เมื่อวันที่ 10 ม.ค. ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจากเจ้าของธุรกิจฟาร์มสุกรแห่งหนึ่งในพื้นที่ จ.ราชบุรี ว่า เรื่องสุกรราคาแพงและโรคระบาดในสุกรที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ ว่า โรคระบาดที่เกิดขึ้นในขณะนี้ คือโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African swine fever) หรือ ASF เข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่ประมาณปี 2562 แต่ที่ผ่านมาในช่วงแรกๆ หลายฟาร์มมีมาตรการควบคุมกันอย่างดี และการแพร่ระบาดไม่เกิดถึงขั้นรุนแรง หากเปรียบก็คล้ายกับการเกิดโรคโควิด-19 ในขณะนี้ ที่เกิดขึ้นครั้งแรกๆ เหมือนว่าจะสามารถป้องกันได้ ทั้งที่ยังไม่มียา วัคซีนใดๆ รักษา เช่นเดียวกับโรคที่ระบาดในสุกรอยู่ในขณะนี้ (ASF) เกิดจากการหละหลวมในการควบคุม ป้องกันโรค กันมากขึ้น โดยที่ผ่านมาหากฟาร์มใดเกิดมีสุกรเสียหายจากโรคระบาด ทางหน่วยงานของรัฐ ก็จะมีการชดเชยเยียวยาต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร แต่หากมีการแพร่ระบาดของโรคเป็นจำนวนมาก เกิดความเสียหายอย่างมาก ตนมองว่าหน่วยงานของรัฐ ก็ไม่สามารถที่จะชดเชยเยียวยาให้กับกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรได้ เช่น ฟาร์มสุกรขนาดกลาง หรือขนาดใหญ่ มีมูลค่าความเสียหายที่สูงมาก หน่วยงานรัฐ อาจจะไม่สามารถชดเชย เยียวยาได้

ไม่เหมือนกับทางต่างประเทศ ที่หากต้องมีการปิดฟาร์มเกิดขึ้น หน่วยงานของรัฐจะมีการชดเชยเยียวยา คืนทุนให้ ซึ่งที่ผ่านมา ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์การแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรใหม่ๆ ในช่วงประมาณปี 2562 ที่เกิดโรคระบาดนี้ขึ้นในเขตทางภาคเหนือ ทางสมาคมผู้เลี้ยงสุกร ก็ได้มีการระดมทุนช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร ซึ่งเป็นฟาร์มขนาดกลาง และขนาดเล็ก ที่มีจำนวนสุกรประมาณ 1,000 ตัว ในแต่ละรายที่เกิดโรคระบาดขึ้นมาโดยตลอด พร้อมทั้งมีการปิดฟาร์มเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค รวมถึการทำลายสุกรที่ตาย ไม่ให้ออกมาสู่ท้องตลาด

แต่ต่อมาโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องขยายวงกว้างออกไปจนไม่สามารถที่จะควบคุมการระบาดของโรคเอาไว้ได้ ทางสมาคมฯ ก็ไม่มีกำลังที่จะสามารถช่วยเหลือฟาร์มที่เกิดโรคระบาดได้ จนสุดท้ายเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรที่เกิดโรคระบาดในฟาร์ม มองว่าหากต้องทำลายสุกรที่สูญเสียจากโรคระบาด ก็จะไม่ได้ต้นทุนที่ลงไป หรือไม่เหลืออะไรเลย จึงทำให้มีการนำสุกรที่ติดโรคระบาดออกมาสู่ท้องตลาด ทำให้มีการแพร่ระบาดเป็นจำนวนมากเกิดขึ้นในช่วงประมาณปี 2563 ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการควบคุม และมาตรการมาอย่างดี เมื่อสุกรเข้ามาสู่ท้องตลาดหรือมีการแปรรูปผลิตภัณฑ์ เป็นกุนเชียง แหนม หรือหมูยอ และอื่นๆ จึงเกิดการระบาดของโรคไปอย่างรวดเร็ว และขยายวงกว้างออกมาในหลายพื้นที่ อย่างกว้างขวาง ซึ่งที่ผ่านมา ในประเทศจีน ก็มีการระบาดหนักและรวดเร็วแบบเดียวกัน ซึ่งโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรนี้ แม้นำสัตว์ที่ติดโรคไปแปรรูปแล้วก็ยังมีเชื้ออยู่ เชื้อสามารถอยู่ในของเหลวได้ประมาณ 60 วัน หากแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ เชื้อก็ยังคงอยู่ประมาณ 30 วัน หากเกิดการบริโภคเข้าไป และมีการขับถ่าย เชื้อก็ยังสามารถคงอยู่ในอุจจาระ ด้วยเหตุนี้หากฟาร์มใด ที่มีพนักงานไปรับประทานเนื้อสุกรหรือ อาหารที่แปรรูปแล้ว ที่มีการติดเชื้อของโรคนี้ และมาขับถ่ายในบริเวณฟาร์ม ก็สามารถทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคได้เช่นกัน โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรนี้ ไม่สามารถติดได้จากทางอากาศ เชื้อนี้ต้องมีพาหะนำโรค การติดต้องติดจากการสัมผัส กิน หรือ เลือด จากเข็มฉีดยา หากนำเข็มไปฉีดในสุกรที่เป็นแล้วมาฉีดต่อในสุกรอีกตัวหนึ่งก็สามารถติดต่อกันได้

พอปี 2563 ที่มีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรตื่นตระหนกเป็นอย่างมาก หากในฟาร์มใดมีการติดเชื้อแล้ว จะสามารถแพร่กระจายของเชื้อได้อย่างรวดเร็ว และเกิดการสูญเสียมากกว่ากว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ภายในระยะเวลา ประมาณ 3 สัปดาห์ ซึ่งมาตรการป้องกันในแต่ละฟาร์ม มีการทำกันอย่างเต็มที่ แต่หากเกิดโรคระบาด โดยเฉพาะฟาร์มขนาดใหญ่ ต่างก็กลัวว่าจะไม่ได้รับการชดเชยเยียวยาจากภาครัฐ ทำให้มีการปกปิดเรื่องของโรคระบาดนี้กันมาโดยตลอด มีการแอบนำหมูที่ติดเชื้อออกมาขายสู่ตลาด เพื่อให้ฟาร์มตนเองได้ต้นทุนการผลิตกลับมา ทำให้การควบคุมโรคระบาดนี้ ไม่สามารถที่จะควบคุมให้อยู่ในวงจำกัดได้ โดยเชื่อมั่นว่ารถที่ขนส่งสุกรอยู่ในขณะนี้ หากทำการตรวจโรคในทุกคัน มั่นใจว่าต้องมีสุกรที่ติดโรคระบาดนี้แน่นอน ด้วยเหตุนี้พอฟาร์มใดพบว่า มีสุกร ติดโรคระบาดนี้ ก็จะรีบขายสุกรออกไปให้หมด จึงทำให้การแพร่ระบาดเกิดขึ้นมาอย่างรวดเร็ว เพราะรถขนส่งหมูวิ่งไปทั่ว ในหลายต่อหลายฟาร์ม โดยที่ผ่านมาฟาร์มขนาดกลางในพื้นที่ราชบุรี เกิดความเสียหายของโรคระบาดนี้ จนถึงขนาดต้องปิดกิจการไปแล้วก็หลายฟาร์ม จึงทำให้เกิดปัญหาสุกร ขาดแคลน อยู่ในขณะนี้ ซึ่งเชื้อชนิดนี้ หากฟาร์มใดมีสุกรที่ติดโรคแล้ว ในโรงเรือนที่ใช้เลี้ยงสุกรนั้น ภายในระยะเวลา 2-3 ปี หากไปตรวจสอบหาเชื้ออีกครั้ง ใต้พื้นใต้ซอกต่างๆ ของโรงเรือน ยังสามารถพบเชื้อโรคระบาดชนิดนี้ได้อีก จึงมองว่าการที่เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร จะสามารถกลับมาเลี้ยงสุกรได้ใหม่ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะสามารถทำให้มีการปลอดเชื้อ จึงทำให้สุกรเกิดการขาดแคลนขึ้น เพราะเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร ที่เกิดโรคระบาด ไม่สามารถกลับมาเลี้ยงสุกรได้ในเวลาอันรวดเร็ว จึงทำให้สุกรจะหายไปจากตลาด เกินครึ่งของสุกรที่มีอยู่ในประเทศไทย และส่งผลทำให้ราคาสุกรสูงมากขึ้น

โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรในแถบภาคตะวันตก ซึ่งถือว่ามีจำนวนการเลี้ยงสุกร เป็นอันดับต้นๆ ของประเทศไทย ที่ผ่านมากลุ่มผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันตก ส่วนใหญ่มีการส่งสุกรไปยังภาคต่างๆ ของประเทศไทยมากที่สุด แต่จากการเกิดโรคระบาดอยู่ในขณะนี้ ลูกค้าเดิมที่ค้าขายกันมา ก็ไม่สามารถผลิตสุกรได้ทันจำหน่าย ต้องยอมรับว่า ขณะนี้สุกร หายไปจากฟาร์มเกินครึ่งอย่างแน่นอน ในหลายพื้นที่เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร ไม่สามารถกลับมาได้ ด้วยสภาพคล่องทางการเงิน และด้วยระบบ ทำให้ราคาสุกรสูงขึ้น เพราะการขาดแคลนของสุกร และมั่นใจว่าจะหนักไปอีก 2 รอบของการผลิตสุกร คือ ในปี 2565 ทั้งปี ราคาสุกร ยังคงแพงขึ้นแน่นอน ส่วนในปี 2566 ต้องมาดูว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดจะเป็นอย่างไรบ้าง คนที่มีทุน มีพื้นที่ สามารถเปิดฟาร์มใหม่ ในรอบการผลิต ระยะเวลา 6 เดือนได้ แต่ก็มีองค์ประกอบอีกหลายอย่างในการย้ายฟาร์มไปยังที่ใหม่ ตั้งแต่เรื่องของใบอนุญาตประกอบกิจการ กฎหมายด้านสาธารณสุข ทำให้การหาพื้นที่ในการทำฟาร์ม ยากขึ้น การจะกลับมาของสุกร ในท้องตลาด ไม่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วแน่นอน

ขณะนี้สุกรจากต่างประเทศมีราคาถูกกว่าประเทศไทยมาก ไม่ว่าจะเป็นประเทศสิงคโปร์ ฮ่องกง จีน เวียดนาม ที่เมื่อก่อนก็ซื้อสุกรจากประเทศไทย เพราะที่ผ่านมาประเทศเหล่านี้ก็ประสบปัญหาจากโรคระบาดนี้เช่นกัน แต่ในปัจจุบัน ประเทศเหล่านี้ สามารถที่จะผลิตหมูออกมาได้ทันส่งในท้องตลาดแล้ว ส่งผลให้ผู้บริโภค ต้องบริโภคหมูในราคาที่แพงอยู่ในเวลานี้

ส่วนโรคเพิร์ส หรือ PRRS ในสุกรนั้น เชื้อชนิดนี้ อยู่ในตัวสุกรอยู่แล้ว ไม่ใช่เชื้อที่ติดมาจากสภาพแวดล้อมด้านนอก ที่ผ่านมามีการทำวัคซีน ทั้งเชื้อเป็น และเชื้อตาย ทำในสุกรแม่พันธุ์ ทำในลูกสุกร มีวัคซีนอยู่แล้ว รวมไปถึงการจัดการระบบต่างๆ ควบคุมได้ดี แต่ที่ผ่านมา ที่เชื้อนี้ไม่รุนแรงเพราะว่า นอกจากมีวัคซีน ที่ช่วยในการเกิดโรคแล้ว หากสุกรมี สุขภาพดี แข็งแรง ไม่เครียด หากรับเชื้อชนิดนี้มา ก็อาจจะไม่เป็นโรคนี้ได้ หรือสามารถฉีดวัคซีนป้องกัน ก็สามารถที่จะควบคุมโรคนี้ไว้ได้ ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ทำให้ราคาสุกรสูงขึ้น ก็เนื่องจากมีการจัดทำวัคซีนหลายตัว เพื่อป้องกันไม่ให้สุกรเกิดโรคได้

ส่วนโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร นั้นยังไม่มีวัคซีนป้องกัน หรือ สุกร มีสุขภาพดี แข็งแรง ก็ตาม ก็ไม่สามารถที่จะป้องกันโรคระบาดนี้ได้ ที่ผ่านมาการแพร่ระบาด ของโรคนี้ในพื้นที่ราชบุรี เกิน 50 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนฟาร์มที่มีอยู่ พบว่ามีอัตราการสูญเสียสุกรโดยประมาณเกือบ 50 เปอร์เซ็นต์

ผู้สื่อข่าวได้พูดคุยกับฟาร์มสุกรแห่งหนึ่ง ในราชบุรี ที่มีการเลี้ยงสุกรแม่พันธุ์ หมูขุน ลูกหมู ในพื้นที่เดียวกัน พบว่า ที่ผ่านมามีแม่พันธุ์สุกร อยู่ประมาณ 7,000 ตัว ติดเชื้อโรคระบาดนี้จนเหลือแม่พันธุ์ประมาณ 2,000 มีหมูขุนประมาณ 30,000 ตัว สูญเสียทั้งหมด มีลูกหมู (หมูอนุบาล) 50,000 เหลือประมาณ 10,000 ตัว แต่หากฟาร์มใดที่มีการแยก แม่พันธุ์ แยก หมูขุน ออกไปจากกัน ก็จะสามารถที่จะแก้ไขปัญหาได้ จะเกิดความเสียหายน้อย ทั้งยังพบว่าหากมีการเลี้ยงสุกร ใน 1 โรงเลี้ยง 500 ตัว เกิดหมูตาย 2 ตัว ในโรงเลี้ยงนั้น และตรวจพบเชื้อโรคระบาด ต้องขายหมูทั้ง 500 ตัว ทิ้งทันที แล้วต้องเว้นระยะ ตัวโรงเรือนฟาร์มออกไปอีก เช่น หากเกิดโรคในโรงเลี้ยงที่ 2 จำเป็นต้องขายหมูในโรงเลี้ยงที่ 2 ทิ้งทั้งหมด รวมไปถึงหมูที่อยู่ในโรงเลี้ยงที่ 1 และ ที่ 3 ด้วย เพื่อเป็นการป้องกันการเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโรค.