วันนี้ “เดลินิวส์” นำบทความ รศ. นพ.ชินเขต เกษสุวรรณสาขาวิชาศัลยศาสตร์ระบบปัสสาวะ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยถึง นิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ จะมีอาการปวดท้องน้อย (pelvic pain) สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินปัสสาวะ ระบบสืบพันธุ์ หรือระบบทางเดินอาหาร และอาจเกิดขึ้นในทั้งเพศชายและเพศหญิง แต่สาเหตุและลักษณะการปวดอาจแตกต่างกันไปตามเพศและสภาพร่างกาย

ตำแหน่งปวดท้องน้อย บอกโรค  การระบุจุดที่ปวดในท้องน้อยสามารถช่วยให้แพทย์วินิจฉัยโรคได้แม่นยำยิ่งขึ้น ดังนี้

  • ปวดบริเวณท้องน้อยขวา เป็นตำแหน่งไส้ติ่ง ท่อไต ปากมดลูก และรังไข่ขวา โดยลักษณะการปวดต่าง ๆ สามารถบอกโรคได้ ดังนี้
  • ปวดเกร็งเป็นระยะ ๆ ร้าวมาที่ต้นขา เป็นอาการกรวยไตอักเสบหรือนิ่วท่อไต 
  • ปวดเสียด บีบ ตลอดเวลา กดแล้วเจ็บมากบริเวณท้องน้อยด้านขวาอาจจะเป็นไส้ติ่งอักเสบ
  • ปวดร่วมมีไข้สูง ตกขาว เป็นอาการของปีกมดลูกอักเสบ
  • คลำแล้วเจอก้อนเนื้อ อาการก้อนไส้ติ่งอักเสบหรือรังไข่ผิดปกติ

ปวดบริเวณท้องน้อยซ้าย เป็นตำแหน่งปีกมดลูกและท่อไต รังไข่ด้านซ้าย ลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย อาการปวดต่าง ๆ สามารถบอกโรคได้ ดังนี้

  1. ปวดเกร็งเป็นระยะ ๆ ร้าวมาที่ต้นขา เป็นนิ่วในท่อไต
  2. ปวดร่วมกับมีไข้ หนาวสั่น และมีตกขาว อาการของมดลูกอักเสบ
  3. ปวดร่วมกับถ่ายอุจจาระผิดปกติ เป็นอาการของลำไส้ใหญ่อักเสบ
  4. คลำพบก้อนเนื้อร่วมกับอาการท้องผูกเป็นประจำ อุจจาระมีมูกปนเลือด ท้องผูกสลับกับท้องเสีย น้ำหนักลด อาจเป็นอาการเนื้องอกในลำไส้

ปวดบริเวณท้องน้อย ตรงกับตำแหน่งกระเพาะปัสสาวะและมดลูก อาการปวดต่าง ๆ สามารถบอกโรคได้ ดังนี้

  1. หากมีอาการปัสสาวะกะปริดกะปรอย ปวดเวลาปัสสาวะ อาจเป็นกระเพาะปัสสาวะอักเสบหรือเป็นนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
  2. ปวดท้องน้อย มีไข้สูง ตกขาวมีกลิ่นเหม็น อาจจะเป็นมดลูกอักเสบ
  3. ปวดเกร็งเวลามีประจำเดือน มีอาการปวดเรื้อรัง แสดงว่ามดลูกมีปัญหาควรรีบพบแพทย์

ปวดท้องน้อย พร้อมกับปวดหลัง เสี่ยงเป็นนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ จริงหรือ ?

อาการปวดท้องน้อยที่มาพร้อมปวดหลังอาจเป็นสัญญาณหนึ่งของการมีนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากปวดแล้วยังมีอาการแสบเวลาปัสสาวะ ปัสสาวะขุ่น มีเลือดปน หรือต้องเข้าห้องน้ำบ่อยครั้ง อาการปวดจากนิ่วยังมักเคลื่อนตำแหน่งตามการเคลื่อนตัวของก้อนนิ่วในท่อไตและระบบปัสสาวะ

นิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ คืออะไร

นิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะคือก้อนแข็งที่เกิดจากการตกตะกอนของสารเคมี เช่น แคลเซียม ออกซาเลต หรือกรดยูริกภายในไต ท่อไต กระเพาะปัสสาวะ และท่อปัสสาวะ เมื่อนิ่วเคลื่อนตัวอาจทำให้เกิดการอุดตันและอักเสบ เป็นที่มาของอาการปวดและไม่สบายตัว

อาการปวดจากโรคนิ่วในผู้หญิงและผู้ชายต่างกันอย่างไร

แม้ว่าอาการหลัก ๆ จากนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะจะค่อนข้างคล้ายกันทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย แต่ยังมีความแตกต่างเล็กน้อยที่ควรสังเกต

อาการปวดในผู้ชาย ปวดบริเวณหลัง ท้องน้อย และอาจร้าวลงมาถึงอัณฑะข้างที่มีนิ่ว อาจมีอาการแสบหรือปัสสาวะขัด รู้สึกไม่สบายหรือปวดหน่วงในถุงอัณฑะหากก้อนนิ่วเคลื่อนต่ำลง

อาการปวดในผู้หญิง ปวดบริเวณหลัง ท้องน้อย และอาจร้าวลงมาถึงช่องคลอดข้างที่มีนิ่ว ปวดหน่วงและเจ็บเวลา ปัสสาวะ อาจมีอาการร่วมอื่น ๆ เช่น ปวดหลังช่วงล่าง กลั้นปัสสาวะลำบาก

นิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ เกิดจากอะไร

สาเหตุสำคัญของการเกิดนิ่ว ได้แก่ ดื่มน้ำน้อย เมื่อปริมาณน้ำไม่เพียงพอ ปัสสาวะจะเข้มข้นสูง ทำให้สารละลายบางชนิดตกตะกอนได้ง่าย อาหารที่มีสารก่อให้เกิดนิ่วสูง การรับประทานอาหารที่มีออกซาเลต แคลเซียม หรือโซเดียมสูงเป็นประจำอาจกระตุ้นให้สารเหล่านี้จับตัวกันกลายเป็นนิ่ว พันธุกรรมและโรคประจำตัว บุคคลที่มีประวัติครอบครัวเป็นนิ่วหรือมีโรคประจำตัว เช่น ภาวะต่อมพาราไทรอยด์ทำงานมากเกิน หรือภาวะไตผิดปกติบางชนิด มีแนวโน้มเกิดนิ่วได้ง่าย

การติดเชื้อเรื้อรังในระบบทางเดินปัสสาวะ การอักเสบหรือติดเชื้อบ่อย ๆ ในระบบทางเดินปัสสาวะ ทำให้เชื้อโรคสร้างสารบางอย่างให้ก่อให้เกิดนิ่ว ยาบางชนิดและภาวะร่างกายผิดปกติ ยาบางตัว หรือภาวะเมแทบอลิซึมที่ไม่สมดุลอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดนิ่ว

ใครเสี่ยงเป็นนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ

  • ผู้ที่ดื่มน้ำน้อยหรือไม่เพียงพอในแต่ละวัน
  • ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นนิ่ว
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น ภาวะต่อมพาราไทรอยด์ทำงานมากเกิน เกาต์
  • ผู้บริโภคอาหารที่มีโซเดียมสูง หรือรับประทานวิตามินซีเสริมในปริมาณมากกว่า 2000 มิลลิกรัมต่อวัน

วิธีการป้องกันนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ 

นิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะอาจเกิดจากหลายปัจจัย แต่หากเราปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดูแลตนเอง ก็สามารถลดความเสี่ยงในการก่อตัวของนิ่วได้ โดยมีแนวทางดังนี้

  1. ดื่มน้ำอย่างเพียงพอ ควรดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว หรือมากกว่า 2 ลิตร เพื่อให้ปัสสาวะมีความเจือจางและลดโอกาสการตกตะกอนของสารเคมีในปัสสาวะ และสังเกตสีของปัสสาวะหากมีสีอ่อนใส แสดงว่าร่างกายได้รับน้ำเพียงพอ
  2. ปรับพฤติกรรมการกิน ลดอาหารที่มีโซเดียมสูง อาหารรสเค็มจัด รวมถึงอาหารที่มีออกซาเลตสูง เช่น ผักโขม บีทรูท ช็อกโกแลต และถั่วบางชนิด ลดปริมาณเนื้อแดงและอาหารที่มีโปรตีนสูงเกินไป เพราะอาจส่งผลต่อสมดุลสารเคมีในปัสสาวะ เลือกรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมในปริมาณเหมาะสม เนื่องจากแคลเซียมช่วยจับสารออกซาเลตในลำไส้ ทำให้ดูดซึมน้อยลง
  3. หลีกเลี่ยงการกลั้นปัสสาวะบ่อย ๆ ควรเข้าห้องน้ำเมื่อรู้สึกปวดปัสสาวะ ไม่ควรกลั้นไว้นาน เพราะอาจทำให้ปัสสาวะค้างและเกิดการตกตะกอนได้ง่ายขึ้น
  4. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ การออกกำลังกายช่วยให้ระบบหมุนเวียนเลือดและของเหลวในร่างกายดีขึ้น ลดการเกิดภาวะตกตะกอนของสารในไตและท่อไต ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เพื่อลดความเสี่ยงของภาวะเมแทบอลิซึมผิดปกติ
  5. ตรวจสุขภาพประจำปี การตรวจสุขภาพเป็นประจำช่วยให้พบความผิดปกติในระยะเริ่มต้น หากมีความเสี่ยงต่อการเกิดนิ่ว แพทย์อาจแนะนำมาตรการป้องกันเพิ่มเติม

อาการปวดท้องน้อยและปวดหลังพร้อมกัน อาจมีสาเหตุได้หลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะที่สามารถรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน หากคุณเริ่มรู้สึกปวดท้องน้อยเรื้อรัง ปวดแปล๊บ ๆ หลังส่วนล่าง หรือมีอาการผิดปกติในการปัสสาวะ ควรเข้าพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสม การดูแลสุขภาพด้วยการดื่มน้ำให้เพียงพอ ลดอาหารที่เสี่ยงต่อการเกิดนิ่ว และปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตจะช่วยป้องกันและลดโอกาสการเกิดนิ่วได้ ทั้งนี้ ความรู้และการตระหนักรู้จะช่วยให้คุณดูแลสุขภาพของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น