เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่า รฟท. แถลงชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประเด็นการเดินขบวนรถเข้า-ออกสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) ว่า เรื่องปรับแผนการเดินรถเข้าสถานีหัวลำโพง เป็นแนวคิดดั้งเดิมตั้งแต่อดีตที่จะมีการก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อแล้ว ไม่ใช่เรื่องใหม่ และไม่เคยมีแนวคิดที่จะยุติการเดินรถเข้าสถานีหัวลำโพง เพียงแต่จะต้องมีการปรับเปลี่ยน แต่จะปรับอย่างไรให้เหมาะสมที่สุด ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป และขอยืนยันว่าตราบใดที่ยังไม่ได้ข้อสรุป ทาง รฟท. จะเดินรถแบบเดิมที่ให้รถไฟทั้ง 118 ขบวน เดินรถเข้าหัวลำโพงทุกขบวนตามปกติไปก่อน และตั้งแต่วันที่ 23 ธ.ค.64 จะยังไม่ให้บริการรถไฟทางไกลที่สถานีกลางบางซื่อด้วย เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชน

นายนิรุฒ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังระบาดต่อเนื่อง และความต้องการของประชาชนยังไม่มากพอ รฟท. จึงยังเปิดเดินรถเข้าหัวลำโพงแค่ 80 ขบวน ได้แก่ รถไฟเชิงพาณิชย์ 40 ขบวน และรถไฟเชิงสังคม 40 ขบวน มีผู้โดยสารใช้บริการสถานีหัวลำโพงประมาณวันละ 1 หมื่นคน แต่หากสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น จะทยอยเปิดให้บริการจนครบ 118 ขบวน อย่างไรก็ตามสำหรับผู้โดยสารที่ซื้อตั๋วล่วงหน้าที่มีต้นทาง-ปลายทางที่สถานีกลางบางซื่อ หรือชุมทางบางซื่อไปก่อนหน้านี้ ให้สามารถใช้ตั๋วดังกล่าวขึ้นลงที่สถานีหัวลำโพง และสถานีสามเสนได้ ส่วนผู้ที่ซื้อตั๋วล่วงหน้าที่มีต้นทาง-ปลายทาง ที่สถานีดอนเมือง ให้สามารถใช้ตั๋วดังกล่าวขึ้น-ลงที่สถานีบางเขน และสถานีหลักสี่ได้ โดยไม่เสียค่าใช้เพิ่มเติม

นายนิรุฒ กล่าวด้วยว่า หลังจากนี้ รฟท. ต้องจัดทำเช็กลิสต์ กำหนดแนวทางการให้บริการเปลี่ยนถ่ายไปยังสถานีกลางบางซื่อ รวมถึงการเดินรถเส้นทางสายสีแดง ช่วงรังสิต-สถานีกลางบางซื่อ ของรถเชิงพาณิชย์ และรถเชิงสังคมที่จะไม่เดินรถระดับดินให้มีการบริการต่างๆ ให้ครอบคลุมทุกมิติ รวมทั้งศึกษาภาระค่าใช้จ่ายกรณีที่ต้องเปิดเดินรถพร้อมกันทั้งสถานีกลางบางซื่อ และสถานีหัวลำโพง ปัจจุบันสถานีกลางบางซื่อและสถานีรถไฟสายสีแดง มีค่าใช้จ่ายประมาณเดือนละ 40 ล้าน ขณะที่สถานีหัวลำโพง มีค่าใช้จ่ายเดือนละประมาณ 10 ล้านบาท ทั้งนี้การเช็กลิสต์ต้องแล้วเสร็จภายในเดือน ม.ค.65

นายนิรุฒ กล่าวอีกว่า ระหว่างเช็กลิสต์ จะสร้างความเข้าใจ และรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน ซึ่งถือเป็นบทเรียนสำคัญ เพราะที่ผ่านมามีการสื่อสารข้อมูลคลาดเคลื่อน และบางคนมีเจตนาเบี่ยงเบนประเด็น ซึ่ง รฟท. ขอโทษตัวเองว่าสื่อสาร และทำความเข้าใจกับประชาชนน้อยเกินไป จนเกิดการสื่อสารที่ไม่ถูกต้อง ขอทำความเข้าใจว่า รฟท.อยู่คู่กับประชาชน เป็นผู้ให้บริการสาธารณูปโภค แต่เราถูกคาดหวังให้ทำกำไรด้วย รฟท.จึงต้องวางแผน และบริหารจัดการให้ดี ยืนยันว่า รฟท. ไม่เคยคิดยุติให้บริการที่สถานีหัวลำโพง โดยหัวลำโพงยังคงต้องเป็น 1 ใน 445 สถานีของ รฟท.

นายนิรุฒ กล่าวต่อว่า เมื่อจัดทำเช็กลิสต์แล้วเสร็จ รฟท.จะนำข้อมูลดังกล่าวจัดทำเป็นแผนปฏิบัติการ (แอ๊คชั่นแพลน) ว่าจะมีการดำเนินการเรื่องการปรับแผนการเดินรถเข้าหัวลำโพงอย่างไร รถแต่ละขบวนจะสิ้นสุดที่ไหน และจะมีบริการขนส่งสาธารณะต่อเชื่อม หรือทดแทนอย่างไร เพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด รวมทั้งจะใช้ส่วนต่อขยายรถไฟสายสีแดงได้เต็มประสิทธิภาพสมกับที่ลงทุนได้อย่างไร ทั้งนี้หากปรับแผนการเดินรถแล้วเสร็จ และกระทรวงคมนาคมเห็นชอบจะประกาศให้ประชาชนรับทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 7 วัน

นายนิรุฒ กล่าวด้วยว่า ส่วนเรื่องการพัฒนาสถานีหัวลำโพงนั้น เป็นแนวคิดที่มีมานานแล้ว ซึ่งต้องมีการพัฒนาไม่มากก็น้อย รฟท. ไม่ยอมปล่อยให้ทิ้งร้างอย่างแน่นอน และจะมีการรับฟังความคิดเห็นประชาชนก่อนด้วย ส่วนในภาพที่มีตึกเป็นแท่งสูงนั้น เป็นเพียงภาพออกแบบเบื้องต้น ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะทำแบบใด ส่วนที่พูดกันว่าจะยกให้เจ้าสัว เป็นข้อมูลเท็จ ทำให้ รฟท. เสียหาย ประชาชนเข้าใจผิด เรื่องนี้ รฟท. อยู่ระหว่างเร่งพิจารณาบริบทด้านกฎหมายว่า การให้ข้อมูลเท็จดังกล่าวเข้าข่ายผิดกฎหมายหรือไม่ ซึ่ง รฟท. จะไม่ยอมให้ใครมาทำร้ายหัวลำโพงไปมากกว่านี้ ส่วนเรื่องการเปลี่ยนสีผังเมือง ต้องดูก่อนว่ารูปแบบการพัฒนาจะเป็นแบบใด จำเป็นต้องเปลี่ยนสีผังหรือไม่ เปลี่ยนแล้วจะเหมาะสมหรือไม่อย่างไร ทั้งนี้ในการพิจารณาจะให้เปลี่ยนสีผังหรือไม่ ต้องขึ้นอยู่กับคณะกรรมการผังเมืองเป็นผู้พิจารณาด้วย ไม่ใช่ว่าใครจะขอเปลี่ยนได้ทันที.