบนี้ เพราะเป็นการวางผังกับดวงรวงข้าวเหมือนพระมหาธาตุสุโขทัย และแม้แต่พระปฐมเจดีย์ก็วางผังแบบนี้ วางผังกับดาวรวงข้าวตอนตกจากขอบฟ้า ซึ่งดาวรวงข้าวจะอยู่ตรงข้ามกับวันที่พระอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษ ที่เราเรียกว่าวันเถลิงศก ซึ่งเวลาดวงอาทิตย์อยู่ดาวอะไร จะสว่างแค่ไหนก็จะมองไม่เห็น คนโบราณจึงใช้ดาวที่อยู่ตรงข้าม พอดาวรวงข้าวตกปุ๊บ ดวงอาทิตย์ก็จะสาดส่องขึ้นมาวันนั้นคือ “วันปีใหม่” หรือ “วันเถลิงศก” ซึ่งเราก็ถือว่าเป็นความพิเศษมากแล้ว จนได้รับการประสานงานว่าให้มาพิสูจน์เรื่องพระธาตุไร้เงา เราจึงยกทีมกันมาอีกครั้ง จนได้ข้อสรุปชัดเจนว่า พระธาตุนครศรีธรรมราชไร้เงาในวันที่ 11 เม.ย. ของทุกปี และในปีนี้เกิดขึ้นในเวลา 12.21 น. ดังกล่าว

ที่น่าแปลกใจคือบรรพบุรุษบรรพชนชาวนครศรีธรรมราช เขาเอาความรู้เรื่องฤกษ์เรื่องศาสตร์มาจากไหน คงไม่ใช่เอามาจากสุโขทัย เพราะมีหลักศิลาจารึกว่าสุโขทัยเอาไปจากนครศรีธรรมราช แล้วนครศรีธรรมราชเอามาจากที่ไหนเป็นต้นแบบ ปรากฏว่าเมื่อเราลองไล่ดูในพิกัดภูมิภาคใกล้ ๆ กันที่มีการวางศิลปะสถาปัตยกรรมแบบเดียวกัน และไปเจอที่เมืองอนุราชปุระ คือพระมหาเจดีย์ เจดีย์รุวันเวลิ หรือ มหาถูปา หรือ มหาถูปา หรือ สุวรรณมาลิกเจดีย์ เป็นเจดีย์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเมืองอนุราชปุระ
และมีอีกแห่งที่เหมือนกัน อยู่ที่เมืองโบโบนานุระ เมืองหลวงที่สองของประเทศศรีลังกา คือพระมหาธาตุเจดีย์เจดีย์กิริเวเหระ จะวางผังเหมือนกัน คือเอียงไปทางทิศเหนือนิด ๆ หมายถึงเอียงจากทิศตะวันออกไปทางทิศเหนือนิด ๆ เป็นการเอียงไปตามตำแหน่งดาวรวงข้าวตอนตก ศาสตร์ทั้งหมดมีระบุอยู่ในตำราคัมภีร์พระเวท เชื่อมโยงศรีลังกาและประเทศอินเดีย และพบว่าพระเจดีย์ในศรีลังกาก็ไร้เงาในวันที่ 11 เม.ย. เช่นกัน แต่จะช้ากว่าพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช 1.30 ชม. ในปีนี้พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช เกิดปรากฏการณ์ไร้เงาในเวลา 12.21 น. ที่ประเทศศรีลังกา เกิดเวลา 13.11 น.

ความพิเศษตรงนี้ พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช คงจะเป็นต้นแบบของมหาธาตุที่สุโขทัยและพระปฐมเจดีย์ จ.นครปฐม เพราะฉะนั้นองค์พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชสำคัญมากที่เราอยากเปิดให้เด็ก เยาวชนรุ่นต่อ ๆ ไป ให้เขาได้ร่วมกันรักษาพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช สืบต่อจากรุ่นเราต่อไป ให้ดำรงคงอยู่อย่างยาวนานที่สุด ในชีวิตหนึ่งของเรา ก็อยากจะมากราบสักการะพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชสักครั้งหนึ่ง.