เมื่อวันที่ 27 พ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พื้นที่บริเวณ จ.นคราชสีมา ซึ่งในปัจจุบันปรากฏร่องรอยและหลักฐานแสดงว่ามีพัฒนาการของชุมชนโบราณมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เมื่อราว 3,000-4,000 ปีมาแล้ว โดยมีหลักฐานที่บริเวณเขาจันทน์งาม อ.สีคิ้ว มีภาพเขียนสีที่โขดหินแสดงการดำเนินชีวิตของคนในยุคโบราณ นอกจากนี้ยังมีการขุดค้นทางโบราณคดีพบหลักฐาน การตั้งถิ่นฐานของชุมชนเกษตรกรรมที่เก่าแก่ที่สุดของเมืองนครราชสีมา เมื่อประมาณ 3,000 ปีมาแล้ว ที่บ้านธารปราสาท อ.โนนสูง และพบหินตั้งเป็นรูปวงกลมที่บ้านหินตั้ง อ.สูงเนิน ซึ่งนักโบราณคดีสันนิษฐานว่า เป็นวัฒนธรรมหินใหญ่รุ่นใหม่ เชื่อว่าเป็นศาสนสถานหรือหลักเขตแสดงอาณาเขตของเมือง

วันนี้จะขอพาไปชมร่องรอยของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์อีกแห่งหนึ่งใน จ.นครราชสีมา ผ่าน “ภาพเขียนสี” หรือ “ศิลปะบนผนังถ้ำ” บริเวณเพิงผนังผาของวัดเขาจันทน์งาม ต.ลาดบัวขาว อ.สีคิ้ว โดยภาพเขียนสีเขาจันทน์งามเป็นแหล่งศิลปะถ้ำยุคก่อนประวัติศาสตร์เพียงแห่งเดียวใน จ.นครราชสีมา เท่าที่พบในปัจจุบันมีอายุอยู่ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย มีการสันนิษฐานว่าบริเวณนี้น่าจะเคยเป็นที่อยู่ของคนยุคโบราณ เนื่องจากเป็นมีลักษณะเป็นร่องเขา มีเพิงหินที่หลบแดดหลบฝนได้ โดยมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์มีวิถีชีวิตแบบร่อนเร่หาอาหาร เก็บของป่า ล่าสัตว์ และอาศัยถ้ำเพิงผา หรือใกล้แหล่งน้ำเป็นที่พักพิง ร่องรอยหลักฐานของมนุษย์ยุคนั้นจึงมักปรากฏในถ้ำ

โดยที่วัดเขาจันทน์งาม จะแบ่งพื้นที่ไว้หลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นส่วนสำนักสงฆ์ ส่วนปฏิบัติธรรม และส่วนการเรียนรู้ ซึ่งเมื่อเดินเข้ามาตามทางเรื่อย ๆ จะพบกับป้ายบอกทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ รวมถึงจุดชมภาพเขียนสีโบราณอายุ 4,000 ปี ซึ่งระหว่างทางเดิน จะมีต้นไม้มากมายที่อยู่ในบริเวณวัด ซึ่งแต่ละต้นนั้นจะมีข้อมูล ชื่อต้นไม้ ชื่อทางวิทยาศาสตร์ อายุต้นไม้ บ่งชี้อยู่ นักท่องเที่ยวที่เข้ามาเยี่ยมชม สามารถศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมจากที่นี่ได้ เมื่อขึ้นมาจนถึงบริเวณถ้ำโบราณจะพบกับภาพเขียนสีโบราณอายุกว่า 4,000 ปี จากลักษณะทางกายภาพ ภาพเขียนสีนี้ ถูกเขียนด้วยสีคล้ายสีแดง วาดอยู่ที่ผนังหินขนาดใหญ่ โดยบางรูปยังสมบูรณ์ และบางรูปเริ่มเลือนรางหายไปบ้างแล้ว แต่รูปที่ยังสมบูรณ์พอจะสังเกตได้ ก็จะเป็นรูปคนกำลังยิงธนู รูปสัตว์คล้ายกับสุนัข รูปเด็กนั่งเล่นกัน รูปผู้ใหญ่ถือไม้เท้า และรูปคนหลายคนเต้นรำหรือประกอบพิธีกรรม

ทั้งนี้แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมของคนในยุคสมัยนั้น ผ่านรูปวาด ว่ามนุษย์ในยุคโบราณนั้นมีสังคม มีการอาศัยกันแบบเป็นกลุ่ม มีครอบครัว มีการล่าสัตว์ หรืออาจจะมีสัตว์เลี้ยง และที่สำคัญคือ คนในยุคสมัยนั้นสามารถเรียนรู้การใช้วัสดุบางอย่าง บันทึกเรื่องราวของยุคสมัยผ่านการวาดรูปได้ ซึ่งการเดินทางจากตัวเมืองนครราชสีมาไปตามถนนมิตรภาพ (ทางหลวงหมายเลข 2) มุ่งหน้าไปทางกรุงเทพฯ ถึงหลักกิโลเมตรที่ 197-198 เลี้ยวเข้าทางแยกซ้ายมือ (สังเกตซุ้มประตูวัดเลิศสวัสดิ์) เป็นถนนลาดยางเข้าไปประมาณ 4 กม. ก็จะถึงตัววัดดังกล่าว.