เมื่อวันที่ 14 เม.ย. สืบเนื่องจากสถานการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในพื้นที่ กทม. ทีมข่าวเดลินิวส์ มีโอกาสสอบถาม ศ.ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย และอาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ถึงปัญหาที่น่ากังวลของการก่อสร้างและอาคารสูงว่า ภาพรวมในแง่ตัวอาคาร ถือว่าอาคารใน กทม. ส่วนใหญ่ มีความสามารถรองรับแผ่นดินไหวดีระดับหนึ่ง เพราะไม่เห็นอาคารถล่มในพื้นที่ นอกเหนืออาคารที่กำลังสร้างเพียง 1 หลังเท่านั้น ดังนั้น อาคารใน กทม. จึงยังมีสภาพการใช้งาน หรือว่าสภาพการต้านแผ่นดินไหวได้ในระดับที่ดีอยู่

อย่างไรก็ตาม ศ.ดร.อมร ตั้งข้อสังเกตน่าสนใจ จากการลงพื้นที่ตรวจสอบอาคารและลงไปดูรายละเอียดลึกๆ ก็พบมีความเสียหายในอาคารสูง โดยเฉพาะบริเวณผนังปล่องลิฟต์ หรือผนังปล่องบันไดในอาคาร 3-4 แห่ง ที่มีการเสียหายค่อนข้างจะรุนแรง เนื่องจากพบคอนกรีตกะเทาะหลุดออกมาจนเห็นเหล็กเสริม ส่วนเหล็กเสริมเองก็งอ ซึ่งเป็นความเสียหายในเชิงโครงสร้าง ต้องเสริมความแข็งแรงก่อนถึงจะเข้าไปใช้งานอาคารได้

ทั้งนี้ บังเอิญมาพ้องกับเหตุการณ์อาคารถล่มของ สตง. ที่เกิดการพังทลายตรงผนังปล่องลิฟต์เช่นเดียวกัน จุดนี้เลยทำให้มองไปในอนาคต แสดงว่าผนังปล่องลิฟต์ ซึ่งควรเป็นจุดแข็งของอาคารกลับพบความเสียหายมาก ซึ่งการก่อสร้างอาคารสูงในบ้านเรา อาคารสูงหลายหลังมีลักษณะเป็นรูปแบบคล้ายกัน คือ มีผนังปล่องลิฟต์หรือมีผนังปล่องบันได มีเสาเป็นโครงกระดูกหลัก มีพื้นไร้คาน

ดังนั้น จึงสะท้อนให้เห็นว่าต้องกลับมาดูความแข็งแรงของผนังปล่องลิฟต์ เรียกว่าต้องทบทวนความแข็งแรงดูอีกครั้งว่า ถ้าเกิดแผ่นดินไหวครั้งหน้า จะเกิดเหตุการณ์เป็นอย่างไรบ้าง

“ต้องบอกว่าแผ่นดินไหวคราวนี้ ถือเป็นสัญญาณแจ้งเหตุล่วงหน้าว่าอาคารสูงมีปัญหาที่ปล่องลิฟต์ได้ มีความแตกร้าวเสียหายได้ อาคารบางหลังถล่มได้ และเรายังมีปล่องลิฟต์อยู่กับอาคารสูงหลายหลังใน กทม. หากในวันข้างหน้าแผ่นดินไหวรุนแรงกว่านี้ ก็อาจทำให้เกิดผลรุนแรงกว่านี้ได้ เป็นเรื่องที่เราต้องใส่ใจกับปัญหานี้”

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามว่าภาพรวมตัวโครงสร้างอาคารใน กทม. ไม่มีปัญหา แต่สิ่งที่เป็นปัญหาในตอนนี้ คือ ปล่องลิฟต์ ใช่หรือไม่ ศ.ดร.อมร ระบุ ในส่วนของโครงสร้างอาคารมีปัญหาบ้าง แต่มีสัดส่วนที่น้อย แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นกลับไปเจอที่ปล่องลิฟต์เกือบทั้งหมด จุดที่บอกว่ามีปัญหาทางโครงสร้างนั่นก็คือ ไปเจอที่ปล่องลิฟต์ โดยปัญหาที่ตอนนี้จะเป็นอาคารสูงที่อยู่ในพื้นที่ กทม. ยังไม่เจอในพื้นที่ปริมณฑล.