เกาะภูเขาไฟขนาดเล็กที่ชื่อว่า ‘ลอร์ดฮาว’ ซึ่งอยู่ทางชายฝั่งตะวันออกของออสเตรเลีย เป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ราว 500 คน และนกทะเลสายพันธุ์จมูกหลอดหางสั้นกว่า 44,000 ตัว เกาะแห่งนี้เป็นหนึ่งในสถานที่สุดท้าย ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากขยะพลาสติก แต่บรรดานักวิทยาศาสตร์ชาวออสเตรเลียต้องตกตะลึง เมื่อพวกเขาค้นพบสิ่งที่ตรงกันข้าม
ทีมวิจัยพบว่า ในร่างของนกทะเลบนเกาะลอร์ดฮาวแห่งนี้ เต็มไปด้วยพลาสติกจำนวนมาก จนกระเพาะเล็กๆ ของพวกมันจะส่งเสียงกรอบแกรบของชิ้นส่วนพลาสติกที่กระทบกัน เมื่อโดนกดเพียงเบาๆ ตรงช่องท้อง
เมื่อเดือนที่แล้ว ทีมวิจัยได้นำซากของนกจมูกหลอดหางสั้นตัวหนึ่งมาชันสูตรผ่าศพ และพบว่าน้ำหนักตัวของนกเกือบหนึ่งในห้า เป็นน้ำหนักของเศษพลาสติกที่อยู่ในตัวมัน
ก่อนหน้านั้น มีการพบชิ้นส่วนพลาสติกในนกตัวหนึ่ง เป็นจำนวนมากที่สุดคือ 403 ชิ้น ในปี 2567 แต่สถิติดังกล่าวถูกทำลายลงไปในครั้งนี้

“ฉันเสียใจที่ต้องบอกว่าเมื่อวานนี้ เราทำลายสถิติโดยสิ้นเชิง และสถิติใหม่ของเราคือ ลูกนกทะเลอายุ 80 วัน มีพลาสติกมากถึง 778 ชิ้น ในตัวนก…ในมุมหนึ่งของโลกที่บริสุทธิ์ที่สุด” ดร.เจนนิเฟอร์ เลเวอร์ส ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับนกบนเกาะลอร์ดฮาว มาเป็นเวลา 18 ปี กล่าวถึงการผ่าชันสูตรซากนกเมื่อไม่นานมานี้
“การได้เห็นด้วยตัวเองนั้นมันเหลื่อเชื่อมาก” เลเวอร์สกล่าวเสริม “ปัจจุบันมีพลาสติกจำนวนมากอยู่ในตัวนก จนคุณสามารถสัมผัสได้เพียงแค่จับต้องตัวนกทั้งที่มันยังมีชีวิตอยู่ เมื่อคุณกดที่ท้องของมัน … คุณจะได้ยินเสียงชิ้นส่วนพลาสติกบดเบียดกัน”
ทีมวิจัยทดลองบันทึกเสียงพลาสติกเสียดสีกันในตัวนกเพื่อพิสูจน์ว่า เราสามารถได้ยินเสียงดังกล่าวจากร่างของนกทะเลเป็นๆ ได้จริง พวกเขาจับนกจมูกหลอดตัวหนึ่งมา และใช้โทรศัพท์มือถือบันทึกเสียงที่ดังจากกระเพาะของนกเมื่อกดมือลงไป
“นกเหล่านี้มีเรื่องราวที่สำคัญมากที่จะบอกเล่า และสิ่งที่พวกมันกำลังบอกกับเราก็คือ ประชากรของพวกมันกำลังลดลง และปริมาณพลาสติกที่พวกมันบริโภคก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ” ดร.เลเวอร์ส กล่าวเตือนภัยสิ่งแวดล้อมที่เริ่มส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตมากขึ้นทุกวัน
ที่มา : odditycentral.com
เครดิตภาพ : GETTY IMAGES