แหล่งข่าวจาก กสทช. เปิดเผยถึงกรณีข่าว บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ได้เสนอเป็นพันธมิตรทางธุรกิจในกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ และกิจการบรอดแบนด์กับ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที ว่า กสทช. ได้มีประกาศที่บังคับใช้กับผู้ที่ได้รับใบอนุญาตจากสำนักงาน กสทช. ที่รองรับไว้หมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการโอนคลื่นความถี่ การซื้อขายสินทรัพย์ในธุรกิจ และการบริหารจัดการดูแลลูกค้าหรือผู้บริโภค ซึ่งหากมีการดำเนินการใดๆ ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ ต้องมีการรายงานต่อ คณะกรรมการ (บอร์ด) กสทช. ให้รับทราบ หรือต้องมีมติเห็นชอบ ขึ้นอยู่กับว่าขนาดของการเจรจาของดีลนั้นๆ ส่งผลกระทบกับธุรกิจ ผู้บริโภค และตลาดโทรคมนาคมมากน้อยเพียงใด

“ในส่วนของลูกค้าที่ใช้บริการมือถือ และอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ จะทำการซื้อขายกันไม่ได้ ไม่เคยเกิดกรณีการซื้อขายลูกค้ามาก่อน เพราะอยู่บนพื้นฐานของสัญญาที่ลูกค้าได้ทำไว้กับบริษัท การจะบอกเลิกสัญญา หรือให้ย้ายไปใช้บริการของอีกบริษัท ต้องได้รับความยินยอมจากลูกค้า จะบังคับให้ย้าย หรือโอนย้ายโดยไม่แจ้งลูกค้าไม่ได้ แต่หากได้รับความยินยอมหรือลูกค้าสมัครใจก็สามารถทำได้ เหมือนกรณีต้องการย้ายค่ายเบอร์เดิม”

แหล่งข่าวจาก กสทช. กล่าวต่อว่า ส่วนในกรณีการเป็นพันธมิตรธุรกิจเพื่อเช่าใช้โครงข่ายคลื่นความถี่ และโครงข่ายบรอดแบนด์นั้น สามารถทำได้ตามกระบวนการ แต่ต้องมีการนำเสนอเข้าบอร์ด กสทช. เพื่อทราบหรือลงมติเห็นชอบ ก็แล้วแต่กรณีผลกระทบต่างๆ อย่างไรก็ตามขณะนี้ทาง เอ็นที กำลังหมดอายุใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่ 850 เมกะเฮิรตซ์ 1500 เมกะเฮิรตซ์ 2100 เมกะเฮิรตซ์ และ 2300 เมกะเฮิรตซ์ ในเดือน ส.ค. นี้ คงเหลือแต่ความคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ ก็ต้องพิจารณาเองว่าจะสามารถนำไปประกอบธุรกิจได้หรือไม่ หลังประมูลคลื่นไปแล้ว และหากโอนคลื่นให้ผู้อื่นเช่าใช้ ก็ต้องตอบสังคมให้ได้ว่า เข้าร่วมประมูลคลื่นไปทำไม เมื่อประกอบธุรกิจไม่ได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ได้มีกระแสข่าว ทางผู้บริหารเอไอเอส ได้ทำหนังสือถึงผู้บริหาร เอ็นที ขอซื้อลูกค้ามือถือ และลูกค้าบรอดแบนด์ทั้งหมดจากเอ็นที แต่ต่อมาทางเอไอเอส ได้ทำหนังสือแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า ขณะนี้ยังไม่มีข้อตกลงหรือความคืบหน้าใด ๆ โดยหากมีพัฒนาการที่สำคัญ บริษัทจะแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยต่อไป