เมื่อวันที่ 28 พ.ค. ที่รัฐสภา น.ส.นันทนา นันทวโรภาส สว. พร้อมด้วยกลุ่มผู้สมัคร สว. และ นายภัทรพงศ์ ศุภักษร หรือทนายอั๋น บุรีรัมย์ แถลงกรณีการเข้าชื่อ สว.เพื่อขอให้ สว. ที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบคดีฮั้วเลือก สว.หยุดปฏิบัติหน้าที่
โดย น.ส.นันทนา กล่าวกราบขออภัยที่ไม่สามารถหาคนร่วมลงชื่อได้ครบ 20 คน เนื่องจาก สว.กลุ่มอิสระ มีเพียง 40-50 คน จะหารายชื่อ 20 คนถือว่าเป็นเรื่องยากมาก เพราะคำร้องถอดถอน สว.นั้น ก็มีเนื้อหาแข็งกร้าว เป็นยาแรง จนอาจกระทบ สว. ที่ลงชื่อ และหากมีการตอบโต้ เอาคืน สว. สีน้ำเงิน ก็สามารถรวมเสียงได้ง่ายชั่วพริบตา จึงขอประกาศยุติการล่าชื่อตั้งแต่วันนี้
น.ส.นันทนา ยังยกคำพูดของ นายจรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่ระบุว่า แม้กฎหมายไม่ได้ห้าม แต่สิ่งละเอียดอ่อนกว่ากฎหมาย คือสมควรทำหรือไม่ ไม่เช่นนั้นอาจมีปัญหาใหญ่ ต้องตรวจสอบทางจริยธรรม ว่าเป็นแบบอย่างได้หรือไม่ เพราะเมื่อเราตรวจสอบ คนควรตรวจสอบ ก็ต้องมีมาตรฐานทางจริยธรรม ดังนั้น เพื่อความรอบคอบ เห็นว่าควรเลื่อนภารกิจนี้ไปก่อน เพราะคนในองค์กรอิสระท่านยังทำมันได้อยู่ ไม่ได้มีเหตุว่า ถ้าไม่ผ่านภายในวันนี้ เดือนนี้ จะเกิดสุญญากาศขึ้น
น.ส.นันทนา กล่าวว่า อยากส่งเสียงไปยัง สว.เสียงข้างมากให้คำนึงเรื่องจริยธรรม แม้ในข้อกำหนดจะไม่สามารถบังคับได้ แต่ก็ควรจะมีจริยธรรม เพราะการเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ถือเป็นผลประโยชน์ทับซ้อนที่รุนแรง และเป็นสิ่งที่ทราบกันดีว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ กฎหมายใด ๆ ก็ตามไม่ถึง ในรอบ 93 ปี ของระบอบประชาธิปไตย ยังไม่เคยมีสภาชุดไหน ที่ สว.ถูกแจ้งข้อกล่าวหา ว่าเข้ามาโดยมิชอบเกินกว่าครึ่งของสภา จึงต้องอาศัยจิตสำนึก และจริยธรรม ของผู้ที่จะทำหน้าที่ตรงนี้ ในการเร่งร้อนใส่ผู้ที่จะเข้าไปดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ และอาศัยช่วงการเปิดประชุมเพื่อพิจารณางบประมาณแผ่นดิน แต่กลับสอดไส้วาระพิจารณาเห็นชอบองค์กรอิสระเข้ามาอย่างมีพิรุธ
น.ส.นันทนา กล่าวต่อว่า ขอเสนอแผนที่ 2 เพื่อยับยั้งไม่ให้ สว.เสียงข้างมากได้ลงมติด้วยการยื่นญัตติด่วนด้วยวาจา เนื่องจากนายเทวฤทธิ์ มณีฉาย สว.ได้ยื่นญัตติเป็นลายลักษณ์อักษรไปแล้ว แต่จนถึงวันนี้ ทราบว่ายังไม่มีการบรรจุลงระเบียบวาระ ดังนั้น ญัตตินี้จึงอาจตกไป แต่ในที่ประชุมวุฒิสภา สว.ยังมีโอกาส ซึ่งตนจะเป็นคนใช้สิทธิเสนอญัตติด่วนด้วยวาจานั้น เพื่อให้ สว.ชะลอการลงมติเห็นชอบเกี่ยวกับองค์กรอิสระทั้งหมด ส่วนในระยะยาว เราจะมีการเสนอให้แก้ข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา ให้การเห็นชอบตำแหน่งบุคคลในองค์กรอิสระ เป็นการกระทำที่โปร่งใส มีการเปิดเผยประวัติความเป็นมา ทั้งด้านดีด้านลบ คุณสมบัติ วิสัยทัศน์ให้ครบถ้วน เพื่อให้ประชาชนทราบ แบบไม่มุบมิบ จนเป็นระบบพวกพ้อง ดั่งที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อยู่
น.ส.นันทนา กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ภาคประชาชนเริ่มมองเห็นความผิดปกติต่อเรื่องนี้ เห็นความไม่ชอบธรรมต่อการกระทำหน้าที่ของ สว.กลุ่มใหญ่นี้ จึงออกมาช่วยกันส่งเสียงคัดค้าน และขอเรียกร้องไปยังประชาชนทั้งหลาย ให้ช่วยกันจับตาการประชุมวุฒิสภาในวันที่ 30 พ.ค.นี้ ช่วยกันส่งเสียง สื่อสาร ให้เห็นถึงความไม่ชอบธรรมของการเห็นชอบของ สว.ที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบขององค์กรอิสระไปด้วยกัน ไม่เช่นนั้นแล้ว จะเป็นการที่ สว.กลุ่มใหญ่นี้ สามารถเลือกผู้พิพากษาตัดสินคดีของตัวเอง สามารถเลือกกรรมการในการมาตัดสินเรื่องร้องเรียนของตัวเอง
น.ส.นันทนา กล่าวต่อไปว่า ปัญหาทั้งหมดนี้ เกิดจากรัฐธรรมนูญปี 60 ที่มีข้อบกพร่องมากมาย รั่วทุกจุด มีกล่องดวงใจ ใส่ไว้ในองค์กรอิสระ ให้มีอำนาจวินิจฉัย ตัดสินคดีต่างๆ ตรวจสอบผู้มาดำรงตำแหน่งต่างๆ ได้ โดยผูกพันทุกองค์กร มีอำนาจที่กว้าง และเป็นการปิดช่อง ดังนั้น จึงต้องหาวิธีในการยกร่าง แก้รัฐธรรมนูญใหม่ เพื่ออุดช่องว่างในกระบวนการได้มาซึ่ง สว. ต้องเปลี่ยนกติกา เพื่อควบคุมขอบเขตองค์กรอิสระทั้งหลาย
ขณะที่นายภัทรพงศ์ กล่าวว่า การต้องใช้ สว.อีก 19 คน จนถึงวันนี้ ตนจึงไม่แน่ใจว่า สว.สีน้ำเงิน มีมากกว่า 150 หรือไม่ และไม่รู้ว่าคนที่เรียกตัวเองว่าสีขาว เปลี่ยนไปแล้วหรือไม่ อย่างไร
“ขอถามคนที่จะมาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระด้วย ถ้าเป็นผม ผมไม่รับ อยากเห็นท่านแสดงสปิริตขั้นสูง ปฏิเสธไม่รับตำแหน่งในองค์กร แต่ไม่รู้ว่าจะได้เห็นหรือไม่ ในสัปดาห์หน้า ผมคงใช้ช่องทางสุดท้าย เรื่องการล้มล้างการปกครอง ซึ่งจะครบเวลา 15 วัน ที่ไปยื่นต่ออัยการสูงสุดไว้ ดำเนินการต่อไป” นายภัทรพงศ์ กล่าว.