กรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ภายใต้การอำนวยการของ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้อนุมัติให้ทำการสอบสวนกรณีความผิดฐานฟอกเงินของบุคคลหรือคณะบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (สว.) จากนั้นมีการลงพื้นที่สืบสวนสอบสวน ขยายผล รวบรวมพยานหลักฐาน กระทั่งต่อมา ร.ต.อ.ชนินทร์ น้อยเล็ก รองเลขาธิการ กกต. ในฐานะประธานกรรมการสืบสวนและไต่สวน ได้เซ็นชื่อลงนามในหนังสือเชิญสมาชิกวุฒิสภา 55 ราย รับทราบข้อกล่าวหา ในกรุงเทพฯ 6 ราย ขณะที่ 49 สว. ซึ่งมีที่อยู่อาศัยในพื้นที่ต่างจังหวัด ได้มี กกต.จังหวัด ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการนำหมายเรียกไปแจ้งติดเรียบร้อยแล้ว ตามที่ได้เสนอข่าวมาอย่างต่อเนื่องแล้วนั้น
เปิดรายชื่อ ’54สว.’ ลอตแรกโดนหมายเรียกเข้ามาแจงแก้ข้อกล่าวหาคดี ‘ฮั้วสว.’
ความคืบหน้า เมื่อวันที่ 12 พ.ค. “ผู้สื่อข่าวเดลินิวส์” ได้รับการเปิดเผยจากคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษที่ 24/2568 กรณี ความผิดฐานฟอกเงินของบุคคลหรือคณะบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (สว.) รวมถึงผู้ใดเป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นอั้งยี่ ว่า ภายหลังจากที่ดีเอสไอได้ทำการสืบสวนสอบสวนเรื่องเส้นทางการเงินของบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และพิจารณาธุรกรรม กิจกรรมการเงิน ในฐานความผิดอาญาที่ดีเอสไอรับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็นฟอกเงิน อั้งยี่ ปัจจุบันนี้ พนักงานสอบสวนพบว่ามีเส้นทางการเงินและพฤติการณ์ของการกระทำความผิด มีลักษณะเป็นคณะบุคคลที่มีการตระเตรียมการเพื่อกระทำผิดกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 209 “ผู้ใดเป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นอั้งยี่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกิน 140,000 บาท” ซึ่งคดีฟอกเงิน อั้งยี่นี้ ดีเอสไอจะดำเนินการตรวจสอบคู่ขนานไปกับกฎหมายการเลือกตั้ง โดยคณะอนุกรรมการสืบสวนและไต่สวน ที่ได้มีการออกหมายเรียก 55 สว. เชิญรับทราบข้อหา พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561
คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ เผยอีกว่า สำหรับคดีฟอกเงิน อั้งยี่ ค่อนข้างมีความคืบหน้าพอสมควร โดยเฉพาะมีการสอบสวนพยานปากสำคัญรายใหญ่ที่ให้ข้อมูลเรื่องขบวนการจัดฮั้ว จัดตั้งคณะบุคคล หรือแม้กระทั่งกลุ่มชาวบ้านตามพื้นที่ท้องถิ่นจังหวัดต่างๆ ที่เข้าไปร่วมในขบวนการ ซึ่งคำให้การของพยานค่อนข้างบ่งบอกถึงการแบ่งหน้าที่กันทำ ความเกี่ยวข้อง บทบาทของกลุ่มตนเองในขบวนการ หรือคนที่เข้ามาหา มาจูงใจ ชักชวน เชิญชวนให้สมัคร ให้กาหมายเลขตามโพย เป็นต้น อย่างไรก็ตาม จากถ้อยคำให้การและพฤติการณ์ต่าง ๆ ของขบวนการจัดฮั้วเหล่านี้ ดีเอสไอพบข้อเท็จจริงว่า ส่วนใหญ่ไม่ใช่การถูกหลอกให้โหวตหรือพลีชีพ หรือเชื่อไปว่าเมื่อกาหมายเลขผู้สมัครตามโพยแล้ว ตนเองก็จะได้รับการเลือกเช่นเดียวกัน แต่เพราะพยานหลักฐานมันมีเรื่องเงินมาเกี่ยวข้อง มีการตกลงกันเกิดขึ้น มีการใช้เงินเพื่อให้เลือกลงคะแนน เป็นการใช้เงินมาจูงใจ มีการให้ผลประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่น ซึ่งมันผิดกฎหมาย
คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ เผยต่อว่า ถ้าหากพยานหลักฐานประจักษ์ชัดถึงเส้นทางการเงินที่เชื่อมโยงกับบรรดาสมาชิกวุฒิสภา (สว.) รายใด ดีเอสไอก็จะต้องพิจารณาแจ้งข้อกล่าวหาแน่นอน ส่วนถ้า สว. จะมีเอกสิทธิ์คุ้มครองตาม “เอกสิทธิ์และความคุ้มกันของสมาชิกรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย“ ก็ว่ากันไปตามหมายคุ้มครอง แต่ดีเอสไอมีหน้าที่บังคับใช้กฎหมายแจ้งข้อกล่าวหาตามที่หลักฐานปรากฏ และแม้ผู้ใดจะให้การอ้าง หรือปฏิเสธว่าตนจะมีความผิดฐานฟอกเงินได้อย่างไร ในเมื่อไม่เคยรับโอนเงินจากกลุ่มคนในรายงานสืบสวนสอบสวนของดีเอสไอนั้น ส่วนนี้ดีเอสไอมีการตรวจสอบตามพฤติการณ์และหลักฐานวิทยาศาสตร์ อาทิ การมีไว้ การครอบครอง การได้มา การใช้ การเปลี่ยนแปลงสภาพทรัพย์สิน ดังนั้น ถ้าบุคคลใดไม่มีพฤติการณ์ดังกล่าว หรือไปเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินในคดีมูลฐาน ก็จะไม่มีความผิดตามกฎหมายฟอกเงิน ซึ่งมันเป็นเรื่องการตรวจสอบทางนิติกรรม ถ้านิติกรรมไม่ปกติก็ผิดฟอกเงิน
คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ เผยด้วยว่า หากบุคคลใดถูกแจ้งข้อหาฟอกเงิน ก็มีหน้าที่ต้องมาชี้แจงกับพนักงานสอบสวนว่าเงินรายการดังกล่าวที่เข้ามาในบัญชีในห้วงเวลานั้น คือ เงินค่าอะไร ซึ่งผู้ถูกกล่าวหามีสิทธิที่จะชี้แจงอธิบายให้สิ้นสงสัย ยืนยันว่า ดีเอสไอทำการสอบสวนโดยให้ความเป็นธรรม และยึดหลักการทำงานด้วยพยานหลักฐานทั้งสิ้น
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวได้รับรายงานเพิ่มเติมว่า คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษที่ 24/2568 กรณี ความผิดฐานฟอกเงินของบุคคลหรือคณะบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (สว.) รวมถึงผู้ใดเป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นอั้งยี่ โดยมี พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน และมีเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ ร่วมเป็นพนักงานสอบสวนรวมทั้งสิ้น 41 ราย จะมีการประชุมพิจารณาพฤติการณ์บุคคลซึ่งกระทำผิดฐานฟอกเงิน-อั้งยี่ จากกรณีคดีการฮั้ว สว.2567 โดยจะเริ่มทยอยออกหมายเรียกผู้ต้องหาให้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาภายในสิ้นเดือน พ.ค.นี้ ซึ่งอาจมีทั้งสมาชิกวุฒิสภา และกลุ่มขบวนการจัดฮั้วระดับประเทศ
ขณะที่ รายงานข่าวจาก ปปง. เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวเดลินิวส์ ว่า เนื่องด้วย ปปง. ถือเป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่ร่วมบูรณาการการทำงานกับ กกต. และดีเอสไอในคดีฮั้ว สว.2567 ไม่ว่าจะเป็นฐานความผิดตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 และความผิดอาญาในความรับผิดชอบของดีเอสไออย่างการฟอกเงินและอั้งยี่นั้น หากพิจารณาจากความผิดมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พบว่า ในลำดับที่ 10 “ความผิดเกี่ยวกับการเป็นสมาชิกอั้งยี่ตามประมวลกฎหมายอาญา หรือการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมที่มีกฎหมายกำหนดเป็นความผิด“ และลำดับที่ 23 “ความผิดเกี่ยวกับการกระทำการเพื่อจูงใจให้ผู้อื่นสมัครเข้ารับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา หรือถอนการสมัคร หรือกระทำการใดๆ อันไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้ผู้นั้นหมดสิทธิที่จะเลือกหรือได้รับเลือก หรือเพื่อจูงใจให้ผู้สมัครหรือผู้มีสิทธิเลือกลงคะแนน หรือไม่ลงคะแนนให้แก่ผู้ใด ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา“ ถือเป็นความผิดมูลฐานตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542
รายงานข่าวจาก ปปง. เผยอีกว่า การจะดำเนินความผิดตามกฎหมายฟอกเงินต่อบุคคลใด จะต้องเป็นการกระทำความผิดมูลฐานแล้วได้มาซึ่งทรัพย์สินต่างๆ หรือกระทำความผิดแล้วได้มาซึ่งทรัพย์สิน เช่น กระทำอั้งยี่ (สมคบ ตกลงกันกระทำความผิด กระทำการโดยมิชอบด้วยกฎหมาย) แล้วได้มาซึ่งทรัพย์สิน เป็นต้น หรือในกรณีการจะออกคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์บุคคลใดที่กระทำผิดฟอกเงิน จะต้องปรากฏความผิดมูลฐานชัดเจนจากหน่วยงานที่ทำการสอบสวนก่อน ไม่ว่าจะเป็น กกต. (โดยคำสั่งชี้ขาดจากคณะกรรมการการเลือกตั้งชุดใหญ่) หรือดีเอสไอ ซึ่งเมื่อปรากฏความผิดมูลฐานตามกฎหมายฟอกเงินแล้ว ทางหน่วยงานที่ทำการสอบสวนก็จะมีการรวบรวมรายการทรัพย์สินต่าง ๆ ที่เชื่อว่าได้มาจากการกระทำผิดฟอกเงิน นำส่งให้ ปปง. โดยคณะกรรมการธุรกรรมได้พิจารณาใช้ดุลพินิจว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิด เพื่อออกคำสั่งตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นคำสั่งอายัดทรัพย์สินชั่วคราว หรือคำสั่งยึดทรัพย์สินก็ตาม ซึ่งในความผิดตามกฎหมาย พ.ร.ป.สว.61 และอั้งยี่-ฟอกเงิน ไม่ปรากฏผู้เสียหายเหมือนคดีอาญาเว็บพนันออนไลน์ หรือคดีแชร์ลูกโซ่ จึงทำให้ทรัพย์สินที่ ปปง. ต้องยึดและอายัดทรัพย์นั้น จะถูกสรุปสำนวนส่งพนักงานอัยการเพื่อเสนอขอศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์ตกเป็นของแผ่นดิน อย่างไรก็ดี ระหว่างกระบวนการอายัดทรัพย์สินชั่วคราวนั้น เจ้าของทรัพย์สามารถเข้าแสดงชี้แจงการเป็นเจ้าของทรัพย์ว่าได้มาโดยสุจริต ไม่เกี่ยวกับการฟอกเงินได้