ต้นตะแบก ปลูกในบ้าน ดี หรือ ไม่ ที่ต้องเริ่มด้วยประโยคนี้ เพราะมีความเชื่อด้วยชื่อของต้นตะแบก มี คำว่า “แบก” ก็เลยตีความกันว่า ถ้าปลูกไว้ในบ้านจะต้อง แบก ทุกอย่างรับภาระทุกอย่าง ถ้าแบบนั้น เรามาทำความรู้จัก ต้นตะแบก กันก่อนดีไหมครับว่า ต้นไม้ชนิดนี้เป็นยังไง ดีแบบไหน ไม่ดีแบบไหน

ต้นตะแบก ในแต่ละที่เรียกกัน หลายชื่อ แลนไห้ (เชียงใหม่), เปลือยดง (นครราชสีมา), อ้าย (สุราษฎร์ธานี), ตะแบก ตะแบกใหญ่ ตะแบกหนัง (ภาคกลาง) เป็นไม้ยืนตั้งท้องถิ่นของเอเชีย ในประเทศไทยพบตะแบกได้ในทุกภาค พบได้ตามป่าดงดิบ จัดเป็นไม้ยืนต้นประเภทผลัดใบ โตเร็ว ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูงได้ถึง 15-30 เมตร ลำต้นแตกกิ่งแขนงบนเรือนยอด มีทรงพุ่มเป็นรูประฆัง มีทรงพุ่มใหญ่กว้าง ทรงพุ่มหนา ทำให้เป็นร่มเงาที่ได้ดี

ต้นตะแบก จะ เริ่มผลัดใบในช่วงเดือนกันยายน – เมษายน พร้อมกับแตกใบใหม่ควบคู่กันไปตั้งแต่ ธันวาคม – พฤษภาคม และ เริ่มออกดอก ในช่วงเดือนมีนาคม – พฤษภาคม เมื่อดอกสีม่วงหรือม่วงอมชมพู หรือสีขาวบานจะมีช่อดอกใหญ่ แลดูสวยงาม

เนื้อไม้ตะแบกมีสีน้ำตาลอมเทา เนื้อไม้แข็งแรง ไม่มีเสี้ยน นิยมแปรรูปเป็นไม้ก่อสร้าง ท่อนไม้ตะแบกใช้เผาถ่าน ให้ก้อนถ่านที่แข็ง ถ่านให้ความร้อนสูง และยังมีสรรพคุณทางยา ในส่วนอื่น เช่น ดอก นำมาต้มดื่ม แก้ท้องเสีย ช่วยบำรุงเลือด บำรุงร่างกาย เปลือก และแก่นลำต้น นำมาต้มดื่มเช่นกัน บรรเทาอาการไข้หวัด แก้มูกเลือด ช่วยบรรเทาอาการท้องเสีย ท้องร่วง แก้โรคบิด ช่วยแก้พิษ แก้ลงแดง แก้พิษสารเสพติด ส่วนราก ยังช่วย แก้อาการปวดเมื่อยร่างกาย

ตามความเชื่อแต่โบราณมีข้อมูลว่า ต้นตะแบกเป็นไม้ประดับ และไม้มงคล เชื่อว่าเป็นไม้ที่ช่วยค้ำจุนครอบครัวให้ร่มเย็นเป็นสุข ดั่งคำเรียกว่า ตะแบก คือ การแบกรับไม่ให้ตกต่ำ เป็นความหมายทางด้านบวก ไม่ได้มีความหมายทางด้าน ลบ

เราได้รู้จัก ต้นตะแบกกันไปแล้ว ให้เป็นโยชน์ ทั้งให้ร่มเงา ออกดอกตามฤดูกาล เป็นไม้ดักฝุ่นชั้นดี ส่วนต่างๆของต้นยังเป็นยา และ ชื่อ “ตะแบก” ยังมีความหมายตามชื่อในด้าน บวกสิ่งดี อาจจะมีโทษบ้าง ในด้านการเจริญเติบโตที่เร็ว ทำให้เราต้องตัดแต่งบ่อยหน่อย ถ้าปลูกในบ้านแนะนำให้ตัดแต่งปีละครั้ง เพราะจะได้ลดโอกาส การล้มในฤดูพายุฝน ซึ่งก็เหมือนกับต้นไม้ยืนต้นทั่วไป รู้ข้อมูลแบบนี้แล้ว ลองพิจารณา ต้นตะแบก กันนะครับ ว่าปลูกในบ้าน ดี หรือ ไม่

………………………………….
คอลัมน์ “มหัศจรรย์พรรณไม้”
เขียนโดย เอกลักษณ์ ถนัดสวน