“พีเพิลส์ เดลี” รายงานว่า ที่ห้องปฏิบัติการของมหาวิทยาลัยซีหู ในมณฑลเจ้อเจียง ทางตะวันออกของจีน ทีมนักวิจัยหนุ่มสาวกำลังปฏิวัติการสำรวจใต้ทะเลด้วยแรงบันดาลใจจาก “ปลากระเบน”
“ซี กูรู 2” (Sea Guru II) หุ่นยนต์ใต้น้ำ ซึ่งมีขนาดความยาวและความกว้างเท่ากันที่ 3 เมตร สูง 1.5 เมตร ประสบความสำเร็จในการทดสอบดำน้ำลึก 2,000 เมตร ในทะเลจีนใต้ โดยใช้เวลาเพียง 2 ชั่วโมงในการปฏิบัติงานและเคลื่อนไหวอย่างคล่องแคล่วใกล้พื้นทะเล
ทีมงานนักวิจัยกล่าวว่า “การออกแบบเลียนแบบปลากระเบนช่วยแก้ปัญหาการลอยตัว และความมั่นคงของหุ่นยนต์ใต้น้ำแบบเดิม” ขณะเดียวกัน โครงสร้างดังกล่าวยังลดแรงต้านน้ำ ลดเสียงรบกวน และก่อให้เกิดกระแสน้ำวนน้อยลง
อนึ่ง การที่ หุ่นยนต์ ซี กูรู 1 ซึ่งเป็นรุ่นแรก ประสบความสำเร็จกับการดำน้ำที่ระดับความลึก 2,000 เมตร เมื่อปี 2566 ทีมนักวิจัยจึงเลือกเพิ่มขีดความสามารถด้านการปฏิบัติงาน แทนการมุ่งเป้าไปที่การเพิ่มระดับความลึกในการดำน้ำของหุ่นยนต์
จุดเด่นของ ซี กูรู 2 ได้แก่ ระบบควบคุมอัจฉริยะ สามารถปรับความลึก มุม และทิศทางได้แบบเรียลไทม์ และทำงานได้ในสภาพแวดล้อมใต้น้ำที่ซับซ้อน
นอกจากนี้ ซี กูรู 2 ยังมี “กระเป๋าหน้าท้อง” ที่สามารถพกพาอุปกรณ์ตั้งแต่แขนกลไปจนถึงโดรนขนาดเล็ก หรือ “ลูกปลา” ซึ่งทำให้ซี กูรู 2 เหมาะสำหรับการสำรวจระบบนิเวศ การทำเหมืองใต้ท้องทะเล และการซ่อมแซมโครงสร้างพื้นฐาน.
ข้อมูล-ภาพ : People’s Daily