เอสไอจี’ ผนึกกำลัง ‘WWF’ สานต่อโครงการอนุรักษ์ป่าไม้ในไทย ครั้งที่ 3 ครอบคลุมพื้นที่กว่า 6 หมื่นเฮกตาร์ หรือประมาณ 375,000 ไร่ โดยมุ่งเน้นพื้นที่ลุ่มน้ำสงครามตอนล่าง กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ และแนวเทือกเขาตะนาวศรี ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญด้านระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพระดับโลก
โครงการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรม Forests Forward ที่ WWF ริเริ่มขึ้น โดยก่อนหน้านี้เอสไอจีเคยร่วมงานกับ WWF มาแล้วในเม็กซิโกและมาเลเซีย ซึ่งประสบความสำเร็จในการฟื้นฟูป่าไม้และสร้างผลลัพธ์เชิงบวกต่อระบบนิเวศและชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม

‘วัชรพงศ์ อึงศรีสวัสดิ์’ ผู้อำนวยการเขตประเทศไทย ลาว พม่า และกัมพูชา บริษัท เอสไอจี เปิดเผยว่า “ความร่วมมือกับ WWF สวิตเซอร์แลนด์ เปิดโอกาสให้เอสไอจีสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อป่าไม้และชุมชนที่พึ่งพาอาศัยป่า โครงการครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของเราในการดูแลและฟื้นฟูป่าไม้อย่างมีความรับผิดชอบ พร้อมทั้งสนับสนุนเป้าหมายการฟื้นฟูในอนาคต เพื่อให้มั่นใจว่าเราสามารถช่วยเหลือผู้คนและโลกใบนี้ให้มีความเจริญรุ่งเรืองมากขึ้น”

ประเทศไทยตั้งอยู่ในพื้นที่อินโด-เมียนมาร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดในโลก ป่าไม้ไทยจึงมีความสำคัญระดับโลกในฐานะบ้านของสัตว์หายาก เช่น เสือลายเมฆ เสือโคร่ง ช้างเอเชีย และกล้วยไม้สายพันธุ์เฉพาะถิ่นหลายชนิดที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ อย่างไรก็ตาม การตัดไม้ทำลายป่าและการรุกล้ำพื้นที่ป่าเพื่อการตั้งถิ่นฐานยังคงเป็นภัยคุกคามหลักต่อระบบนิเวศนี้
ป่าไม้ไม่เพียงมีความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องโดยตรงกับธุรกิจของเอสไอจี เนื่องจากเยื่อไม้จากป่าเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตกระดาษสำหรับบรรจุภัณฑ์ ดังนั้นเอสไอจีจึงให้ความสำคัญกับการจัดหาวัตถุดิบอย่างยั่งยืน โดยตั้งแต่ปี 2564 บริษัทได้ใช้กระดาษที่ได้รับการรับรองจากองค์การพิทักษ์ป่าไม้ (FSC) เท่านั้น เพื่อรับประกันว่าป่าไม้ที่นำมาใช้ประโยชน์มีการบริหารจัดการอย่างมีความรับผิดชอบ และส่งเสริมทั้งความหลากหลายทางชีวภาพและคุณภาพชีวิตของชุมชนในพื้นที่

สำหรับโครงการในปีนี้มุ่งเน้นไปที่ 3 เป้าหมายหลัก ได้แก่ 1. การอนุรักษ์แนวชายป่าที่จำเป็นต่อความเชื่อมโยงของระบบนิเวศ 2. การสนับสนุนพื้นที่อนุรักษ์เดิมและการกำหนดพื้นที่คุ้มครองใหม่ และ 3. การเสริมสร้างบทบาทของชุมชนในฐานะผู้ดูแลป่า โดยกิจกรรมในพื้นที่จะครอบคลุมการเชื่อมโยงถิ่นอาศัยเพื่อให้สัตว์ใหญ่สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ เช่น การสร้างทางเชื่อมสำหรับช้างในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ การฟื้นฟูป่าต้นน้ำ และการส่งเสริมอาชีพที่เป็นมิตรกับป่า เช่น วนเกษตรและการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์

ด้าน ‘รัฐพล พิทักษ์เทพสมบัติ’ รองผู้อำนวยการฝ่ายอนุรักษ์ และผู้อำนวยการส่วนงานกลุ่มป่าไม้ WWF ประเทศไทย กล่าวเสริมว่า “ความร่วมมือกับเอสไอจีเปิดโอกาสให้เราสามารถปกป้องและฟื้นฟูผืนป่าที่สำคัญระดับโลกในประเทศไทยทั้งสามแห่งได้อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งยังช่วยให้ WWF ทำงานร่วมกับภาครัฐและชุมชนเพื่อกำหนดพื้นที่คุ้มครองใหม่ และสนับสนุนถิ่นอาศัยตามธรรมชาติของสัตว์ป่า เช่น เสือ กระทิง และช้างเอเชีย”
ขณะที่ ‘ทิม โครนิน’ ผู้นำโครงการ Forests Forward จาก WWF กล่าวชื่นชมเอสไอจีที่แสดงบทบาทนำในการลงมือปฏิบัติจริงในพื้นที่ที่มีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนในประเทศไทย พร้อมระบุว่า เหล่านี้คือแบบอย่างของภาคธุรกิจที่ไม่เพียงหยุดยั้งการทำลาย แต่ยังเดินหน้าฟื้นฟูธรรมชาติอย่างยั่งยืน โดยมองว่าความร่วมมือกับภาคเอกชนเป็นกลไกสำคัญในการจัดการกับวิกฤตสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะด้านป่าไม้และความหลากหลายทางชีวภาพ

ทั้งนี้ โครงการของเอสไอจีในประเทศไทยยังสอดคล้องกับพันธกิจของบริษัทในการสร้าง ฟื้นฟู ปกป้อง และจัดการพื้นที่ป่าไม้เพิ่มเติมอีก 6.5 แสนเฮกตาร์ หรือราว 4.06 ล้านไร่ทั่วโลกภายในปี 2573 ซึ่งถือเป็นเป้าหมายระยะยาวที่แสดงถึงการให้ความสำคัญของบริษัทในการเป็นผู้นำด้านความยั่งยืนในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ระดับโลก