นายศิริเมธ ลี้ภากรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือจีพีเอสซี แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้า กลุ่ม ปตท. เปิดเผยว่า จีพีเอสซี ได้เปิดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ (ซีโอดี) โรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะ หรืออาร์ดีเอฟ  กำลังการผลิต 9.8 เมกะวัตต์ ตั้งแต่เดือนพ.ค. 64 ที่ผ่านมา โดยจีพีเอสซี เป็นผู้ลงทุน 100% มูลค่า 2,217 ล้านบาท เพื่อจำหน่ายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (พีอีเอ) ภายใต้โครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชน ในรูปแบบการให้เงินสนับสนุนตามต้นทุนที่แท้จริง หรือฟีด อินทารีฟ  ถือเป็นโครงต้นแบบ เพื่อการบริหารการจัดการขยะแบบครบวงจรแห่งแรกในพื้นที่ จ.ระยอง ที่จะตอบสนองการเติบโตภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี  

สำหรับโครงการนี้ ตั้งอยู่ในพื้นที่ติดกับศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยรวมแบบครบวงจร จ.ระยอง เพื่อรับเชื้อเพลิงอาร์ดีเอฟ  แบ่งการลงทุนเป็นโครงการโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงอาร์ดีเอฟ ประมาณ 1,655 ล้านบาท และโรงงานผลิตอาร์ดีเอฟ  ประมาณ 562 ล้านบาท โดยโรงงานผลิตอาร์ดีเอฟดังกล่าว เป็นการต่อยอดการบริหารจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพจากความร่วมมือระหว่างจีพีเอสซี และองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง (อบจ.ระยอง) ซึ่งเป็นผู้จัดการขยะจากชุมชน ครอบคลุมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในจังหวัดระยอง จำนวน 67 แห่ง ในการป้อนขยะชุมชนเข้าสู่โรงงานผลิตอาร์ดีเอฟ ด้วยกำลังการผลิตที่จีพีเอสซี สามารถนำมาคัดแยกขยะในปริมาณ 500 ตันต่อวัน หรือ 170,000 ตันต่อปี  ซึ่งเพียงพอต่อการผลิตไฟฟ้า จากปริมาณขยะชุมชนในจังหวัดระยอง ที่มีอยู่ประมาณ 1,000-1,200 ตันต่อวัน ทำให้เกิดความมั่นคงต่อการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ที่ใช้ขยะเป็นเชื้อเพลิง

นายศิริเมธ ได้ขยายความว่า โครงการโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงอาร์ดีเอฟแห่งนี้ ถือเป็นโมเดลของการบริหารจัดการขยะครบวงจรแห่งแรก ใน จ.ระยอง ที่นำมาสู่การต่อยอดและแก้ไขปัญหาขยะของชุมชนใน จ.ระยอง อย่างแท้จริง สามารถลดพื้นที่ฝังกลบขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเริ่มใช้เทคโนโลยีเตาเผาไหม้แบบตะกรับเคลื่อนที่  ที่มีอุณหภูมิ 850-1,100 องศาเซลเซียส และลำเลียงขยะอาร์เอฟ  ด้วยสายพานด้วยระบบปิด ติดตั้งเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศแบบต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง และรายงานป้ายแสดงผลคุณภาพสิ่งแวดล้อม บริเวณด้านหน้าโรงงาน เพื่อให้เกิดความมั่นใจกับหน่วยงานต่างๆ และชุมชนโดยรอบ ว่าการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้

“การบริหารจัดการขยะที่ดีที่สุด เราต้องทำขยะให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด รวมทั้งแยกประเภทขยะให้ดี บริหารจัดการให้มีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด กระบวนการผลิต ก่อนแปลงขยะ ไปเป็นพลังงาน ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรืออบจ. จะเป็นผู้รวบรวมขยะทั้งจังหวัดระยอง แล้วส่งมาที่โรงงาน อันดับแรก ต้องคัดแยกขยะ ที่สามารถป้อนไปเป็นเชื้อเพลิง และไม่สามารถป้อนเป็นเชื้อเพลิงได้ หลังจากนั้นทำการตัดขยะที่ป้อนเป็นเชื้อเพลิงได้ ในขนาดที่เหมาะสม เพื่อให้อุณหภูมิคงที่สม่ำเสมอ จากนั้นจะได้ความร้อน แล้วนำไปต้มน้ำ เป็นไอน้ำแล้วจะเข้าไปปั่นกังหันไอน้ำ ต่อกับตัวปั่นไฟ โดยพลังงานไฟฟ้าที่ได้จะส่งตรงไปยังการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือพีอีเอ ซึ่งกระบวนการต่างๆ ไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่เช่นนั้น คงเกิดขึ้นจำนวนมากแล้ว แต่ในไทยมีน้อยมาก เพราะการบริหารจัดการขยะ เป็นเรื่องที่คอนโทรลได้ยาก” นายศิริเมธ กล่าว

อย่างไรก็ตามการพัฒนานวัตกรรมพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจที่สำคัญของบริษัทฯ  สอดคล้องกับแนวทางพัฒนาธุรกิจสู่ความยั่งยืน โดยตระหนักถึงความสำคัญด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) อย่างจริงจัง เพื่อสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อันจะเป็นรากฐานสู่เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของบริษัทฯ ที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทยและสหประชาชาติ  ในการพัฒนาระบบไฟฟ้า ส่งมอบพลังงานสะอาดให้กับชุมชนและสังคม นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิต เพื่อการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีความยั่งยืนต่อไป นายศิริเมธ กล่าวปิดท้าย