เมื่อวันที่ 11 เม.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อกลางดึกที่ผ่านมา (10 เม.ย.) นางอรพิน รินาพร้าว ผู้เชี่ยวชาญและหัวหน้ากลุ่มวิจัยการศึกษาประวัติศาสตร์และมรดกทางดาราศาสตร์ (สดร.) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมคณะเกือบ 10 คน ได้เดินทางเข้าติดตั้งวัสดุอุปกรณ์ทางเทคโนโลยีและดาราศาสตร์ที่ฐานพระเวียนรอบองค์พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช เพื่อถ่ายภาพพระบรมธาตุเจดีย์ และดาวรวงข้าวในมุมต่างๆ เพื่อนำไปประเมิน วิจัยคำนวณและวิเคราะห์ และนำมาสู่การบรรยายอธิบายทางวิชาการยืนยันเรื่องพระธาตุไร้เงา บทสะท้อนความมหัศจรรย์ของพระมหาธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช

โดยผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และนางอรพิน รินาพร้าว จะร่วมบรรยายทางวิชาการอย่างเป็นทางการในวันที่ 12 เม.ย. 2568 ตั้งแต่เวลา 09.30 น. เป็นต้นไป โดยจะมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นายภาณุ อุทัยรัตน์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช และผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งประชาชนที่สนใจเข้าร่วมรับฟังจำนวนมาก

นางอรพิน รินาพร้าว กล่าวว่า ผอ.สดร. จะบรรยายอธิบายอย่างละเอียดในวันที่ 12 เม.ย. ณ ห้องประชุมศาลา 100 ปี วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร โดยจะอธิบายเรื่องการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์ในแต่ละวันในรอบปี ซึ่งจะมีอยู่วันหนึ่งที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนที่มาและเส้นโคจรมาตรงและตั้งฉากกับพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชพอดี ตรงกับวันที่ 11 เม.ย. ของทุกปี เมื่อดวงอาทิตย์ตั้งฉากกับองค์พระบรมธาตุเจดีย์จะเกิดปรากฏการณ์พระธาตุไร้เงาทันที

สดร. เคยศึกษาวิจัยและได้ข้อสรุปชัดเจนว่าพระธาตุนครศรีธรรมราชไร้เงาในวันที่ 11 เม.ย. ของทุกปี แต่ครั้งนี้พิเศษตรงกับวันเถลิงศกสงกรานต์ หรือ “วันรับเจ้าเมืองใหม่” ของชาวนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นผลจากการวางผังกับดาวรวงข้าว เหมือนพระมหาธาตุสุโขทัยและพระปฐมเจดีย์ โดยดาวรวงข้าวจะอยู่ตรงข้ามกับวันที่พระอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษ ซึ่งเป็น “วันปีใหม่” หรือ “วันเถลิงศก”

นางอรพิน กล่าวอีกว่า การศึกษาครั้งนี้ยังพบความเชื่อมโยงกับผังการสร้างพระมหาเจดีย์ในเมืองอนุราชปุระ ประเทศศรีลังกา ซึ่งอยู่ในละติจูดเดียวกันและจะเกิดปรากฏการณ์เดียวกันในวันเดียวกัน โดยผังการสร้างยังสอดคล้องกับตำราคัมภีร์พระเวทย์ ซึ่งเชื่อมโยงศรีลังกาและอินเดีย ความพิเศษนี้อาจเป็นต้นแบบของมหาธาตุที่สุโขทัยและพระปฐมเจดีย์

ผศ.ฉัตรชัย ศุกระกาญจน์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า นี่เป็นองค์ความรู้ใหม่ที่สมควรได้รับการบันทึกและเผยแพร่ในหลากหลายรูปแบบ โดยจะมีการจัดพิมพ์หนังสือและเผยแพร่ทางสื่อออนไลน์ เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ร่วมกันรักษาพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชสืบไป และขอเชิญชวนประชาชนที่สนใจเข้าร่วมรับฟังการบรรยายทางวิชาการในวันที่ 12 เม.ย. ณ ห้องประชุมศาลา 100 ปี วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร