การแพร่ระบาดของโควิด ไม่ใช่แค่ทำให้ทุกคนต้องมีวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป รูปแบบการท่องเที่ยวในแบบวิถีใหม่ก็เกิดขึ้นพร้อม ๆ กันด้วย ขณะเดียวกันเรื่องของความยั่งยืนยังเป็นอีกส่วนที่ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญ

BCG Model เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม ที่จะพัฒนาเศรษฐกิจ 3 มิติไปพร้อมกัน ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) ระบบเศรษฐกิจชีวภาพ มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยเน้นการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) คำนึงถึงการนำวัสดุต่าง ๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด และทั้ง 2 เศรษฐกิจนี้ อยู่ภายใต้เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ซึ่งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่ได้มุ่งเน้นเพียงการพัฒนาเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ต้องพัฒนาควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุลให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนไปพร้อมกัน

นางน้ำฝน บุณยะวัฒน์ รองผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ด้านนโยบายและแผน กล่าวว่า ททท.ยินดีที่จะนำแนวคิดเรื่อง BCG ของรัฐบาลมาดำเนินงาน ไม่ใช่แค่การสร้างคุณค่าแต่ต้องจับต้องได้ เมื่อมีโอกาสได้พูดคุยกับสมาคมผู้บริโภคอินทรีย์ไทย (TOCA) ที่ต้องการขยายสังคมอินทรีย์ให้มากขึ้น จึงมองว่าการท่องเที่ยวน่าจะมีส่วนในการช่วยกระตุ้นได้ และก่อนหน้านี้ ททท.มีการส่งเสริมการท่องเที่ยว Gastronomy Tourism อยู่แล้ว จึงมองว่าถ้านำเรื่องของอาหารขึ้นมานำคนก็จะมีความเข้าใจเรื่อง BCG ได้ง่ายขึ้นด้วย

เกษตรอินทรีย์ไม่เพียงตอบโจทย์เรื่องอาหารปลอดภัย แต่ยังดีต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งยังสร้างมูลค่าเพิ่มด้วย จากเดิมคนรับรู้อยู่แล้วว่าอาหารไทยอร่อย มีส่วนผสมของสมุนไพรที่มีคุณสมบัติเป็นยา เมื่อมีเรื่องเล่าของเกษตรกรที่เปลี่ยนตัวเองมาสู่การเกษตรแบบอินทรีย์จะยิ่งสร้างคุณค่ามากขึ้น และยังสัมพันธ์กับแนวทางการส่งเสริมการท่องเที่ยว Amazing Thailand New Chapter ที่จะเปลี่ยนโฉมการท่องเที่ยวของไทยหลังสถานการณ์โควิด โดยจะมีทาง TOCA ที่เชี่ยวชาญด้านเกษตรอินทรีย์เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว พัฒนาเทคโนโลยีขึ้นรองรับ เป็นแพลตฟอร์มที่จะสร้างความมั่นใจตั้งแต่ต้นน้ำ ซึ่งเป็นผู้ผลิต กลางน้ำ ผู้ให้บริการ จนถึงปลายน้ำ ผู้บริโภค โดยจะมี Earth Points เป็นสิ่งที่จะมาชี้วัดความก้าวหน้า”

อรุษ นวราช นายกสมาคมผู้บริโภคอินทรีย์ไทย กล่าวว่า สังคมอินทรีย์ต้องขับเคลื่อนโดยทุกฝ่ายร่วมกัน ทั้งผู้ประกอบการ ผู้บริโภคต้องปรับเปลี่ยน การที่ TOCA เน้นการขับเคลื่อนในพื้นที่เพราะมองว่าจะเกิดความยั่งยืนมากกว่าหากผู้ผลิต เกษตรกร ผู้ประกอบการ ช่วยกันภายในพื้นที่ก่อน ตอนนี้เราได้รับการสนับสนุนจาก ททท. เพื่อจะใช้การท่องเที่ยวเป็นตัวเชื่อมโยงระหว่างต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ให้เกิดการซื้อขายกันทั้งในจังหวัดและข้ามจังหวัด รวมทั้งนักท่องเที่ยวที่มาจากต่างประเทศก็เข้ามามีส่วนร่วมได้ด้วย

เรามี TOCA Platform เป็นเครื่องมือที่ให้เกษตรกรบันทึกกิจกรรมที่เกิดขึ้นในฟาร์ม ซึ่งสามารถนำไปโชว์ให้ผู้บริโภคที่มาใช้บริการได้เห็น ซึ่งเป็นเครื่องมือสร้างความเชื่อมั่นตลอดห่วงโซ่ของเกษตรอินทรีย์ ผู้ประกอบการเองก็สามารถใช้ตรงนี้โชว์เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคได้ด้วย ส่วนผู้บริโภคแพลตฟอร์มนี้จะมีเอิร์ธพอยต์ที่จะทำให้รู้ว่าได้มีส่วนร่วมกับห่วงโซ่นี้อย่างไร เราต้องการสร้างแอคทีฟคอนซูเมอร์ ททท.ต้องการนักท่องเที่ยวคุณภาพซึ่งเป็นไปในทางเดียวกัน ทุกคนสนใจเรื่องกินเรื่องเที่ยว แค่เปลี่ยนมาเที่ยวเชิงอนุรักษ์เข้าใจวิถีอินทรีย์ เที่ยวแล้วยังได้แต้มด้วยก็จะทำให้มีฟาร์ม มีร้านอาหารที่หันมาสนใจเกษตรอินทรีย์มากขึ้น มีผู้ประกอบการที่จะเกิดมากขึ้น จะเป็นภาพใหญ่ได้ ไม่ใช่แค่กลุ่มเดียวที่สนใจ”

รศ.ดร.กฤตินี ณัฏฐวุฒิสิทธิ์ ในฐานะคณะกรรมการสมาคมผู้บริโภคอินทรีย์ไทย เสริมว่า หลังจากได้ทำงานร่วมกับ ททท.ตอนที่เปิดภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์เพื่อได้ตัวต้นแบบการทำงาน ก็ขยายต่อไปยังพังงา กระบี่ และอัมพวา เริ่มเห็นพันธมิตรที่เข้ามาร่วมมือ เพื่อต่อยอดไปสู่การทำงานที่เชื่อมโยงกัน โดยในเดือนกุมภาพันธ์ไปถึงกันยายนจะขยายออกไปสู่ 9 กลุ่มพื้นที่ 15 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อให้คนได้เข้าถึงเมนูอาหารอินทรีย์มากขึ้น ขณะที่อนาคตจะเป็นเรื่องการยกระดับการวิเคราะห์ข้อมูลที่เข้ามา พร้อมกับขยายกิจกรรมนอกเหนือจากเมนูอาหารอินทรีย์และผลผลิต ทั้งเรื่องลดคาร์บอนฟุตปริ้น การจัดการพลังงาน ขยะ ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องเศรษฐกิจแต่ต่อยอดไปถึงสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย

ด้าน เชฟอนุรักษ์ ขนิษฐารัตน์ Executive Chef โรงแรมแกรนด์ เมอร์เคียว ภูเก็ต ในฐานะตัวแทนผู้ให้บริการ เล่าว่า เริ่มนำวัตถุดิบออร์แกนิกมาใช้ 3 เดือนแล้ว ได้รับผลตอบรับดีมากโดยเฉพาะลูกค้าต่างชาติให้ความสนใจ รู้สึกเป็นแนวใหม่ ส่วนคนไทยเองก็ชื่นชอบการรับประทานเมนูออร์แกนิก อยู่แล้ว เพราะทางโรงแรมจะนำมาทำอาหารพื้นเมือง โดยเฉพาะใบเหลียงและผักกูด เมนูที่ลูกค้าต่างชาติสนใจเป็นผักสลัดเมนูสลัดอกไก่กับสลัดทูน่า

เราอธิบายว่าเป็นผักออร์ แกนิกที่ปลูกในภูเก็ตเลย และวางแผนไว้ว่าอยากจะชวนแขกไปเที่ยวฟาร์มออร์แกนิกของภูเก็ต เยี่ยมชมการทำงานของเกษตรกร ให้ไปเด็ดผักเองแล้วเอามาปรุงอาหาร ซึ่งเชื่อว่าในอนาคตภูเก็ตน่าจะมีฟาร์มออร์แกนิกมากขึ้น”

ขณะที่ร้านไอศกรีมยอดฮิตในย่านเมืองเก่าอย่าง Torry’s Ice cream ทอรี่ วงศ์วัฒนกิจ บอกว่า อยากจะนำวัตถุดิบออร์แกนิกมาใช้ผลิตไอศกรีมนานแล้วแต่ไม่มีแหล่งผลิต พอทาง TOCA ติดต่อมาเลยเริ่มนำมาใช้ได้ประมาณ 3-4 เดือน และพบว่า ตั้งแต่เปลี่ยนมาใช้ฝรั่งอินทรีย์ไอศกรีมรสฝรั่งที่ได้เป็นลอตแรกที่อร่อยที่สุด รสกาแฟก็อร่อยกว่าเดิม ความหอมและรสชาติจะดีกว่าเดิม

อยากทำให้รู้ว่าพรีเมียมโฮมเมดไอศกรีมเป็นอย่างไร ของเราจะเป็นออร์แกนิกเกือบทุกอย่างตั้งแต่นมที่สั่งตรงจากแดรี่ฟาร์มที่ปากช่อง น้ำตาลวังขนาย น้ำฝรั่งจากนครปฐม กาแฟจากเชียงราย และอนาคตกำลังจะมีช็อกโกแลตภูเก็ตที่รอผลผลิตอยู่ โดยลูกค้ามั่นใจได้ทุกอย่างจะผ่านการพาสเจอไรซ์หมด ไม่ว่าจะเป็นไอศกรีมรสผลไม้หรือรสชาติจากขนมพื้นเมืองของภูเก็ตทั้งบีโกหมอย โอ้เอ๋ว การนำอาหารที่เป็นเอกลักษณ์ของภูเก็ตมาเป็นส่วนผสมไม่เพียงช่วยเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชน กินแล้วเทรนดี้แถมยังมีความออริจินอลด้วย”

ส่วน 2 สาวแห่งไร่ปันสุข อันติกา ศรีรักษา ผู้จัดการทั่วไปปกาสัยรีสอร์ท และ กัสมาพร ลิมปนพงศ์เทพ ผู้จัดการทั่วไปเรด จินเจอร์ ชิค รีสอร์ท เล่าว่า จุดเริ่มต้นที่ทำให้มาทำเกษตรอินทรีย์เต็มรูปแบบคือสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด เพราะหลังจากโรงแรมต้องปิดจึงคิดหางานให้พนักงานได้มีอาชีพต่อไป จึงนำที่ดินซึ่งซื้อไว้หลายปีก่อนมาพลิกฟื้นเพื่อปลูกผัก เริ่มต้นตั้งแต่ปรับปรุงดิน จัดการเรื่องน้ำ จนถึงการจดทะเบียนขึ้นเป็นวิสาหกิจชุมชนเพื่อจำหน่ายผลผลิตตรงให้กับโรงแรมอย่างเป็นทางการ

เราอินกับเรื่องสิ่งแวดล้อมมานาน นอกจากกรีนโฮเต็ลก็อยากเชื่อมโยงไปสู่คนข้างนอกบ้าง ทั้งพาพนักงานออกไปเที่ยวชุมชนเพื่อหาความรู้เพิ่มเติมเสมอ จนเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งล่าสุดถนนถูกตัดขาดทำให้รับรู้ว่ากระบี่ไม่มีความมั่นคงทางอาหารเพราะต้องพึ่งพาจากภายนอกเยอะ ทั้งที่ธรรมชาติมีความอุดมสมบูรณ์มาก ทีแรกที่มาซื้อที่ดินตรงนี้อยากให้เป็นมรดกกับรุ่นลูกรุ่นหลาน เราโค่นต้นยางทิ้ง แล้วปลูกไม้ใหญ่พร้อมหยุดการใช้สารเคมีใด ๆ คนกระบี่พึ่งพาการท่องเที่ยวมากไป ความมั่นคงทางอาหารไม่มี โควิดทำให้กลับมามองว่าควรมาเป็นผู้ผลิตเองจึงชวนพนักงานมาร่วมกัน โดยดูว่าโรงแรมใช้อะไรบ้าง แพลตฟอร์มของ TOCA มีส่วนสำคัญที่จะช่วยบริหารจัดการด้วย ขณะเดียวกันก็มีการตรวจสอบผลผลิตเพื่อให้ได้มาตรฐานสากล เพราะเราจะบอกว่าเป็นอินทรีย์แต่ไม่มีการรับรองไม่ได้ ไม่ใช่โลกสวยมงลงอย่างเดียวแต่ธุรกิจไปได้ด้วย”

นี่คืออีกแรงขับเคลื่อนที่จะทำให้โฉมหน้าการท่องเที่ยวของไทยเปลี่ยนไป ไม่ใช่ความฉาบฉวยหากแต่ยั่งยืนและมั่นคง.