โมนิกา อัลเมดา พยาบาลสาวชาวอังกฤษวัย 37 ปี ป่วยหนักหลังจากติดเชื้อไวรัสโคโรนา เธอตกอยู่ในอาการโคม่าและต้องอยู่ในหอผู้ป่วยวิกฤติถึง 28 วัน แต่หลังจากที่ได้รับยาไวอากร้า อาการของเธอก็ดีขึ้นอย่างรวดเร็ว

อัลเมดา เป็นพยาบาลผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินหายใจในสังกัดหน่วยบริการสาธารณสุขแห่งชาติของอังกฤษ เธอได้รับการตรวจพบว่ามีเชื้อไวรัสโคโรนาในวันที่ 31 ต.ค. 2564 ในเวลา 4 วันให้หลัง อัลเมดาก็สูญเสียความสามารถในการรับรสและกลิ่น จากนั้นก็ไอเป็นเลือด ขณะที่ระดับออกซิเจนในเลือดลดลง

หลังจากออกจากโรงพยาบาลเกรทเตอร์ ลินคอนเชอร์ พร้อมด้วยใบสั่งยา แต่ไม่มีการรักษาเพิ่มเติม อาการของอัลเมดาก็ทรุดหนักลงและเธอต้องเข้าโรงพยาบาลอีกครั้ง โดยคราวนี้ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลลินคอล์นเคาน์ตี ซึ่งเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกที่เธอเริ่มทำงานในอาชีพนี้

อัลเมดาถูกนำตัวส่งห้องกู้ชีพอย่างเร่งด่วน หลังจากนั้นก็ถูกส่งต่อไปยังหอผู้ป่วยวิกฤติในวันที่ 9 พ.ย. 2564 ในสัปดาห์ต่อมา อาการของเธอก็เริ่มเข้าสู่ระยะโคม่า 

แต่ก่อนที่เธอจะเข้ารับการรักษาแบบผู้ป่วยโคม่า อัลเมดาได้เซ็นเอกสารยินยอมขอเป็นส่วนหนึ่งในการทดลองใช้ยาเพื่อรักษาอาการของโรคโควิด-19 

อัลเมดาได้รับยาไวอากร้า ซึ่งแต่เดิมใช้เป็นยาช่วยรักษาอาการไม่แข็งตัวของอวัยวะสืบพันธุ์เพศชาย เป็นเวลาราว 1 สัปดาห์หลังจากที่เธออยู่ในห้องโคม่า ซึ่งช่วยเปิดระบบทางเดินหายใจของเธอได้สำเร็จ

“เป็นไวอากร้าแน่นอนที่ช่วยชีวิตฉัน ภายในเวลา 48 ชั่วโมง ยาช่วยเปิดทางเดินหายใจและปอดของฉันก็เริ่มทำงาน” อัลเมดาให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว 

เธออธิบายการทำงานของยาไวอากร้าว่าเป็นยาที่ช่วยขยายหลอดเลือด ทำให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น และเนื่องจากเธอป่วยเป็นหอบหืด ปอดของเธอจึงต้องใช้ยาช่วย เพื่อให้ทำงานได้

โมนิกา อัลเมด้า (ซ้าย) และอาร์เธอร์ อัลเมดา (ขวา) สามีของเธอ หลังจากฝ่ายหญิงฟื้นจากอาการโคม่า

เธอเล่าตัวเองคิดว่าเพื่อนร่วมงานในโรงพยาบาลล้อเล่น ตอนที่ฟื้นขึ้นมาจากอาการโคม่า แล้วพวกเขาบอกเธอว่าได้ให้ยาไวอากร้าแก่เธอ

“เขาบอกฉันว่าเป็นเพราะยาไวอากร้า ฉันหัวเราะและคิดว่าเขาล้อเล่น แต่เขาพูดว่า ‘จริง ๆ นะ เธอเพิ่งได้ยาไวอากร้าไปโด๊สใหญ่เลย’” เธอเล่า “นี่คือสิ่งมหัศจรรย์วันคริสต์มาสของฉัน”

อัลเมดาได้กลับไปพักฟื้นที่บ้านในวันคริสต์มาสอีฟและได้ฉลองวันเทศกาลกับครอบครัว แม้ว่าการรักษาตัวเธอให้หายดีนั้น ยังต้องใช้เวลาอีกหลายเดือน

ในอังกฤษ แพทย์สามารถให้ยาไวอากร้าแก่ผู้ป่วยโควิด-19 ได้ ถ้าคนไข้ยินยอมโดยเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาเพื่อทดลองใช้ยา นักวิทยาศาสตร์กำลังศึกษาว่ายารักษาอาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศนี้ สามารถนำมาใช้เช่นเดียวกับวิธีการเพิ่มออกซิเจนในเลือดอย่างการให้สูดดมก๊าซไนตริกออกไซด์ได้หรือไม่ 

แหล่งข่าวและเครดิตภาพ

https://nypost.com/2022/01/03/uk-nurse-recovers-from-covid-19-after-being-given-viagra/