ในยุคที่ดอกเบี้ยเงินฝากต่ำหลายคนกำลังมองหาสิ่งใหม่เพื่อเพิ่มผลตอบแทนให้กับเงินออม เช่น หันไปลงทุนกับหุ้น กองทุนรวม พันธบัตรรัฐบาล หรือแม้แต่สินทรัพย์ดิจิทัล (คริปโตเคอเรนซี) ซึ่งล้วนมาพร้อมความเสี่ยง ถ้าใครรับความเสี่ยงสูงไม่ได้ ก็หมดสิทธิ ทำให้ยังต้องออมเงินกับรูปแบบของเงินฝากธนาคารต่อไป

แต่รู้หรือไม่ เงินฝากธนาคาร ไม่ได้มีเพียงแค่เงินฝากออมทรัพย์ทั่วไป หรือเงินฝากแบบประจำ ที่เราคุ้นเคยกันเท่านั้น โดยยังมีอีกหลายรูปแบบ หากใครต้องการฝากเงินกับธนาคารและได้รับดอกเบี้ยมากกว่าออมทรัพย์ทั่วไปก็สามารถศึกษารายละเอียดของผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ได้จากธนาคารแต่ละแห่งได้ เพราะผลิตภัณฑ์เงินฝากของแต่ละธนาคารจะมีความแตกต่างในเรื่องของเงื่อนไข และอัตราดอกเบี้ยพิเศษ เพื่อจูงใจให้ลูกค้าเข้ามาเลือกฝากเงิน

สำหรับผลิตภัณฑ์ประเภทเงินฝาก แบ่งออกเป็น 7 กลุ่ม มีเงื่อนไขและดอกเบี้ยแตกต่างกัน ดังนี้

กลุ่มที่ 1 เงินฝากบัญชีทั่วไป

-เงินฝากออมทรัพย์ ดอกเบี้ย 0.125-0.25% ต่อปี

-เงินฝากบัญชีออมทรัพย์ถอนได้ 2 ครั้งต่อเดือน ดอกเบี้ย 1-1.1% ต่อปี

-เงินฝากประจำ ดอกเบี้ย 0.32-0.8% ต่อปี ซึ่งเงินฝากประจำจะมีความคล่องตัวน้อยกว่าออมทรัพย์ เพราะจะถอนเงินได้ก็ต่อเมื่อฝากครบกำหนดแล้วเท่านั้น และไม่สามารถฝากต่อได้แบบอัตโนมัติ

กลุ่มที่ 2 เงินฝากดิจิทัล

-เป็นแบบทั้งเงินฝากออมทรัพย์แบบไม่มีสมุดคู่ฝาก หรือเป็นแบบเปิดบัญชีด้วยตนเองผ่านแอพธนาคาร / อีมันนี่ที่เป็นพันธมิตรกับธนาคาร จะได้รับดอกเบี้ย 0.5-2% ต่อปี

-เงินฝากดิจิทัลเปิดบัญชีง่ายสะดวกผ่านออนไลน์ ดอกเบี้ยขึ้นอยู่กับแต่ละธนาคารกำหนด และได้รับยกเว้นภาษีดอกเบี้ยหากเป็นบัญชีในธนาคารของรัฐบางแห่ง แต่ถ้าเป็นบัญชีของธนาคาร ต้องมีรายได้ดอกเบี้ยรวมต่อปีไม่เกิน 20,000 บาท

กลุ่มที่ 3 เงินฝากประจำปลอดภาษี 24-60 เดือน

-เงื่อนไขต้องฝากเงินเท่ากันทุกเดือน ขั้นต่ำ 500 บาท เป็นระยะเวลา 24-60 เดือน และฝากเงินรวมไม่เกิน 600,000 บาท มีอัตราดอกเบี้ย 0.9-1.9% ต่อปี

-เงินฝากประจำปลอดภาษี ต้องฝากให้ครบตามเงื่อนไข จึงจะได้รับดอกเบี้ยตามกำหนด และได้รับการยกเว้นภาษี ซึ่งเหมาะกับกับออมเงินแบบต่อเนื่อง ช่วยเก็บออมเงินได้ตามเป้าหมาย

กลุ่มที่ 4 เงินฝากสำหรับวัยเกษียณ

-เป็นในลักษณะฝากประจำ 12-30 เดือน สำหรับคนอายุ 55 ปีขึ้นไป มีดอกเบี้ย 0.65-1% ต่อปี

-จะได้รับการยกเว้นภาษี ณ ที่จ่าย 15% สำหรับเงินฝากระยะ 1 ปีขึ้นไป โดยผู้ฝากต้องมีอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป เมื่อรวมดอกเบี้ยเงินฝากประจำทุกบัญชีแล้วต้องไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี แต่ถ้าเกินจากนี้จะต้องเสียภาษี ณ ที่จ่าย 15% ตั้งแต่บาทแรก

กลุ่มที่ 5 เงินฝากพิเศษสำหรับผู้ซื้อ/ลงทุนผลิตภัณฑ์อื่นของสถาบันการเงิน

-เงินฝากพิเศษ หรือเรียกว่า Bundles เช่น ลงทุนกรมธรรม์ประกันชีวิต หรือสินทรัพย์อื่นที่กำหนด ฝากได้ไม่เกิน 1-2 เท่าของผลิตภัณฑ์ที่ซื้อหรือลงทุน ระยะเวลาฝาก 3-6 เดือน ได้รับดอกเบี้ย 1.5-2% ต่อปี

-เงินฝากประเภท Bundles เหมาะกับคนที่ต้องการลงทุนเพื่อพักเงินระยะสั้น และได้รับผลตอบแทนดีชั่วคราว เพราะมีดอกเบี้ยพิเศษที่สูงกว่าเงินฝากทั่วไป

กลุ่มที่ 6 สลากออมทรัพย์สถาบันการเงินเฉพาะกิจ หรือธนาคารของรัฐ

-สลากออมทรัพย์ธนาคารของรัฐ มีระยะเวลาการฝาก 2-3 ปี ดอกเบี้ย 0.05-0.4% (ดอกเบี้ยไม่รวมกรณีถูกรางวัล) และดอกเบี้ยจะได้รับการยกเว้นภาษี

-สามารถขายสลากก่อนได้ โดยอัตราดอกเบี้ยจะได้รับตามที่กำหนด และระหว่างที่ฝากสลากออมทรัพย์มีโอกาสลุ้นรางวัล ซึ่งจะช่วยเพิ่มผลตอบแทนให้สูงขึ้น

กลุ่มที่ 7 บัตรเงินฝากและใบรับฝากของบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ บริษัทเงินทุน

-ฝากเงินขั้นต่ำ 100,000 บาท ระยะเวลาฝาก 1-5 ปี รับดอกเบี้ย 1 ปี เท่ากับ 1.75-2.15% ต่อปี และ 5 ปี เท่ากับ 2.25-3.55% ต่อปี โดยเงื่อนไขคือ หากฝากไม่ครบกำหนด จะไม่ได้รับอัตราดอกเบี้ย และต้องทำธุรกรรมที่สำนักงานใหญ่เท่านั้น

ข้อควรรู้เกี่ยวกับเงินฝาก : การคุ้มครองเงินฝากในวงเงินไม่เกิน 1 ล้านบาท ต่อรายผู้ฝาก ต่อสถาบันการเงิน ครอบคลุมบัญชีเงินฝาก (รวมบัญชีเงินฝากดิจิทัล) ที่เป็นสกุลบาท 5 ประเภท ได้แก่ กระแสรายวัน ออมทรัพย์ ประจำ บัตรเงินฝาก และใบรับฝาก ที่ฝากไว้กับสถาบันการเงิน 35 แห่ง ประกอบด้วย ธนาคารพาณิชย์ไทยและต่างประเทศ บริษัทเงินทุน และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ ส่วนเงินฝากทุกประเภทในธนาคารของรัฐ ได้รับการคุ้มครองจากรัฐบาล

สำหรับเงินฝากที่ไม่ได้รับการคุ้มครอง ประกอบด้วย เงินที่เก็บไว้ในอีมันนี่/อีวอลเล็ต (เช่น GrabPay, ShopeePay, TrueWallet, LinePay) เงินฝากสหกรณ์ และกองทุนรวม ประกันประเภทออมทรัพย์ และสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency)

( ที่มาข้อมูล ธ.ค.64 : ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน / ธนาคารแห่งประเทศไทย / สถาบันคุ้มครองเงินฝาก / KResearchCenter )