กลายเป็นปัญหาที่ผุดขึ้นอย่างกับ” ดอกเห็ด” แทบทุกพื้นที่ของประเทศไทย กับหลากหลาย “ปัญหาออนไลน์” โดยเฉพาะ เรื่อง การซื้อสินค้าออนไลน์!?!

ไม่ว่าจะเป็นการถูกหลอกลวง โอนเงินแล้วไม่ได้ของ หรือได้ของไม่ตรงปก ของชำรุดบ้าง ฯลฯ

 ส่วนหนึ่งที่ทำให้ปัญหาซื้อขายออนไลน์เพิ่มสูงขึ้นมาก เนื่องจากในช่วงโควิด-19 ระบาด ระยะเวลาเกือบสองปีที่ผ่านมา ไทยมีการล็อคดาวน์ ปิดร้านค้า และห้างสรรพสินค้า ทำให้คนหันมาสั่งซื้อสินค้าออนไลน์มากยิ่งขึ้น ประกอบกับมีคนตกงาน ถูกเลิกจ้าง ถูกลดเงินเดือน จึงหันมาหารายได้ด้วยการขายของออนไลน์ หาเงินเลี้ยงชีพในยุค “เศรษฐกิจตกสะเก็ด”แบบนี้

นอกจากนี้การที่คนไทยเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมีการใช้ “ชีวิตดิจิทัล” มากยิ่งขึ้น ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัย ให้เรื่องเหล่านี้มีสถิติพุ่งสูงขึ้น

ข้อมูลจาก ศูนย์ 1212 OCC สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ เอ็ตด้า ระบุว่า  หลังจัดตั้งศูนย์ฯมาตั้งแต่ปี 58 ซึ่งในช่วงแรกของการเปิดให้บริการ มีผู้บริโภคร้องเรียน จำนวน 2,524 ครั้ง ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับ เว็บไซต์ผิดกฎหมายหรือเนื้อหาไม่เหมาะสมและปัญหาซื้อขายออนไลน์ และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องถึงเกือบ 2,000% ในปี 64 นี้

ภาพ pixabay.com

โดยตั้งแต่ต้นปี 64  ถึงปัจจุบัน ได้รับเรื่องร้องเรียนแล้วกว่า 49,996 ครั้ง โดยประเด็นที่ถูกร้องเรียนเข้ามามากที่สุด คือ ปัญหาการซื้อขายของทางออนไลน์  67.11 % รองลงมาคือ ปัญหาเว็บไซต์ผิดกฎหมาย 23.06 %

 ซึ่งปัญหาการซื้อขายของทางออนไลน์ที่ได้รับการร้องเข้ามาส่วนใหญ่มักเป็นปัญหาการสั่งซื้อสินค้าแล้ว ไม่ได้รับสินค้า หรือ ได้รับสินค้าไม่ตรงตามที่สั่งไว้ หรือ เรียกกันติดปากว่า  “ของไม่ตรงปก”มากถึง 47% รองลงมา คือ  สินค้าไม่ได้มาตรฐานตามที่โฆษณา 29% เป็นต้น

ด้วยปัญหาที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ มอบหมายให้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอีเอส) และ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เร่งแก้ปัญหาเหล่านี้ให้ลดน้อยลง!!

ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์

“ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์” รมว. ดีอีเอส บอกว่า ทุกวันนี้เทคโนโลยีเปลี่ยนไป ทุกคนเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ใช้ติดต่อสื่อสาร ทำธุรกรรมออนไลน์อย่างสะดวกสบาย ซึ่งการใช้โซเซียลมีเดียมีการเปิดกว้าง ไม่ได้มีการกำกับเข้มงวดมาก เพราะต้องการให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการสื่อสาร และรัฐบาลได้ส่งเสริมการทำธุรกรรมทางออนไลน์ เช่นเรื่อง “พร้อมเพย์” ที่เกิดในรัฐบาลชุดนี้ ทำให้การโอนเงินชำระเงินทำได้อย่างง่าย สะดวก

 แต่ก็มีมิจฉาชีพ อาศัยช่องทางต่างๆในการหลอกหลวงประชาชน ในรูปแบบต่างๆ เช่น อีเมล์ และ เอสเอ็มเอสหลอกลวง หรือการหลอกขายของออนไลน์ โดยเฉพาะในโซเซียลมีเดียที่ไม่มีการยืนยันตัวตน  และกฎหมายยังมีช่องโหว่ โดยเฉพาะเรื่องการรับจ้างเปิดบัญชีให้กับพวกมิจฉาชีพ หรือเรียกว่า “บัญชีม้า”

แล้วมีการโอนเงินต่อๆกันไปยังมิจฉาชีพ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ในกระบวนการหลอกหลวงออนไลน์ ฉ้อโกงประชาชนแพร่หลายมากขึ้น จึงถึงเวลาที่รัฐบาลจะมีการปรับการทำงานให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง ของเทคโนโลยีและวีถีชีวิตของประชาชน จึงมีการยกระดับการทำงานของ ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนปัญหาออนไลน์ 1212 OCC” สู่ “ศูนย์ช่วยเหลือและจัดการปัญหาออนไลน์”

“ปัญหาทุกวันนี้ไม่ใช่แค่เรื่องร้องเรียน แต่กลายเป็นปัญหาอาชญากรรมและมิจฉาชีพ ที่ทำเป็นขบวนการ และเครือข่ายที่ทำเป็นระบบ จะให้แต่ตำรวจตามจับก็ทำไม่ไหว เพราะมีเป็นแสนๆคดี บางคดีมิจฉาชีพอยู่ในต่างประเทศ การจับกุมดำเนินคดีตามกฎหมายก็ยากขึ้น เรื่องการจะได้เงินคืนก็เป็นเรื่องยากเช่นกัน จึงมีหลายอย่างที่ต้องปรับปรุง กระบวนการทำงานของภาครัฐและเจ้าหน้าที่ให้รวดเร็วและมีอำนาจในการแก้ปัญหามากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้อง ผลักดันต่อไป เช่นเรื่อง  บัญชีม้า หรือรับจ้างเปิดบัญชี ต้องมีการแก้กฎหมายให้มีโทษมากขึ้น เพื่อให้เรื่องนี้ลดน้องลง”

ภาพ pixabay.com

ทั้งนี้การยกระดับขึ้นเป็น “ศูนย์ช่วยเหลือและจัดการปัญหาออนไลน์” จะครอบคลุมการทำงาน แก้ไข ปัญหาเพิ่มขึ้น ทั้งเรื่อง ปัญหาการฉ้อโกง เว็บไซต์ผิดกฎหมาย และแชร์ลูกโซ่ พร้อมบูรณาการการทำงาน ร่วมกับ หน่วยงานต่างๆ ให้มากขึ้น ทั้งในส่วนของภาครัฐ คือ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี  และศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่จะทำให้การดำเนินคดี กับผู้กระทำผิดได้เร็วขึ้น!!

ส่วนภาคเอกชน จะมีการทำงานร่วมกับบริษัทที่เป็นเจ้าของแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ เช่น เพซบุ๊ก อินสตาแกรม กูเกิล และยูทูบ ฯลฯ  ขณะที่ภาคประชาสังคม คือ สภาองค์กรของผู้บริโภค   และจะมีการจัดตั้ง คณะกรรมการ ป้องกันและจัดการปัญหาและข้อร้องเรียนหรือภัยที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมทางออนไลน์บูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานของรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การป้องกัน จัดการ และแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียนมีประสิทธิภาพมากที่สุด

นอกจากนี้จะนำเครื่องมือ  Social Listening มาช่วยวิเคราะห์ประเด็นจากฝั่งผู้บริโภคผ่านออนไลน์ เพื่อเป็นการเฝ้าระวังปัญหา รับรู้ถึงความเคลื่อนไหวของปัญหาที่เกิดขึ้น ผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ 

พร้อมขยายช่องทางการรับแจ้งเรื่อง ผ่านช่องทาง ไลน์ และสำนักงานสถิติจังหวัด เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนได้มีจุดรับเรื่องร้องเรียนเพิ่มขึ้น รวมถึงการพัฒนาสื่อในรูปแบบต่างๆ เพื่อเผยแพร่ความรู้ แนวทางการระวังภัยคุกคาม เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจกับภัยออนไลน์กับกลุ่มเป้าหมาย ที่ถือเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยง รวมถึงประชาชนในวงกว้างเพิ่มมากขึ้น

หากใครที่ทำ ธุรกรรมออนไลน์แล้ว เกิดปัญหา ถูกโกง หลอกลวง อย่านิ่งนอนใจ!… หากต้องการ แก้ปัญหาอย่างทันท่วงที!!

 สามารถแจ้งเรื่องร้องเรียนหรือ ขอคำปรึกษาเข้ามาได้ที่ ศูนย์ช่วยเหลือและจัดการปัญหาออนไลน์ เบอร์ 1212 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง!!

 จิราวัฒน์ จารุพันธ์