สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 12 พ.ค. ว่า ตามที่สำนักข่าวเอพีเปิดเผยว่า ทรัมป์มีแผนประกาศเปลี่ยนชื่ออ่าวดังกล่าว ระหว่างการเดินทางเยือนประเทศอาหรับหลายแห่งในสัปดาห์นี้ หลังเสนอแนวคิดดังกล่าวมาหลายปีแล้ว

ชื่อของ “อ่าวเปอร์เซีย” เป็นที่เรียกขานมาตั้งแต่ 550 ปีก่อนคริสตกาล เมื่อราชวงศ์เปอร์เซียของพระเจ้าไซรัสมหาราช และปัจจุบันอยู่ที่ประเทศ “อิหร่าน”

“รัฐบาลอิหร่าน” นับตั้งแต่ยุคก่อนการปฏิวัติพระเจ้าชาห์ ได้ปกป้องอ่าวเปอร์เซียอย่างแข็งขัน และชาวอิหร่านยกย่องให้อ่าวดังกล่าวเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ และวัฒนธรรมของตน

นายตูราจ ดารีเออี นักประวัติศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาด้านเปอร์เซีย มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เออร์ไวน์ ของสหรัฐ กล่าวว่า แนวคิดของทรัมป์ก้าวข้ามความขัดแย้งการเมือง การแบ่งแยกทางศาสนา และอุดมการณ์

ชื่อดังกล่าวเกี่ยวข้องกับประเทศ ประวัติศาสตร์ และกระทบจิตใจของผู้คน เนื่องจากตั้งแต่สมัยโบราณ ชาวอิหร่านเรียกดินแดนของตนว่า “ab o khakh” ซึ่งหมายถึง “น้ำและดิน” โดยที่แหล่งน้ำสองแห่งจากอ่าวเปอร์เซีย ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ และทะเลแคสเปียน ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือ เชื่อมโยงกันอย่างลึกซึ้งในความเป็นชาติ

แม้แต่เจ้าชายเรซา ปาห์ลาวี พระโอรสของอดีตพระเจ้าชาห์แห่งอิหร่าน ซึ่งลี้ภัยอยู่ในต่างประเทศ และมักออกมาสนับสนุนนโยบายหลายอย่างของทรัมป์ ยังทรงโพสต์โซเชียลมีเดียว่า การตัดสินใจบิดเบือนประวัติศาสตร์ของผู้นำสหรัฐ “หากเป็นเรื่องจริง” ถือเป็นการดูหมิ่นประชาชนอิหร่าน และอารยธรรมอันยิ่งใหญ่ของเปอร์เซีย

อ่าวเปอร์เซียถูกกล่าวถึงในประวัติศาสตร์ตั้งแต่สมัยเปอร์เซียโบราณ ไปจนถึงอาณานิคมของกรีกและสหราชอาณาจักร ขณะที่สหประชาชาติ (ยูเอ็น) ได้กล่าวถึงในเอกสาร ฉบับปี 2549 หลังคณะทำงานพบเอกสารทางประวัติศาสตร์ ที่เกี่ยวข้องกับคำนี้อย่างเป็นเอกฉันท์ ซึ่งคิดขึ้นเมื่อ 500 ปีก่อนคริสตกาลในสมัยพระเจ้าดาริอุสที่ 3

นายเซย์เยด โฮสเซน มูซาเวียน อดีตนักการทูตอาวุโสของอิหร่าน และหนึ่งในคณะเจรจานิวเคลียร์ของอิหร่าน เมื่อปี 2558 เตือนว่า ข้อเสนอของทรัมป์อาจกระทบต่อการเจรจายกเลิกการคว่ำบาตรอิหร่าน และอาจเพิ่มความไม่พอใจต่อกลุ่มหัวรุนแรง.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES