เมื่อวันที่ 30 พ.ค. นายแสงสุรีย์ ซองทอง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ เปิดเผยถึงผลการปฏิบัติการสำรวจประชากรพะยูนและสัตว์ทะเลหายากที่ใกล้สูญพันธุ์ บริเวณอ่าวน้ำเมา หมู่ที่ 5 ต.ไสไทย อ.เมือง จ.กระบี่ หลังส่งเจ้าหน้าที่พร้อมโดรนสำรวจตลอดทั้งวัน โดย นายแสงสุรีย์ เผยว่า จากการสำรวจพบว่าพะยูนที่เคยอาศัยอยู่บริเวณอ่าวน้ำเมา ซึ่งเดิมมี 1 ตัว ได้มีพะยูนอพยพเข้ามาเพิ่มอีก 2 ตัว คาดว่าน่าจะเป็นคู่แม่ลูกอ่อน รวมเป็น 3 ตัว กำลังว่ายน้ำเล่นและหากินหญ้าทะเล หรือหญ้าใบมะกรูด ซึ่งเป็นอาหารหลักอย่างสนุกสนาน

โดยพะยูนตัวแรกมีร่างกายสมบูรณ์มากเป็นตัวเต็มวัย ขนาดลำตัวยาวประมาณ 3-3.5 เมตร รอบลำตัวกว้าง 2-2.5 เมตร ขณะที่พะยูนตัวที่สองซึ่งคาดว่าเป็นตัวเมียและแม่ของลูกพะยูน มีร่างกายสมบูรณ์มากเช่นกัน ขนาดลำตัวยาวประมาณ 2-2.5 เมตร รอบลำตัวกว้างประมาณ 2-2.5 เมตร ส่วนพะยูนตัวที่สามซึ่งเป็นลูก มีร่างกายสมบูรณ์มาก ขนาดลำตัวยาวประมาณ 1 เมตร รอบลำตัวกว้างประมาณ 1-1.5 เมตร

นอกจากพะยูนแล้ว ยังมีสิ่งที่สร้างความประหลาดใจและดีใจให้กับทีมสำรวจเป็นอย่างมาก คือการค้นพบ “เต่าตนุ” อพยพเข้ามาอาศัยในบริเวณอ่าวน้ำเมา เขตอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี เป็นครั้งแรกที่เคยเกิดขึ้นในพื้นที่นี้ โดยพบเต่าตนุรวมจำนวน 9 ตัว มีขนาดแตกต่างกันไปตามความสมบูรณ์และอายุ ส่วนใหญ่เข้าสู่ตัวเต็มวัยและมีอายุประมาณ 10 ปีขึ้นไป

ด้าน นายแสงสุรีย์ อธิบายถึงสาเหตุที่พะยูนไม่เพียงไม่อพยพออกจากพื้นที่ แต่ยังอพยพเข้ามาเพิ่ม รวมถึงเต่าตนุที่อพยพเข้ามาด้วยว่า เกิดจาก “สภาพภูมิอากาศของท้องทะเลอันดามัน” ในบริเวณชายฝั่งและน่านน้ำของจังหวัดกระบี่ โดยเฉพาะแนวชายฝั่งที่มีระดับน้ำลึก 5-10 เมตร ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและหากินของพะยูนและเต่าตนุโดยทั่วไป โดยปีนี้สภาพอากาศโดยรวมดีมาก ไม่ร้อนจัด และมีฝนตกลงมาเยอะ ทำให้น้ำทะเลไม่ร้อนเหมือนปีที่ผ่านมา ระดับน้ำถือว่าอุ่น จึงส่งผลให้หญ้าทะเลหรือหญ้าใบมะกรูด ซึ่งเป็นอาหารหลักของพะยูนและเต่าตนุ ตลอดจนสัตว์น้ำแถบชายฝั่งอื่นๆ มีจำนวนประชากรเยอะตามไปด้วย

ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้การเจริญเติบโตของสัตว์น้ำและการขยายพันธุ์เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ชาวประมงพื้นบ้านพบเห็นพะยูนบ่อยขึ้น สร้างความดีอกดีใจอย่างยิ่งให้กับชาวอุทยานแห่งชาติรวมไปถึงชาวบ้านในพื้นที่ ที่ได้พบเห็นพะยูนยังไม่สูญพันธุ์ไปจากพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามันของน่านน้ำจังหวัดกระบี่ และมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าการอพยพเข้ามาแต่ละครั้งมีจำนวนไม่มากหรือเป็นฝูงก็ตาม นับเป็นข่าวดีที่สะท้อนถึงความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศทางทะเลในพื้นที่นี้อย่างแท้จริง!.