วันที่ 4 มิ.ย. รัฐบาลไทยออกแถลงการณ์ กรณีความขัดแย้งบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา โดยแถลงการณ์รัฐบาลระบุว่า “กรณีสถานการณ์ชายแดน ไทย-กัมพูชา” รัฐบาลขอยืนยันว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญสูงสุดในการปกป้องอธิปไตยและคุ้มครองบูรณภาพของดินแดนไทยอย่างเต็มที่โดยยึดหลักการในการแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยสันติวิธี สอดคล้องตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ และยึดมั่นในหลักมนุษยธรรม
โดยจุดเริ่มต้นของสถานการณ์นี้ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2568 ในขณะที่กองกำลังฝ่ายไทยลาดตระเวนตามปกติในพื้นที่ฝ่ายไทยซึ่งเป็นแนวที่ถือปฏิบัติเสมอมา แต่ได้เกิดเหตุการณ์ปะทะกันในช่วงเวลาสั้น ๆ ระหว่างกองกำลังไทยและกัมพูชา ที่บริเวณช่องบก จังหวัดอุบลราชธานี สถานการณ์จากการปะทะดังกล่าวทำให้กองกำลังไทยจำเป็นต้องป้องกันตัว และปกป้องพื้นที่อธิปไตยของไทย เป็นการดำเนินการตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ
ภายหลังจากเกิดเหตุ รัฐบาลทั้งสองฝ่ายได้หารืออย่างใกล้ชิดในทุกระดับ รวมถึงนายกรัฐมนตรีของทั้งสองประเทศ ได้มีการพูดคุยกันด้วยความห่วงใยในสถานการณ์ ผลจากการพูดคุยรัฐบาลทั้งสองฝ่ายเห็นตรงกันว่า จะร่วมมือกันทำให้สถานการณ์กลับสู่ปกติและไม่ลุกลามบานปลาย และเห็นพ้องที่จะใช้กลไกทวิภาคีต่าง ๆ ที่มีอยู่ในการแก้ไขปัญหา ซึ่งหนึ่งในกลไกนั้น คือกลไก JBC ตามที่ผู้บัญชาการทหารบกของทั้งสองฝ่ายได้หารือกันไว้ เมื่อวันที่ 29 พ.ค. 2568 ที่ผ่านมา
ส่วนประเด็นเกี่ยวกับท่าทีของฝ่ายกัมพูชา ที่อาจประสงค์จะใช้กลไกทางศาลหรือฝ่ายที่สามมาพิจารณาเรื่องนี้นั้น ขอเรียนว่า ประเทศไทยในฐานะเพื่อนบ้านของกัมพูชา มีความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขประเด็นปัญหาระหว่างกันโดยสันติวิธีบนพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศ สนธิสัญญาและความตกลงต่าง ๆ เช่น MOU 2543 และข้อมูลหลักฐานต่าง ๆ รวมถึงภาพถ่ายดาวเทียม และไทยพร้อมที่จะเจรจากับฝ่ายกัมพูชาผ่านกลไกระดับทวิภาคีที่มีอยู่ระหว่างกัน เช่น
– JBC (การประชุมคณะกรรมการเขตแดนร่วม) ซึ่งเป็นกลไกทางเทคนิคจัดตั้งขึ้นโดย MOU 2543 เพื่อหารือเรื่องการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดน ทวิภาคี ซึ่งขณะนี้ฝ่ายกัมพูชาได้ตอบรับตามคำขอ ของฝ่ายไทยที่จะจัดขึ้น (ในวาระที่ฝ่ายกัมพูชาเป็นเจ้าภาพ) ในวันที่ 14 มิ.ย. 2568 ที่กัมพูชา
– GBC (คณะกรรมการชายแดนทั่วไป ไทย-กัมพูชา) ซึ่งเป็นกลไกระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ RBC (คณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค) ซึ่งเป็นกลไกระดับแม่ทัพภาค ซึ่งทั้ง GBC และ RBC มีหน้าที่หลักในการดูแลสถานการณ์ชายแดนให้มีความสงบเรียบร้อยนอกจากนี้ รัฐบาลทั้งสองฝ่ายยังเห็นพ้องกันที่จะให้ความสำคัญกับการสื่อสารกับประชาชน เพื่อป้องกันมิให้เกิดความเข้าใจผิดระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ
รัฐบาลขอยืนยันว่า ปัจจุบันสถานการณ์บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา โดยทั่วไป มีความสงบเรียบร้อย รัฐบาลขอให้พี่น้องประชาชนมีความมั่นใจว่า ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการอย่างเต็มที่ ตามขั้นตอนในการปกป้องอธิปไตยของไทย และรักษาสิทธิทางกฎหมายของไทยอย่างครบถ้วน และเชื่อมั่นว่า ไทยและกัมพูชาจะสามารถแก้ไขปัญหาร่วมกันได้ บนพื้นฐานของการเป็นเพื่อนบ้านที่ดี ความปลอดภัยและสวัสดิภาพของพี่น้องประชาชนบริเวณชายแดน รวมถึงความเป็นครอบครัวของ ”อาเซียน” ด้วยกัน