พลันที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ส่งสัญญาณชัดเจนการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) จะเกิดขึ้นไม่เกิน ช่วงกลางปี 2565

ส่งผลให้เสียงปี่กลองการเมืองในสนามเลือกตั้งเมืองหลวงคึกคักขึ้นอย่างทันตา ว่าที่ผู้สมัครทั้งในนามพรรคการเมืองและในนามอิสระทยอยเปิดตัวท้าชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. ที่มีอำนาจเต็มสองมือคุมงบประมาณเมืองหลวง 8 หมื่นล้านบาท

สำหรับภารกิจของผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ จะยึดโยงกับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 หมวด 5 มาตรา 89 ที่ให้อำนาจ/หน้าที่บริหารกรุงเทพฯ ให้มีความเจริญก้าวหน้าในด้านต่างๆ มากถึง 27 ภารกิจ

(1) การรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน ตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร
(2) การทะเบียนตามที่กฎหมายกำหนด
(3) การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
(4) การรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง
(5) การผังเมือง
(6) การจัดให้มีและบำรุงรักษาทางบก ทางน้ำ และทางระบายน้ำ
(7) การวิศวกรรมจราจร
(8) การขนส่ง
(9) การจัดให้มีและควบคุมตลาด ท่าเทียบเรือ ท่าข้ามและที่จอดรถ

(10) การดูแลรักษาที่สาธารณะ
(11) การควบคุมอาคาร
(12) การปรับปรุงแหล่งชุมชนแออัดและจัดการเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย
(13) การจัดให้มีและบำรุงรักษาสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ
(14) การพัฒนาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
(15) การสาธารณูปโภค
(16) การสาธารณสุข การอนามัยครอบครัว และการรักษาพยาบาล
(17) การจัดให้มีและควบคุมสุสานและฌาปนสถาน
(18) การควบคุมการเลี้ยงสัตว์

(19) การจัดให้มีและควบคุมการฆ่าสัตว์
(20) การควบคุมความปลอดภัย ความเป็นระเบียบเรียบร้อยและการอนามัยในโรงมหรสพ และสาธารณสถานอื่น ๆ
(21) การจัดการศึกษา
(22) การสาธารณูปการ
(23) การสังคมสงเคราะห์
(24) การส่งเสริมการกีฬา
(25) การส่งเสริมการประกอบอาชีพ
(26) การพาณิชย์ของกรุงเทพมหานคร
(27) หน้าที่อื่น ๆ ตามที่กฎหมายระบุให้เป็นอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ เทศบาลนคร หรือตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) นายกรัฐมนตรี หรือ รมว.มหาดไทยมอบหมาย หรือที่กฎหมายระบุเป็นหน้าที่ของกรุงเทพมหานคร

จากการตรวจสอบรายชื่อแคนดิเดตผู้ว่าฯ กทม. หลายคนมีโปรไฟล์ที่น่าสนใจ ในการเข้ามาขับเคลื่อน 27 ภารกิจเมืองหลวงประเทศ

(1) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครในนามอิสระ ไม่สังกัดพรรคการเมือง เกิดวันที่ 24 พ.ค. 2509 (อายุ 55 ปี) อดีต รมว.คมนาคมในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เจ้าของฉายา บุรุษที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี

จบการศึกษา สูงสุดระดับปริญญาเอก วิศวกรรมโยธา (โครงสร้าง) มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ เออร์แบนา-แชมเปญจน์ ประเทศสหรัฐอเมริกา มีประสบการณ์ทำงาน วิศวกรโครงสร้างในบริษัทเอกชน, อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ที่ปรึกษากระทรวงคมนาคมในสมัยรัฐบาลทักษิณ 2 ก่อนก้าวขึ้นสู่เก้าอี้ รมว.คมนาคม สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์

นายชัชชาติ ประกาศเปิดตัวท้าชิงเก้าอี้พ่อเมือง กทม. ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2562 และเดินสายลงพื้นที่ กทม.อยางต่อเนื่อง โดยมีนโยบายหาเสียง “สร้างกรุงเทพฯ ที่ดีกว่าเดิม”

“จุดแข็ง” ของนายชัชชาติ คือมีฐานเสียงสนับสนุนจากคนรุ่นใหม่-รุ่นกลาง-รุ่นเก่า, และได้รับแรงหนุนอย่างไม่เปิดเผยจากพรรคเพื่อไทย ภายหลังพรรคเพื่อไทยตัดสินใจไม่ส่งคนชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม. และประกาศสนับสนุนผู้สมัครฝ่ายประชาธิปไตย

“จุดอ่อน” นายชัชชาติ มีภาพเชื่อมโยงกับพรรคเพื่อไทยนำไปสู่การถูกดิสเครดิต และอาจถูกขุดคดีสมัยเป็น รมว.คมนาคมในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ขึ้นมาเล่นงานช่วงโค้งสุดท้ายก่อนเปิดคูหาเลือกตั้ง

(2) นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หรือ “ดร.เอ้” ผู้สมัครฯ ในนามพรรคประชาธิปัตย์ เกิด 20 เม.ย.2515 (อายุ 49 ปี) อดีตอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

จบการศึกษาสูงสุดระดับ ปริญญาเอก Sc.D.(Geotechnical Engineering) สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) สหรัฐอเมริกา ปี 2545 โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.เฮอเบิร์ต ไอน์สไตน์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา

นายสุชัชวีร์ ประกาศเปิดตัวท้าชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม. วันที่ 13 ธ.ค.2564 ชูนโยบาย “เปลี่ยนกรุงเทพฯ เราทำได้” โดยใช้ความรู้ด้านวิศวกรรมและประสบการทำงานแก้ปัญหาเมืองหลวง

“จุดแข็ง” ของนายสุชัชวีร์ มีภาพคนรุ่นใหม่ ที่ประสบความสำเร็จ มีความรู้ ความสามารถ และได้ฐานคะแนนเสียงสนับสนุนจากพรรคประชาธิปัตย์

“จุดอ่อน” นายสุชัชวีร์ ไม่มีประสบการณ์ตรงงานการเมือง ชั่วโมงบินต่ำและไม่เคยจับงานบริหารระดับชาติมาก่อน

(3) น.ส.รสนา โตสิตระกูล ผู้สมัครในนามอิสระ ไม่สังกัดพรรคการเมือง เกิดวันที่ 27 ก.ย.2496 (อายุ 68 ปี) เคยได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ว.กรุงเทพฯ ช่วงปี 2551 ด้วยคะแนนอันดับที่หนึ่ง 740,000 คะแนน จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

น.ส.รสนา ประกาศเปิดตัวท้าชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม. ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2562 ใช้นโยบายหาเสียง “กทม. มีทางออกบอกรสนา” ตั้งเป้าแก้ปัญหาและพัฒนากรุงเทพฯ ในทุกมิติ

“จุดแข็ง”ของ น.ส.รสนา มีฐานคะแนนเสียงจากกลุ่มแนวร่วมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เนื่องจากเคยเคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาลทักษิณ ช่วงปี 2549 และมีจุดขาย เรื่องรณรงค์สิทธิผู้บริโภค ร่วมกับภาคประชาชนอย่างต่อเนื่อง

“จุดอ่อน” ไม่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ทำให้เสียฐานคะแนนส่วนนี้ไป

(4) พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.คนปัจจุบัน แม้พล.ต.อ.อัศวินยังไม่ประกาศลงสมัครชิงผู้ว่าฯ กทม. แต่จับสัญญาณจากการเคลื่อนไหวของ “กลุ่มรักษ์กรุงเทพฯ” ภายใต้การสนับสนุนของ พล.ต.อ.อัศวิน เพื่อเปิดตัวส่งผู้สมัครสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ทำให้มีแนวโน้มสูงที่ “บิ๊กวิน” จะลงชิงตำแหน่งพ่อเมืองกรุงเทพฯ

พล.ต.อ.อัศวิน เกิดวันที่ 15 ก.พ.2494 (อายุ 70 ปี) จบการศึกษาโรงเรียนนายร้อยตำรวจรุ่นที่ 30 เคยดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ก่อนปี 2556 เข้ารับตำแหน่งรองผู้ว่าฯ กทม. จากนั้นปี 2559 พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีหัวหน้า คสช.ใชอำนาจมาตรา 44 แต่งตั้ง “บิ๊กวิน”เป็นผู้ว่าฯ กทม. แทน ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ที่ถูกปรับออกจากตำแหน่ง

“จุดแข็ง”ของพล.ต.อ.อัศวิน คือการได้จับงานบริหาร กทม. 8 ปีเต็ม ทำให้รู้งาน มีการวางโครงข่ายกำลังคนแทรกซึม 50 เขตทั่วกรุงเทพฯ ประกอบกับ “บิ๊กวิน” มีสายสัมพันธ์กับกลุ่ม 3 ป. ที่คุมการเมืองภาพใหญ่ระดับประเทศ

ส่วน “จุดอ่อน” การบริหาร กทม.ตลอดช่วง 8 ปี หลายคนอาจมอง “บิ๊กวิน” ไม่มีผลงานที่โดดเด่นเข้าตากรรมการ และไม่เป็นที่รู้จักของ “นิวโหวตเตอร์” ทำให้เสียคะแนนในส่วนนี้ไป

ปัจจุบัน กรุงเทพฯ มีประชากรอายุ 18 ปีขึ้นไปที่มีสิทธิเลือกตั้งมากกว่า 4.5 ล้านคน ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ชี้ชะตาเลือกพ่อเมืองกรุงเทพฯ คนใหม่

ทั้งหมดข้างต้นคือการเทียบฟอร์ม 4 รายชื่อในศึกชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม. ที่หลังจากนี้รอเพียง วัน ว. เวลา น. เปิดคูหาเลือกตั้งผู้บริหารเมืองหลวงประเทศ หลังจากถูกแช่แข็งมานานหลายปี!