เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผอ.สำนักการโยธา (สนย.) กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการก่อสร้างปรับปรุงถนนรามคำแหง 24 และถนนหัวหมาก รวมทั้งการเข้มงวดตรวจสอบการดำเนินงานของผู้รับเหมาโครงการฯ ว่า การดำเนินโครงการก่อสร้างปรับปรุงถนนรามคำแหง 24 และถนนหัวหมาก พบปัญหาอุปสรรคจากพื้นที่ก่อสร้างคับแคบและการจราจรหนาแน่น การทำงานต้องเบี่ยงการจราจรไปมา โดยไม่ลดจำนวนช่องจราจรลงจากเดิม เพื่อให้งานก่อสร้างกระทบกับการจราจรน้อยที่สุด รวมถึงมีการรื้อย้ายท่อ cross ประปาของการประปานครหลวง (กปน.) ที่อยู่ในแนววางท่อระบายน้ำบริเวณหลังมหาวิทยาลัยรามคำแหง และอุปสรรคจากการเข้าใช้พื้นที่ในความดูแลของการกีฬาแห่งประเทศไทย

ขณะนี้ได้แก้ไขเรียบร้อยแล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างวางท่อระบายน้ำและงานผิวจราจรคอนกรีตเสริมเหล็ก (ค.ส.ล.) โดยโครงการฯ มีความคืบหน้าร้อยละ 64 คาดว่าจะแล้วเสร็จและสามารถเปิดใช้งานได้ภายในเดือน ธ.ค. 68 สำหรับปัญหาผิวจราจรชำรุดและมีเหล็กเส้นโผล่ออกมานั้น ตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นผิวจราจรชั่วคราว ในอนาคตต้องทุบรื้อเพื่อก่อสร้างบ่อพักสำหรับงานท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดิน และจะก่อสร้างเป็นผิวจราจรถาวร เมื่องานก่อสร้างท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดินแล้วเสร็จ

ส่วนจุดที่ผิวจราจรที่ไม่เรียบร้อยบริเวณถนนหัวหมาก เกิดจากขณะเทคอนกรีตมีฝนตกหนัก ทำให้ชะล้างผิวหน้าคอนกรีต ซึ่งบริเวณดังกล่าว โครงการยังไม่ได้ตรวจรับงานและเบิกเงินให้กับผู้รับจ้าง จนกว่าจะแก้ไขให้เรียบร้อย และผลการทดสอบกำลังรับแรงอัดของคอนกรีตต้องผ่านตามมาตรฐาน ทั้งนี้ ผิวจราจรที่ชำรุดได้วางแผนเข้าซ่อมแซม โดยจะเริ่มดำเนินการเมื่อสามารถเปิดช่องจราจรในถนนหัวหมากได้ 3 ช่อง เนื่องจากขณะซ่อมแซมจำเป็นต้องปิดช่องจราจร 1 ช่อง จะคงเหลือช่องจราจรที่ใช้สัญจร 2 ช่อง เพื่อลดผลกระทบด้านการจราจร

ส่วนเศษวัสดุจากการก่อสร้างผู้รับจ้างจะต้องขุดลอกทำความสะอาดให้เรียบร้อยก่อนส่งมอบงาน ซึ่ง สนย. ได้กำชับให้โครงการเข้มงวดผู้รับจ้างจัดระเบียบพื้นที่ในระหว่างการก่อสร้าง เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนและผู้สัญจรในพื้นที่

ทั้งนี้ โครงการก่อสร้างปรับปรุงถนนรามคำแหง 24 และถนนหัวหมาก มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรที่เป็นคอขวดบริเวณถนนรามคําแหง 24 และเป็นการเชื่อมโครงข่ายถนนเพื่อรองรับปริมาณการจราจรในถนนรามคําแหงถนนศรีนครินทร์-ร่มเกล้า และถนนใกล้เคียง อีกทั้งแก้ไขปัญหาถนนที่ชํารุดเสียหาย เนื่องจากการทรุดตัว โดยทำการก่อสร้างขยายช่องจราจรทางราบขนาด 4-6 ช่องจราจร พร้อมระบบระบายน้ำ ระบบไฟฟ้าส่องสว่าง ช่วงจากแยกถาวรธวัช ถึงมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ และแก้ปัญหาการทรุดตัวของผิวการจราจรไม่เท่ากันในถนนหัวหมาก ช่วงจากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ถึงคลองจิก ระยะทางประมาณ 2,200 เมตร