เมื่อวันที่ 13 ก.ค. ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) วงเงิน 440.97 ล้านบาท ให้สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม (สป.กห.) เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ระยะที่ 7 (1 มี.ค. 2564 – 31 พ.ค. 2564) สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการพื้นที่กักกันโรคแห่งรัฐ (State Quarantine) ในส่วนของสถานที่เอกชน ตามที่กระทรวงกลาโหม (กห.) เสนอ โดยกระทรวงกลาโหม รายงานว่า

กระทรวงกลาโหมและกระทรวงมหาดไทยได้ร่วมกันจัดสถานที่ พื้นที่สำหรับสังเกตอาการเพื่อใช้ในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 7 มี.ค. 2563 – 28 ก.พ. 2564 กลาโหมได้ใช้สถานที่ราชการ จำนวน 2 แห่ง และโรงแรมเอกชน จำนวน 25 แห่ง รองรับผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศและเข้ารับการกักกันตัวในพื้นที่ดังกล่าวแล้ว จำนวน 113,168 คน

ทั้งนี้ ปัจจุบันกระทรวงกลาโหมยังคงดำเนินการจัดทำพื้นที่กักกันโรคแห่งรัฐสำหรับผู้ที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยในวันที่ 1 มี.ค. – 30 เม.ย. 2564 มีผู้เข้าพักในพื้นที่กักกันโรคแห่งรัฐ จำนวน 15,903 คน และในวันที่ 1 – 31 พ.ค. 2564 สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมได้แจ้งประมาณการจำนวนคนไทยในต่างประเทศที่มีความประสงค์เดินทางกลับประเทศไทยทางอากาศ จำนวน 10,000 คน ซึ่งอาจมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โดยได้จัดทำประมาณการค่าใช้จ่ายในการจัดทำพื้นที่กักกันโรคแห่งรัฐสำหรับผู้ที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ ในวันที่ 1 มี.ค. – 31 พ.ค. 2564 จำนวน 25,903 คน วงเงิน 528.53 ล้านบาท ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข ได้พิจารณาค่าใช้จ่ายดังกล่าวแล้วเห็นว่า ค่าใช้จ่ายดังกล่าวเป็นไปตามที่ขอตกลงกับกรมบัญชีกลาง

อย่างไรก็ตาม สำนักงบประมาณแจ้งว่า นายกรัฐมนตรีเห็นชอบให้ กระทรวงกลาโหมใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาฯ วงเงิน 440.97 ล้านบาท (ลดลงจากที่ประมาณการไว้ 87.56 ล้านบาท) เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ระยะที่ 7 (1 มี.ค. – 31 พ.ค.2564)

สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการจัดทำพื้นที่กักกันโรคแห่งรัฐ จำนวน 22,514 คน (ลดลงจากที่ประมาณการไว้ 3,389 คน) โดยให้เบิกจ่ายในงบดำเนินงาน ประกอบด้วย ค่าตอบแทนบุคลากร วงเงิน 17.49 ล้านบาท ค่าเช่าที่พักและค่าอาหารของเจ้าหน้าที่ วงเงิน 46.23 ล้านบาท ค่าเช่าที่พักและค่าอาหารของผู้ถูกกักกันโรค วงเงิน 371.18 ล้านบาท ค่าวัสดุการแพทย์ วงเงิน 0.33 ล้านบาท ค่าจ้างเหมา วงเงิน 3.91 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายยานพาหนะในภารกิจโควิด 19 วงเงิน 1.83 ล้านบาท รวม 440.97 ล้านบาท.