เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. เวลา 17.00 น. ที่กระทรวงการต่างประเทศ นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รมว.การต่างประเทศ แถลงว่า ในวันนี้ (11 มิ.ย.) คณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม (เจบีซี) ฝ่ายไทย มีการประชุมเป็นครั้งที่ 2 เพื่อเตรียมการสำหรับการประชุมกับฝ่ายกัมพูชาที่จะมีขึ้นในวันที่ 14 มิ.ย.2568 ทั้งนี้ ตนได้หารือและมอบนโยบายต่อนายประศาสน์ ประศาสน์วินิจฉัย ประธานคณะเจบีซีฝ่ายไทย เกี่ยวกับท่าทีของฝ่ายไทยในการไปเจรจากับกัมพูชา ซึ่งตนไม่ขอเปิดเผยรายละเอียด เพราะเป็นเรื่องที่เราต้องพูดคุยเจรจากัน แต่สิ่งที่ตนมอบนโยบายไปนั้น มีหลักการสำคัญๆ 3-4 ประการ คือ 1.ให้คณะผู้แทนฝ่ายไทยโน้มน้าวให้กัมพูชาตระหนักว่าไทยได้แก้ไขและลดความตึงเครียดในระดับพื้นที่ไปแล้วระดับหนึ่ง ซึ่งเราต้องขอขอบคุณฝ่ายทหารที่ช่วยเจรจาและสามารถลดการเผชิญหน้าระหว่างทั้ง 2 ฝ่ายได้ระดับหนึ่ง ซึ่งตรงนี้อยากให้คณะเจบีซีไทย-กัมพูชาขยายผลต่อไป โดยเราอยากเห็นพื้นที่ตรงนั้นเป็นพื้นที่ของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขได้อย่างยั่งยืนและถาวร ไม่มีการเผชิญหน้ากันอีก
นายมาริษ กล่าวอีกว่า ตนขอย้ำว่ากลไกการเจรจาของทั้ง 2 ฝ่าย มีทั้งคณะกรรมการเจบีซี, คณะกรรมการชายแดนทั่วไป (จีบีซี) และคณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค (อาร์บีซี) ซึ่งทั้งหมดมีประสิทธิภาพมากที่สุด ตนอยากเห็นกลไกเหล่านี้สามารถต่อยอดและขยายผลจากการที่ฝ่ายทหารดำเนินการลดความตึงเครียดลงได้ เพื่อให้พื้นที่ตรงนั้นมีความสงบและเกิดสันติสุข ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของไทย และสมเด็จฯ ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา เน้นย้ำมาตลอด

รมว.การต่างประเทศ กล่าวว่า 2.ต้องการให้การประชุมเจบีซีในวันที่ 14 มิ.ย.นี้ มีความชัดเจนมากขึ้นในเรื่องเส้นเขตแดน เพื่อให้ทั้ง 2 ได้มีความเข้าใจที่ชัดเจนร่วมกันในเรื่องเขตแดน และนำไปสู่การแก้ไขปัญหาเรื่องเขตแดนมีความยั่งยืน อีกทั้ง ตนได้ขอให้ประธานคณะเจบีซีฝ่ายไทยต้องยืนยันเรื่องของอธิปไตยของประเทศไทย และไม่ยอมให้ประเทศไทยเสียดินแดนโดยเด็ดขาด ทั้งนี้ ขอยืนยันว่ากลไกการเจรจา และการแก้ไขปัญหาระหว่างกัน ภายใต้กรอบของการปฏิบัติองค์การสหประชาชาติ และกฎหมายระหว่างประเทศ มีกลไกของการแก้ปัญหาในหลายวิธี แต่วิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดและนานาชาติมักขอให้ประเทศที่มีปัญหาไปเจรจากัน คือการใช้กลไกทวิภาคีมาแก้ไขปัญหาซึ่งมีประสิทธิภาพ และเหมาะสมที่สุด ดังนั้น ไทยไม่ได้ยอมรับอำนาจศาลโลกมาตั้งแต่ปี 2503 แต่จะใช้ในกรอบหารือทวิภาคีระหว่างกัน
นายมาริษ กล่าวอีกว่า ตั้งแต่เกิดปัญหาตามบริเวณชายแดน นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กระทรวงการต่างประเทศร่วมมือและบูรณาการกับกระทรวงกลาโหมในการหารือกับฝ่ายกัมพูชา ดังนั้นทั้งสองกระทรวงร่วมกันแก้ไขปัญหามาตั้งแต่ต้น เห็นได้จากการปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายทหารทำให้การใช้มาตรการทางการทูตเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกัน กลไกด้านการทูตระหว่างประเทศส่งผลให้การเจรจาของฝ่ายทหารบรรลุผลได้เป็นอย่างดี ดังนั้น เราได้ใช้กลไกที่ถูกต้องแล้วและลดความตึงเครียดในพื้นที่ที่กระทบกระทั่งกัน นอกจากนี้ กระทรวงการต่างประเทศได้ใช้มาตรการทางการทูตซึ่งเป็นไปตามหลักสากล และธรรมเนียมปฏิบัติของสากลอย่างเข้มข้น และครบถ้วน ตั้งแต่น้อยไปหามาก ได้ดำเนินมาตรการทางการทูตทุกอย่างสอดคล้องกับหลักปฏิบัติของสากล และนานาประเทศใช้กันได้อย่างสมบูรณ์
“ขอให้ประชาชนมั่นใจว่ากองทัพไทยมีศักยภาพที่จะบริหารสถานการณ์ในพื้นที่ที่มีการกระทบกระทั่งกันได้อย่างดีที่สุด และเข้มข้นมากที่สุด ขณะเดียวกันกระทรวงการต่างประเทศได้บูรณาการร่วมกับกระทรวงกลาโหม ดังนั้น การใช้นโยบายก็จะมุ่งเน้นเรื่องการส่งเสริมมาตรการการปฏิบัติด้านการทหาร และมาตรการทางการทูตสอดรับกัน ทำให้เกิดประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาระหว่างประเทศ และทำให้การใช้กลไกในการแก้ไขปัญหาแบบทวิภาคี เป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด” นายมาริษ กล่าว
เมื่อถามว่าฝ่ายกัมพูชาเดินสายพูดคุยกับนานาประเทศ ฝ่ายไทยได้ดำเนินการอะไรกับประเทศที่สามบ้าง นายมาริษ กล่าวว่า ไทยมีปฏิสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ มาตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแสดงจุดยืนและอธิบายให้ทุกประเทศเห็นข้อเท็จจริง และเข้าใจ โดยเราพยายามโน้มน้าวนานาประเทศให้เกิดความเข้าใจว่าการแก้ปัญหาของไทยจะใช้การหารือทวิภาคีในการแก้ไขปัญหาระหว่าง 2 ประเทศ ยังไม่ประสงค์ที่จะให้มีประเทศที่สามหรือองค์กรอื่นใดมาช่วยแก้ไขปัญหา
นายมาริษ กล่าวอีกว่า หลังจากการประชุมเจบีซีไทย-กัมพูชา ในวันที่ 14 มิ.ย.นี้ ตนมอบหมายให้โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ และคณะโฆษกที่ตั้งขึ้นมาเป็นผู้ให้ข้อมูลและรายละเอียดเกี่ยวกับผลลัพธ์ของการประชุมดังกล่าว รวมทั้งจะใช้โอกาสตรงนี้ขยายผลต่อไป