เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 68 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเดช เล็กวิชัย รองอธิบดี ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมชลประทาน ออกประกาศแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยา ฉบับที่ 2 ถึงผู้ว่าราชการ 11 จังหวัด ประกอบด้วย จ.อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี ลพบุรี ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ และกรุงเทพมหานคร ให้เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ หลังเขื่อนเจ้าพระยา จะมีการเพิ่มการระบายน้ำลงสู่ท้ายเขื่อน ในอัตรา 1,000 ถึง 1,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

ซึ่งจากการคาดการณ์โดยกรมชลประทาน ในช่วง 1-3 วันข้างหน้า โดยในวันที่ 31 พฤษภาคม 2568 ที่สถานี C.2 อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ จะมีปริมาณน้ำไหลผ่าน ประมาณ 1,300-1,400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และคาดการณ์ปริมาณน้ำจากลำน้ำสาขา มีปริมาณประมาณ 200-250 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งทำให้ปริมาณน้ำที่เหนือเขื่อนเจ้าพระยา มีปริมาณระหว่าง 1,500-1,650 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และรับน้ำเข้าระบบชลประทาน 2 ฝั่ง ในอัตรา 400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที กรมชลประทานมีความจำเป็นต้องระบายน้ำ ผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาในอัตราระหว่าง 1,000-1,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันอีกประมาณ 0.50-1.30 เมตร บริเวณที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำบริเวณคลองโผงแผง จังหวัดอ่างทอง คลองบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา ตำบลลาดชิด ตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (แม่น้ำน้อย) โดยจะไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชุมชน หากมีปริมาณน้ำเหนือเพิ่มขึ้นที่จะส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยามากกว่า 1,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จะแจ้งให้ทราบต่อไป
ทั้งนี้ กรมชลประหานจะบริหารจัดการน้ำและควบคุมปริมาณการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในเกณฑ์ดังกล่าว อย่างเต็มศักยภาพ ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำ กรมชลประทานได้แจ้งเตือน 11จังหวัด ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกาศประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บริษัท ห้างร้าน ที่ประกอบกิจการในแม่น้ำเจ้าพระยา อาทิ งานก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง แพร้านอาหาร เป็นต้น รวมทั้งประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำน้อย ขอให้เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

ขณะที่ทางด้าน นายวัชระ ไกรสัย ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 12 เปิดเผยว่า ในเรื่องการบริหารจัดการน้ำในช่วงของฤดูฝน ทางสำนักงานชลประทานที่ 12 โดยกรมชลประทาน ได้มีการวางแผนตั้งแต่ก่อนเข้าฤดูกาล มีการติดตามสภาพภูมิอากาศ สำหรับปริมาณน้ำที่สำนักงานชลประทานที่ 12 ได้บริหารจัดการในพื้นที่ของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ก็จะเป็นน้ำที่เกิดขึ้น 2 ส่วน คือ ปริมาณน้ำในพื้นที่ หรือปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่ อีกส่วนหนึ่ง คือ น้ำที่ไหลมาจากทางด้านตอนบนของเขื่อนเจ้าพระยา ทั้งนี้ทางสำนักงานชลประทานที่ 12 โดยกรมชลประทาน ได้มีการเตรียมการและทำการพร่องน้ำบริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยาเอาไว้ ให้อยู่ในระดับที่สามารถใช้หน่วงน้ำได้ รวมถึงหากปริมาณน้ำไหลลงมาสมทบที่หน้าเขื่อนเจ้าพระยา ก็จะมีการระบายน้ำเข้าสู่ระบบชลประทานทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของลุ่มน้ำ เพื่อลดผลกระทบพื้นที่ทางด้านท้ายน้ำ หากปริมาณน้ำมีมาก ทางกรมชลประทานก็มีความจำเป็นจะต้องเพิ่มการระบายน้ำของเขื่อนเจ้าพระยาขึ้น ทั้งนี้ทางกรมชลประทานก็เน้นย้ำในเรื่องของการเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ โดยขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ริมตลิ่งริมแม่น้ำ เฝ้าติดตามข่าวประชาสัมพันธ์ต่างๆ จากหน่วยงานราชการ จะได้รับมืออย่างทันท่วงทีหากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน