เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดเสวนาวิชาการสำหรับสื่อมวลชน ในหัวข้อ “ปรากฏการณ์ ‘ม็อบปฏิรูป’ กับขอบเขตการรายงานข่าวของสื่อมวลชน” โดยมีวิทยากรประกอบด้วยนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ น.ส.พรรษาสิริ กุหลาบ อาจารย์ประจำภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายพีระวัฒน์ โชติธรรมโม นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และนายทัศไนย ไชยแขวง อุปนายกฝ่ายต่างประเทศ สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ตัวแทนจากสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ เข้าร่วม

โดยนายวสันต์ กล่าวว่า สิทธิเสรีภาพในการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนต้องได้อยู่ภายใต้กฎหมายที่มีอยู่ ถ้ายังมีกฎหมายสื่อก็ยังตองยึดหลักกฎหมายเป็นสำคัญ ตราบใดที่กฎหมายบัญญัติไว้การกระทำผิดก็ยังมีอยู่ ต้องยึดหลักกฎหมายเป็นตัวแม่ ในการนำเสนอข่าวต้องไม่ก้าวล่วงกฎหมาย และต้องมีศาสตร์และศิลป์เพื่อนำเสนอให้ประชาชนได้รับรู้โดยไม่กระทบเส้นแบ่งหรือละเมิดกฎหมายข้อนั้น ในการนำเสนอข่าว 90 เปอร์เซ็นต์ก็นำเสนอไป แต่ 10 เปอร์เซ็นต์ที่นำเสนอไม่ได้ก็ให้ยกเว้นไว้ ไม่เช่นนั้นก็อาจไม่ได้นำเสนอข่าวนั้นเลย

นายวสันต์ ยังกล่าวถึงการนำเสนอข่าวข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุม 10 ข้อสื่อมวลชนสามารถทำได้หรือไม่ว่า ในเบื้องต้นในทางหลักวิชาสื่อสารมวลชนเสนอข่าวใครทำอะไร ที่ไหนอย่างไร เรานำเสนอได้ว่าคนมีความคิดแบบนี้ แต่ต้องดูว่าการนำเสนอข้อความที่เขาเรียกร้องมีรายละเอียดที่จะไปจาบจ้วงลวงละเมิดหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้สามารถใช้สามัญสำนึกไตร่ตรองดูได้ในเรื่องการใช้ถ้อยคำ การเรียกร้องในแต่ละข้อ ถ้าจาบจ้างล่วงละเมิดก็ต้องรู้จักตัดออก การใช้ถ้อยคำหรือนำเสนอข้อมูลที่มันอาจกระทบอย่างรุนแรง เช่น การเสนอลดงบประมาณของสถาบันฯ ทำได้หรือไม่นั้น ก็บอกว่าลดงบประมาณในส่วนนี้ลง แต่อย่าไปลงในรายละเอียดที่สุ่มเสี่ยง

“เราควรตีกรอบเราเอง รายละเอียดที่สุ่มเสี่ยงอย่าไปลง ยกตัวอย่าง การตัดสินมันประกอบด้วยหลายการกระทำ ศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน ประกอบหลายการกระทำที่เอามาประกอบกัน ถ้าลำเพียงการกระทำเพียงอันหนึ่งอันเดียวอาจไม่เข้าข่าย แต่หลายการกรทำต่อเนื่อง แสดงพฤติกรรมหลายอย่างประกอบกันพอมองเห็นเจตนาได้ว่าคิดอะไรอยู่ แต่ถ้าทำเพียงอย่างเดียว กลับบ้านไป วันหลังไม่มาร่วม มันคงไม่เข้าข่าย ดูองค์ประกอบหลายๆ อย่าง กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนาว่าคนที่ทำเรื่องซ้ำซากคิดอะไรอยู่ สื่อเสนอข่าวได้เต็มที่ แต่ต้องระมัดระวังในเรื่องการใช้ถ้อยคำ แต่รายละเอียดอย่างไปลงลึกนัก เช่น เสนอว่าบนเวทีมีการจ้วงจาบล่วงละเมิด คนที่อยากรู้เดี๋ยวก็ไปหาดูในโซเชียลเอง สื่อไม่จำเป็นต้องไปนำเสนอ ถ้านำเสนอก็เท่ากับเราด่าซ้ำ ซึ่งเป็นเรื่องที่สื่อชอบ” นายวสันต์กล่าว

ด้านนายทัศไนย กล่าวว่า สิ่งที่เรามองว่าเป็นพฤติกรรมล้มล้างการปกครองตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แต่สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่ได้รับการบัญญัติไว้ ซึ่งในเรื่องการเสนอข่าวของสื่อมวลชนสามารถทำได้หรือไม่ นั้นรัฐธรรมนูญก็ได้บัญญัติไว้ในเรื่องสิทธิเสรีภาพ แต่บทบัญญัติที่เป็นความผิดก็มีการบัญญัติไว้ เช่นกัน ทั้งในเรื่องหมิ่นประมาท หรือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ดังนั้นในการนำเสนอข่าวก็ดูตามกรอบที่มี ซึ่งสิทธิมีตามรัฐธรรมนูญ แต่ก็ต้องดูว่าเป็นการว่าเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริตหรือไม่ วันนี้เราก็ต้องยึดหลักตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไว้ ส่วนการสื่อสารตนมองว่าสามารถสื่อสารได้ตามกรอบของรัฐธรรมนูญ ถ้าไม่ละเมิดหรือหมิ่นประมาทคนอื่น ในทางวิชาการมองว่าสามารถทำได้

นายทัศไนย ยังกล่าวต่อว่า ไม่อยากให้มองว่าข้อห้ามในการนำเสนอข่าว แต่ให้มองคล้ายความเชื่อศาสนาจะทำให้มองภาพการเสนอข่าวแบบนี้ได้ดียิ่งขึ้น ถ้าเรามองว่าแตะต้องไม่ได้ บางข่าวบางกิจกรรมกฎหมายก็บัญญัติไว้แล้ว เช่น การประท้วงเรียกร้องสามารถทำหน้าที่สื่อสารมวลชน ในเรื่องสิทธิการรับรู้ข่าวสารได้ ไม่น่าจะมีความผิดอื่นได้ เพราะเรานำเสนอข้อเท็จจริงให้ประชาชนได้ทราบ ซึ่งการใส่รายละเอียดก็สามารถทำได้ ไม่อยากให้มองเป็นเรื่องต้องห้าม แต่มองเป็นเรื่องอ่อนไหวเหมือนเป็นเรื่องความเชื่อศาสนา แต่ไม่ต้องใส่รายละเอียดมากนัก

น.ส.พรรษาสิริ กล่าวต่อว่า ถ้าเรามองว่ากฎหมายเป็นอำนาจหนึ่งในสังคมประชาธิปไตย มันก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ถ้าสื่อรู้สึกว่ากฎหมายเป็นปัญหาในการทำงาน ทำให้อึดอัด ไม่สามารถถ่ายทอดบางเรื่องที่สำคัญไปยังประชาชนได้ เราก็ต้องทบทวนบรรยากาศของสังคมและกฎหมายที่เป็นปัญหา ส่วนข้อเรียกร้อง 10 ข้อจะรายงานอย่างไรดี ต้องถามว่าทำไมประชาชนต้องเข้าใจปรากฏการณ์นี้ จะทำให้เราคลี่คลายความขัดแย้งในสังคมได้อย่างไร การรายงานข่าวจึงต้องอยู่บนข้อเท็จจริงของทั้ง 2 ฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นคำวินิจฉัยของศาล หรือข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม ประชาชนต้องรู้อะไร ไม่ใช่การรายงานชอตเดียวแล้วจบ ข้อมูลที่ประชาชนต้องรู้เพื่อนำไปตัดสินใจและเพื่อคลี่คลายให้ผ่านจุดนี้ไปได้อย่างไร โดยไม่ละเมิดสิทธิและคุกคามห้ามหั่นกัน

น.ส.พรรษาสิริ ยังได้ตอบคำถาม สื่อกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ส่งหนังสือเตือนสื่อ เป็นการแทรกแซงสื่อหรือไม่ ว่า เรื่องนี้คงต้องถามสื่อเองว่า รู้สึกว่าเป็นการแทรกแซงหรือไม่ แต่ถ้ามองในมุมมองวิชาการ ต้องถือว่าเป็นการแทรกแซงเต็มๆ เพราะเป็นการกระทำที่ทำให้เกิดความไม่ชัดเจนและความกลัว กระทบกับสื่อโดยตรง สื่อไม่สามารถรายงานข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมาได้ อย่างไรก็มองว่าการที่ กสทช.ออกข้อกำหนดเตือนสื่อในเรื่องการนำเสนอข่าวข้อเรียกร้อง 10 ข้อ ในทางวิชาการมองว่าเป็นการแทรกแซงสื่อโดยตรง ซึ่งสื่อสามารถรายงานข่าวได้ตามข้อเท็จจริง ซึ่งเขาก็ไม่ได้ทำอะไรผิด และผลที่ออกมาก็เพื่อให้สิ้นกระแสความ”

ด้านนายพีระวัฒน์ กล่าวว่า ตนคิดว่าสื่อหลักคือสื่อที่ทำหน้าที่โดยยึดถือวิชาชีพ ประชาชนเลือกเสพสื่อบนแพลตฟอร์มไหนก็ได้ แต่ประชาชนเลือกเสพสื่อในที่ทำหน้าที่โดยยึดวิชาชีพ การนำเสนอข่าว เราจะระมัดระวัง และใช้ดุลพินิจและวิชาชีพนำเสนอเล่าให้ฉลาดเพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลต่าง ๆ ศาสตร์และศิลป์ในการนำเสนอข่าวจึงเป็นสิ่งสำคัญ สื่อไม่ได้เซ็นเซอร์ตัวเองทั้งหมด แต่กำลังทำงานภายใต้เงื่อนไขความขัดแย้ง และจุดเปลี่ยนผ่านทางสังคม ต้องระมัดระวังและประคับประคองทำหน้าที่ของตัวเองดีที่สุด.