เมื่อวันที่ 26 พ.ค. สำนักงานศาลปกครอง เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์เรื่อง ข้อกฎหมายคดีฟ้องขอเพิกถอนคำสั่งให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน โครงการรับจำนำข้าวเปลือก เนื้อหาระบุ สำนักงานศาลปกครองขอชี้แจงข้อกฎหมายในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีหมายเลขแดงที่ อผ.160-163/2568 ระหว่าง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้ฟ้องคดีที่ 1 และ นายอนุสรณ์ อมรฉัตร ผู้ฟ้องคดีที่ 2 นายกรัฐมนตรีกับพวกรวม 9 คน ผู้ถูกฟ้องคดี ดังนี้ 1. คดีในส่วนของผู้ฟ้องคดีที่ 1 นั้น มีมูลเหตุมาจากกรณีที่มีคำสั่งกระทรวงการคลัง ที่ 1351/2559 ลงวันที่ 13 ต.ค. 2559 ให้ผู้ฟ้องคดีที่ 1 รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เป็นเงิน 35,717,273,028.23 บาท อันเป็นคำสั่งทางปกครองที่ให้ชำระเงิน ซึ่งหากผู้ฟ้องคดีที่ 1 ไม่ชำระ กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีอำนาจใช้มาตรการบังคับทางปกครอง โดยยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีที่ 1 และขายทอดตลาดเพื่อชำระเงินตามคำสั่งได้โดยไม่จำต้องฟ้องคดีต่อศาล

ทั้งนี้ ตามมาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 และมาตรา 57 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ที่ใช้บังคับอยู่เดิม และมาตรา 63/7 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าวที่แก้ไขใหม่ เมื่อผู้ฟ้องคดีที่ 1 เห็นว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย และฟ้องคดีต่อศาลปกครอง โดยมีคำขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว คดีในส่วนนี้ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายที่ศาลปกครองมีอำนาจเพียงพิพากษาเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวทั้งหมดหรือบางส่วน ทั้งนี้ ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบมาตรา 72 วรรคหนึ่ง (1) แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 โดยศาลไม่มีอำนาจพิพากษาให้คู่กรณีฝ่ายผู้ฟ้องคดีรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ซึ่งคดีนี้

ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า คำสั่งพิพาทไม่ชอบด้วยกฎหมายบางส่วน จึงมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งพิพาท เฉพาะส่วนที่ให้ผู้ฟ้องคดีที่ 1 รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเกินกว่าจำนวน 10,028,861,880.83 บาท โดยศาลปกครองสูงสุดไม่ได้มีคำพิพากษาและออกคำบังคับให้ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 9 แต่อย่างใด

2. คดีนี้ศาลปกครองสูงสุดนั่งพิจารณาคดี เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2566 โดยตุลาการศาลปกครองสูงสุด ที่นั่งพิจารณาได้ลงลายมือชื่อในร่างคำพิพากษาครบทั้ง 5 คนเรียบร้อยแล้ว ต่อมาประธานศาลปกครองสูงสุด ได้มีคำสั่งให้นำคดีเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ซึ่งในการประชุมใหญ่นั้น จะประกอบด้วยตุลาการศาลปกครองสูงสุดทุกคนที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ในขณะนั้น ตุลาการศาลปกครองสูงสุดที่พ้นจากราชการไปแล้ว จึงไม่อาจเข้าร่วมประชุมใหญ่ได้ ทั้งนี้ คำวินิจฉัยของที่ประชุมใหญ่ จะเป็นไปตามเสียงข้างมากของที่ประชุม ต่อมา เมื่อมีการจัดทำคำพิพากษาตามมติของที่ประชุมใหญ่แล้ว ตุลาการในองค์คณะ 2 คนที่พ้นจากราชการไปแล้วจึงไม่อาจลงลายมือชื่อในคำพิพากษาได้ ซึ่งประธานศาลปกครองสูงสุดได้มีบันทึกกรณีตุลาการศาลปกครองสูงสุดมีเหตุจำเป็นไม่อาจลงลายมือชื่อได้ไว้ในคำพิพากษาแล้ว ทั้งนี้การดำเนินกระบวนพิจารณาและจัดทำคำพิพากษาดังกล่าวเป็นไปตามมาตรา 68 และมาตรา 69 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542

3.ส่วนการทำความเห็นแย้งนั้น ตุลาการศาลปกครองสูงสุดทุกคนในที่ประชุมใหญ่มีสิทธิทำความเห็นแย้ง ได้ตามมาตรา 67 แห่งพ.ร.บ.ดังกล่าว โดยปรากฏความเห็นแย้งและรายชื่อของตุลาการที่มีความเห็นแย้งอยู่ในคำพิพากษาแล้ว

จากนั้น น.ส.สายทิพย์ สุคติพันธ์ ตุลาการศาลปกครองสูงสุด ในฐานะกรรมการประชาพันธ์ ศาลปกครอง กล่าวถึงกรณีที่ศาลออกมาชี้แจง 3 ประเด็นที่มีการตัดสินคดีจำนำข้าว และการระบายข้าวว่า การออกมาชี้แจงนี้ เพื่อให้สังคม ประชาชนเข้าใจกระบวนการพิจารณาของศาลว่า เป็นการพิจารณาเฉพาะประเด็นคำสั่งที่เป็นข้อพิพาทระหว่าง น.ส.ยิ่งลักษณ์ กับนายกรัฐมนตรีกับพวกทั้ง 9 เท่านั้น เมื่อศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลัง ที่ 1351/2559 ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เป็นเงิน 35,717,273,028.23 บาท เฉพาะส่วนที่ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเกินกว่าจำนวน 10,028,861,880.83 บาท แล้ว บทบาทหน้าที่ของศาลปกครองถือว่ายุติแล้ว 

ส่วนการดำเนินการใดๆ จากนี้ไปเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงการคลัง สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงการคลัง กรมบังคับคดี อธิบดีกรมบังคับคดี และเจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีแพ่ง กรุงเทพมหานคร ต้องไปดำเนินการออกคำสั่งใหม่และปฏิบัติให้ถูกต้องตามคำพิพากษา

น.ส.สายทิพย์  อธิบายเพิ่มเติมว่า คดีนี้เป็นการฟ้องของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งโดนคำสั่งของกระทรวงการคลังที่เรียกให้รับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมโครงการจำนำข้าวเปลือกไป 3.5 หมื่นล้านบาทนั้น จากนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์จึงเอาคำสั่งนี้มาฟ้องต่อศาลว่าคำสั่งนี้ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ศาลก็ได้ทบทวน โดยพิจารณาแล้ว เห็นว่า โครงการจำนำข้าวนั้นประกอบด้วยหลายขั้นตอน จึงวินิจฉัยว่า อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ในส่วนที่ทำหน้าที่กำหนดนโยบายนั้น ไม่ต้องมีความรับผิด แต่ในส่วนที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ทำหน้าที่ในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ คือเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายข้าว ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ที่ควบคุมการปฏิบัตินโยบาย ดังนั้น การระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ หรือจีทูจี มีปัญหาการทุจริต มีการรายงานเข้ามาโดยหลายหน่วยงาน แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ได้ติดตามกำกับดูแลตรวจสอบการทุจริตในส่วนนี้

“ดังนั้นเฉพาะในส่วนนี้ที่ศาลปกครองเห็นว่า  คุณยิ่งลักษณ์จะต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของค่าเสียหายที่กระทรวงการคลังเขาเรียกมา 3.5 หมื่นล้านบาทนั่นแหละ แต่ศาลตรวจสอบแล้ว ว่าไม่ใช่ทั้งหมดที่คุณยิ่งลักษณ์ต้องชดใช้ แต่เป็นตัวเลขเพียงแค่ 10,028 ล้านบาท เนื่องจากโครงการจีทูจี ดังนั้นผลของคดีศาลถึงบอกว่าคำสั่งเรียกเงินนั้นชอบบางส่วน และไม่ชอบบางส่วน ส่วนที่ชอบด้วยกฎหมายก็คือ 10,028 ล้านบาทนี้ กระทรวงการคลังก็มีหน้าที่ต้องไปดำเนินการเรียกจากคุณยิ่งลักษณ์ต่อไป” น.ส.สายทิพย์ กล่าว

เมื่อถามว่า นายกรัฐมนตรี กระทรวงการคลัง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องออกคำสั่งให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ชดใช้เงินดังกล่าว ภายในกรอบระยะเวลาเท่าใด น.ส.สายทิพย์ กล่าวว่า อันนี้เป็นขั้นตอนเรียกให้เจ้าหน้าที่ชดใช้ความรับผิดทางละเมิด ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจเรื่องนี้คือกระทรวงการคลัง เขาก็ต้องไปออกมาตรการอาจจะเป็นการแจ้งให้เอาเงินมาชำระ ถ้าหลังจากนั้นยังไม่มีการชำระอาจจะมีการดำเนินการยึดอายัดทรัพย์สินต่อไป ก็เป็นกระบวนการของเจ้าหนี้กับลูกหนี้ปกติ ซึ่งตอนนี้กระทรวงการคลังถือว่าเป็นเจ้าหนี้ที่ต้องไปตามเอาค่าเสียหายคืนมา ส่วนทางฝ่าย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งถือเป็นลูกหนี้นั้น จะมีการเจรจาหรือประสานงานกับกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นผู้ที่ต้องออกคำสั่งให้ใช้เงิน เขาก็ต้องเจรจาตกลงกันไป ส่วนเรื่องระยะเวลาก็จะขึ้นอยู่กับกฎหมายของกระทรวงการคลัง

เมื่อถามว่า ทนายความของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ให้สัมภาษณ์ก่อนหน้านี้ว่า อาจจะมีการหักกลบลบหนี้กับยอดขายข้าวก่อนหน้านี้ เพื่อที่สุดท้าย น.ส.ยิ่งลักษณ์ อาจจะไม่ต้องจ่ายสักบาท จริงๆ แล้วสามารถหักกลบลบหนี้ได้หรือไม่ น.ส.สายทิพย์ กล่าวว่า ก่อนที่จะไปพูดถึงหักกลบลบหนี้กันได้หรือไม่ แต่สำหรับคดีนี้ในทางกฎหมายวิธีพิจารณาความนั้นถือว่าสิ้นสุดแล้วในทางปกครอง ในคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดถือเป็นที่สุด กรณีที่จะเกิดการทบทวนขึ้นใหม่ จะอยู่ในมาตรา 75 ของกฎหมายวิธีพิจารณาคดีปกครอง โดยสาระสำคัญเขียนว่า กรณีที่ศาลปกครองมีคำพิพากษาในคดีเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแล้ว ซึ่งขณะนี้คดีนี้ก็เป็นเช่นนั้น ถ้าในกรณีผู้มีส่วนได้เสีย อาจมีคำขอให้ศาลปกครองพิพากษาคดีนั้นใหม่ได้มี 4-5 เงื่อนไข แล้วเงื่อนไขที่ทนายความอ้างถึง เช่น อาจจะขอให้พิจารณาได้ถ้ากรณีคำพิพากษานั้นทำขึ้นโดยอาศัยข้อเท็จจริง แล้วมีข้อเท็จจริงที่เปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ เช่น ที่เขาอ้างว่า มีข้อเท็จจริงใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไป แต่อย่างไรก็ตาม ต้องผ่านขั้นแรกมาก่อนคือคำขอพิจารณาคดีใหม่ภายใน 90 วัน ศาลก็พิจารณาว่า มีเหตุตามเงื่อนไขของมาตรา 75 นี้หรือไม่