“ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์” รายงานว่า ขณะนี้ กระทรวงคมนาคม ได้เสนอโครงการเช่ารถโดยสารประจำทางปรับอากาศพลังงานสะอาด (EV) 1,520 คัน ระยะเวลาเช่า 7 ปี วงเงิน 15,355.60 ล้านบาท (งบประมาณปี 2568-2575) ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เพื่อรอบรรจุเข้าเป็นวาระการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว
หลังจากทั้ง 3 หน่วยงานประกอบด้วยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กระทรวงการคลัง (กค.) และสำนักงบประมาณ (สงป.) เห็นชอบพร้อมเสนอความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของ ครม. แล้ว ถือเป็นโครงการแรกที่ ขสมก.จัดหารถโดยสารโดยใช้พลังงานไฟฟ้าและใช้วิธีเช่าจะช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ประมาณ 70% โดยเฉพาะค่าบำรุงรักษารถ รถเมล์ใหม่จะทำให้ ขสมก. บริหารจัดการเดินรถได้คล่องตัวมากขึ้น ผู้โดยสารจะได้รับความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยในการเดินทางยิ่งขึ้น ลดพลังงานเชื้อเพลิง 3 เท่า เหลือ 600 ล้านบาท ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายอื่นๆ ได้ปีละ 2,500-3,000 ล้านบาท อาทิ ใช้ระบบเก็บค่าโดยสารแบบอีทิกเก็ต แทนพนักงานโยกย้ายไปทำหน้าที่อื่นๆ และชะลอการรับพนักงานใหม่ เป็นต้น

หากได้รับความเห็นชอบจาก ครม. ขสมก.จะเปิดประกวดราคา (ประมูล) ทันที โดยเตรียมร่างขอบเขตงาน (TOR) ไว้เรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะรับมอบรถ 500 คันแรกประมาณปลายปีนี้และส่งมอบครบทั้งหมดภายในปี 2569
ส่วนกรณีนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) มีแนวคิดจะโอนสิทธิการบริหารรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้กระทรวงคมนาคม และแลกด้วยการขอ ขสมก. ไปดูแลแทนเพื่อบริการรถสาธารณะคนกรุงเทพฯ นั้น บุคลากรใน ขสมก.ไม่เห็นด้วย เนื่องจาก ขสมก.มีรูปแบบเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่มีความคล่องตัวดีอยู่แล้ว ในการบริหารกิจการสาธารณะเพื่อประชาชน ขณะที่ กทม.มีโครงสร้างเป็นระบบราชการ ขาดความคล่องตัว
ประกอบกับเส้นทางอยู่นอกเขตกรุงเทพฯ แม้จะสามารถออกข้อบัญญัติใช้งบนอกเขตได้ แต่มีขั้นตอนยุ่งยาก บุคลากร ขสมก. ประมาณ 1.25 หมื่นคนไม่ต้องการโอนไปสังกัด กทม. รวมทั้งยังมีหนี้สะสม กว่า 1.4 แสนล้านที่เป็นภาระอยู่และที่ผ่านมาเคยมีแนวคิดโอนหลายครั้งแล้วแต่ตกลงกันไม่ได้ หากมีการโอนย้ายจะมีการคัดค้านจากสหภาพแรงงาน ขสมก. และมีการเคลื่อนไหวต่อต้านจากพนักงานแน่นอน