เมื่อวันที่ 21 พ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันที่ 19 พ.ค. ที่ผ่านมา นางชนากานต์ ธีรเวชพลกุล ประธานศาลฎีกา เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการตุลาการ (ก.ต.) ครั้งที่ 13/2568 มีวาระที่น่าสนใจคือการพิจารณาผลการสอบสวนวินัยลงโทษผู้พิพากษาจำนวน 3 ราย
โดยรายแรก ก.ต. ได้พิจารณารายงานผลการสอบสวนข้าราชการตุลาการ 1 ราย กรณีมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมไม่สุภาพ ไม่สำรวมกิริยามารยาท และเข้าไปก้าวก่ายแทรกแชงการพิจารณาพิพากษาคดีของข้าราชการตุลาการอื่น อันเป็นการไม่ถือและปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนและประเพณีปฏิบัติของราชการ และจริยธธรรมของข้าราชการตุลาการกรณีเป็นความผิดวินัยร้ายแรง เห็นควรให้ออกจากราชการ
รายที่สอง พิจารณารายงานผลการสอบสวนข้าราชการตุลาการ 1 ราย กรณีเป็นผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน ทำคำพิพากษาโดยกล่าวถึงบุคคลภายนอกที่ไม่ไม่ใช่คู่ความ และไม่ได้ถูกฟ้องเป็นจำเลยว่ามิได้กระทำความผิดโดยไม่ปรึกษาและแจ้งให้องค์คณะและผู้บริหารทราบ เป็นเหตุให้มีการนำคำคำพิพากษาส่วนดังกล่าวไปไช้ประโยชน์โดยมิชอบ อันเป็นความผิดวินัยร้ายแรง เห็นควรให้ออกจากราชการ
รายที่สาม พิจารณารายงานผลการสอบสวนข้าราชการตุลาการ 1 ราย กรณีมีพฤติการณ์เป็นที่สงสัยว่ากระทำผิดวินัย ร่วมรู้เห็นเรื่องการขอแลกเปลี่ยนเวร และร่วมขบวนการเกี่ยวกับการยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งปล่อยชั่วคราวโดยมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวขัดต่อกฎหมายอันเป็นดุลพินิจที่ไม่ชอบ และไม่ถือปฏิบัติตามระเบียบแบบแผน และประเพณีปฏิบัติของราชการ และจริยธรรรมของข้าราชการตุลาการ เป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง เห็นควรไล่ออกจากราชการ และมีมติเอกฉันท์ให้ส่งเรื่องแก่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อดำเนินการต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรายแรกนั้น เป็นเหตุการณ์สมัยที่ผู้พิพากษาที่โดนลงโทษ เป็นอดีตรองอธิบดีในศาลขนาดใหญ่ในกรุงเทพฯ ที่เคยถูกร้องให้สอบสวนทางวินัย กรณีแทรกแซงเพิกถอนหมายจับ สว.คนดัง
จากมูลเหตุ เดิมคดีนี้เมื่อวันที่ 3 ต.ค. 65 สารวัตรสืบสวน สน.แห่งหนึ่ง ได้เดินทางไปยื่นคำร้องต่อศาลอาญาเพื่อขอออกหมายจับ อดีต สว. ในข้อหาสมคบคิดกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและฟอกเงิน โดยมีพยานหลักฐานจากสืบสวนและการสอบปากคำผู้ต้องหาและเอกสารที่เกี่ยวข้อง เชื่อมโยงว่ามีการทำธุรกรรมผ่านบริษัทที่ สว. เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง มีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการค้ายาเสพติดและฟอกเงินของนักธุรกิจชาวเมียนมา
แต่ในวันเดียวกันกับที่ศาลอนุมัติหมายจับ สารวัตรสืบสวนคนดังกล่าวได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่ศาล ให้นำหมายจับและเอกสารที่เกี่ยวข้องไปพบรองอธิบดีผู้พิพากษาคนดังกล่าว ซึ่งภายหลังมีคำสั่งให้เพิกถอนหมายจับ โดยอ้างว่า สว.คนดัง เป็น “บุคคลสำคัญ” และไม่มีพฤติการณ์หลบหนี
ต่อมาสารวัตรสืบสวนคนดังกล่าว จึงได้ร้องเรียนต่อคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) รวมถึง ยังมี สส. ยังได้ยื่นหนังสือถึง ก.ต. เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2566 เพื่อขอให้ตรวจสอบการเพิกถอนหมายจับดังกล่าว จน ก.ต. มีการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง เสนอมายัง อนุกรรมการตุลาการ (อ.ก.ต.) กลั่นกรองทำความเห็นเสนอ ก.ต.
โดยเดิม อ.ก.ต. มีมติเห็นควรว่า ผิดวินัยไม่ร้ายแรงเสนอไปยัง ก.ต. ให้พิจารณาลดขั้นเงินเดือน 2 ปี แต่ ก.ต. พิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นเรื่องการแทรกแซงและเป็นวินัยร้ายแรง จนสุดท้ายมีมติตั้งกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง
โดยมีรายงานว่า เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2567 ภายหลัง ก.ต. ตั้งกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง ก็ได้ประชุมพิจารณาว่าจะสั่งพักราชการผู้พิพากษารายดังกล่าวหรือไม่ และ ก.ต. มีมติ 8 ต่อ 7 เสียง ไม่สั่งพักราชการรองอธิบดีผู้พิพากษา
จนล่าสุด ก.ต. ได้มีมติให้ลงโทษให้ออกผู้พิพากษาระดับรองอธิบดีศาล เนื่องจากมีส่วนเกี่ยวข้องในการแทรกแซงการถอนหมายจับ สว.คนดัง ในคดีฟอกเงินและยาเสพติด
แต่อย่างไรก็ตามในคดีอาญา เมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2567 ศาลอาญาได้พิพากษายกฟ้อง นักธุรกิจชาวเมียนมา และพวก รวม 5 คน รวมถึงลูกเขยของ สว. ในคดีสมคบค้ายาเสพติดและฟอกเงิน โดยศาลชี้ว่าพยานหลักฐานของโจทก์ไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะรับฟังได้ว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องทุกข้อหา และพยานหลักฐานฝ่ายจำเลยสามารถหักล้างได้ทั้งหมด แต่ในส่วนคดีของ สว. ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล โดยอัยการได้ยื่นฟ้องใน 6 ข้อหา ได้แก่ ฟอกเงินและสมคบค้ายาเสพติด ซึ่ง สว.คนดังให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา
สำหรับรายที่สอง ผู้พิพากษาที่โดนลงโทษ เป็นผู้พิพากษารุ่นเดียวกับคนแรก ซึ่งเป็นคดีที่มีการทำคำพิพากษาเกี่ยวพันกับคดีค้ามนุษย์อาบอบนวด วิคตอเรียซีเครท เอื้อประโยชน์ให้เสี่ยกำพลและครอบครัว นำไปร้องขอความเป็นธรรมจนอัยการสั่งไม่ฟ้องลูกเมีย
ซึ่งในช่วงปี 2566 นายชูวิทย์ กมลวิษฎ์ อดีต สส. และเจ้าของอาบอบนวดชื่อดัง เดินทางมายื่นหนังสือร้องเรียนขอให้ตรวจสอบคำสั่งไม่ฟ้อง นายธนพลและนางนิภา วิระเทพสุภรณ์ ลูกและภรรยาของนายกำพล ทำให้ความปรากฏ จนมีการเสนอเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของ ก.ต.
เรื่องเดิมมีอยู่ว่า รองอัยการสูงสุดในสมัย นายเข็มชัย ชุติวงศ์ เป็นอัยการสูงสุด มีการสั่งตามร้องขอความเป็นธรรมของกลุ่มผู้ต้องหานายกำพลและลูกเมีย ซึ่งรอง อสส.คนนั้น พิจารณาแล้วเห็นด้วยกับคำร้องขอความเป็นธรรมว่า เดิมก่อนหน้านี้ทางพนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้อง นายกำพล ภรรยา ลูก และลูกน้องของนายกำพล แต่ในส่วนนายกำพล ภรรยาและลูก หลบหนีออกนอกประเทศ
ทางอัยการจึงได้ตัวฟ้องแค่เฉพาะลูกน้อง ซึ่งในการทำคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ในคดีที่ลูกน้องนายกำพลถูกอัยการฟ้อง ผู้พิพากษาท่านนี้มีการทำคำพิพากษาไปในส่วนพฤติการณ์ของนายกำพลและนางนิภาภรรยาว่าไม่มีความผิด โดยระบุว่านางนิภา เป็นแค่คนคุมบัญชี ไม่ได้เป็นคนคัดเลือกเด็กเข้าไปในตู้ จึงไม่ทราบว่าเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ในส่วนนายกำพลเป็นเจ้าของ ไม่ได้เป็นคนคัดเด็กเอง นานๆ จะเข้ามาสถานที่
ซึ่งคำพิพากษาดังกล่าวเป็นคำพิพากษาที่พาดพิงเลยไปถึงจำเลยที่อัยการสั่งฟ้องไว้แล้ว แต่ยังไม่ได้เอาตัวมาฟ้อง
ทางฝั่งนายกำพลและภรรยา จึงใช้โอกาสนี้ร้องขอความเป็นธรรมว่ามีพยานเบิกความ จนศาลพิพากษาแล้วว่าไม่ได้กระทำผิดจนเป็นเป็นเหตุให้มีการเปลี่ยนแปลงคำสั่งฟ้องโดย รอง อสส.คนดังกล่าว เป็นมีคำสั่งไม่ฟ้องนายธนพลและนางนิภา ซึ่งเป็นภรรยาและลูกของนายกำพล แต่ในส่วนของนายกำพล ยังยืนคำสั่งฟ้องเดิมของอัยการสูงสุด
จนต่อมานายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ เอามาเปิดโปงร้องต่ออัยการสูงสุดจนความปรากฏต่อสาธารณชน และเมื่อ ก.ต. มีการหยิบยกขึ้นมาพิจารณา โดยตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง และตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงตามลำดับเสนอ อ.ก.ต. กลั่นกรองไปยัง ก.ต. พิจารณาแล้วเห็นตรงกันว่าพฤติการณ์ผิดวินัยร้ายแรง จึงลงโทษให้ออกจากราชการ
สำหรับรายที่สาม เป็นผู้พิพากษาระดับสูงในศาลอุทธรณ์ ที่เกี่ยวข้องกับการมีคำสั่งประกันขัดต่อกฎหมายโดยใช้ดุลพินิจไม่ชอบใน 3 คดี โดยคดีแรกเป็นเรื่องประกันตัวเกี่ยวกับคดีกลุ่มของ นายชัยณัฐร์ กรณ์ชายานันท์ หรือ “ตู้ห่าว” กับพวก ที่เกี่ยวข้องกับองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ยาเสพติด และฟอกเงิน
ส่วนคดีที่ 2-3 เป็นเรื่องการให้ประกันตัวคดีเว็บพนัน โดยพฤติการณ์มีการนัดแนะกับผู้จ่ายสำนวนและแลกเปลี่ยนเวรเพื่อไปสั่งประกัน โดยมีความเชื่อมโยงกับผู้พิพากษาในศาลอุทธรณ์ด้วยกันที่ฆ่าตัวตายเมื่อช่วงปี 2566
โดยจากการสอบสวนพบว่ามีเส้นทางการเงินเข้าบัญชี 5 บัญชีของผู้พิากษาศาลอุทธรณ์รายนี้ 4 ล้านกว่าบาท โดยเป็นการทยอยโอนเข้าบัญชีหลักแสนบาทในช่วง 2 ปี ซึ่งเจ้าตัวชี้แจงได้ไม่สมเหตุสมผล โดยคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง คณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง อ.ก.ต. และ ก.ต. พิจารณาแล้วเห็นว่าผิดวินัยร้ายแรง จึงลงโทษไล่ออกจากราชการ และส่ง ป.ป.ช. ดำเนินคดีอาญา เนื่องจากเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการประกันตัวและอาจจะมีผลประโยชน์ตามกฎหมาย จะต้องส่ง ป.ป.ช. พิจารณาสอบสวนตามขั้นตอนต่อไป
สำหรับที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าวันเดียวกันมีการประชุมเกี่ยวกับการลงโทษวินัยผู้พิพากษาถึง 3 ราย เนื่องจาก ที่ประชุม ก.ต. มีการพิจารณาวาระอื่นเสร็จสิ้น นางชนากานต์ จึงได้บรรจุวาระทั้งสามเรื่องนี้ต่อเลย ถือเป็นเรื่องปกติในการบริหารงาน ก.ต. ที่มีปริมาณมาก.