เมื่อวันที่ 14 ม.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดร.สันติธาร หรือ ดร.ต้นสน เสถียรไทย เจ้าของฉายา นักเศรษฐศาสตร์ภาคเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ลูกชาย ดร.สุรเกียรติ เสถียรไทย อดีต รมว.ต่างประเทศ โพสต์ข้อความบอกเล่าประสบการณ์ติดโควิดยกครัว ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ “สันติธาร เสถียรไทย – Dr Santitarn Sathirathai” ระบุว่า “ข้อคิดเบื้องต้นจากการป่วยเป็นโควิด-19 ทั้งบ้าน(โอมิครอน)
1.ติดง่ายมากแม้จะฉีดวัคซีนครบแล้ว

ผมและภรรยาติดโควิดจากลูกสองคน (4 และ 6ขวบ) ซึ่งติดโควิดจากแม่บ้านอีกที ซึ่งไม่ชัดว่าติดจากในเครื่องบินตอนเดินทางหรือติดตอนออกไปตรวจโควิดที่ศูนย์อนามัยตอนกลับมาสิงคโปร์แล้ว (สิงคโปร์ให้ตรวจATKทุกวันที่บ้านเป็นเวลา 7วันและสองครั้งในนั้นต้องเข้าไปตรวจที่ศูนย์หลังจากกลับจากต่างประเทศ)

แม้เด็กจะยังไม่ได้รับวัคซีนแต่ผู้ใหญ่ทุกคน (รวมทั้งพี่เลี้ยงที่ติดคนแรก)ฉีดวัคซีนmRNA ครบ 2 เข็มไม่ Pfizer ก็ Moderna และยังไม่ถึง 6เดือนดีจากครั้งสุดท้ายที่ฉีด

ตัวผมและภรรยาที่ติดเพราะต้องดูแลลูกทั้งสองคนไม่มีทางเลือกจึงเข้าใจได้ว่าวัคซีนอะไรก็คงเอาไม่อยู่หากอยู่ใกล้ชิดกับคนป่วยตลอดเวลาโดนลูกไอจามใส่ตลอด แต่ในกรณีแม่บ้านเท่าที่คิดย้อนไปแทบไม่ค่อยได้มี exposure หรือการเสี่ยงต่อหารติดเชื้อเท่าไรเลยจึงยังค่อนข้างแปลกใจว่ารับเชื้อมาได้ไงเร็วมาก

การฉีดวัคซีน booster น่าจะสำคัญมากๆๆรีบฉีดนะครับอย่ารอโดยเฉพาะคนมีโรคประจำตัว

2.อย่าพึ่งการตรวจ ATK มากไป

จากประสบการณ์ครั้งนี้พบว่าในช่วงแรกๆที่ติดเชื้อและแม้แต่มีอาการบ้างแล้วการตรวจATKอาจจะยังไม่ออกมาเป็นบวก เกือบทุกคนในบ้านผมทั้งเด็กและผู้ใหญ่เจอประสบการณ์นี้แม้จะใช้ยี่ห้อหลายแบบATK ในกรณีลูกแม้แต่มีไข้สูงแล้วก็ยังไม่เป็นบวกจนวันต่อมา

ดังนั้นการจะบอกได้ว่าคนๆนึงติดโควิดแล้วหรือยังด้วยการตรวจ ATK อาจต้องทำหลายวันต่อเนื่องและเราไม่ควรเชื่อผลลบของ ATKมากไป ต้องมีมาตรการป้องกันการติดเชื้ออื่นๆด้วย

3.หากมีเด็กเล็ก(หรือคนที่ต้องการการดูแล)ควรวางแผนเผื่อไว้หากบางคนติดบางคนไม่ติด

ในสิงคโปร์ส่วนใหญ่จะให้รักษาตัวที่บ้านตามอาการไม่ได้ไปนอนโรงพยาบาลนอกจากจะอาการหนักจริงๆ เราทุกคนจึงอยู่บ้านตลอดดังนั้นข้อนี้อาจไม่ค่อยเกี่ยวกับคนที่รักษาตัวที่รพ.

ความยากในช่วงต้นของการรักษาตัวที่บ้านคือลูกคนโตและแม่บ้านติดเชื้อแต่ลูกคนเล็กยังไม่ติด แต่เราทุกคนอยู่ในคอนโดเดียวกันและพี่น้องปกติตัวติดกันมากอยู่ด้วยกันตลอดจึงยากมากที่จะแยกเขาออกจากกัน

ช่วงแรกเราพยายามแบ่งเป็นคู่ ภรรยาอยู่กับคนเล็กที่ไม่ป่วยและผมอยู่กับคนโตที่ติด (เพราะคนเล็กค่อนข้างติดแม่) และให้ลูกเจอกันใน Metaverse ผ่านเกมออนไลน์

ซึ่งยากมากเพราะรูปแบบการใช้ชีวิตไม่ได้ดีไซน์มาแบบนั้น และพี่น้องคิดถึงกันมากแม้จะเข้าใจเหตุผลแต่ใจเขาก็ยังเผลอตลอด นอกจากนี้แม่เค้าก็เครียดเพราะอยากดูแลลูกที่ป่วยด้วยตัวเองแต่ต้องห่างเพื่อให้ลูกคนเล็กไม่ติด

สุดท้ายไม่เวิร์ค เพราะพอลูกป่วยไข้สูง พ่อไร้ความสามารถในการดูแล ต้องแม่เท่านั้น! ไปๆมาๆเลยแยกไม่ค่อยสำเร็จและทั้งคู่ก็ติดเชื้ออยู่ดี

บทเรียนคืออาจต้องวางแผนไว้ตั้งแต่เนิ่นๆทำ scenario ว่าถ้าคนนี้ป่วยคนนั้นไม่ป่วยจะทำไง และจะทำได้จริงมั้ย

4.เตรียมพร้อมว่า”ไม่มีคำตอบสุดท้าย”สถานการณ์เปลี่ยนตลอดเวลา

วิธีรับมือวันแรกๆจะไม่เหมือนแผนวันหลังๆของการติดเชื้อในบ้านเพราะคนติดเชื้อจะมากขึ้นเรื่อยๆ คนที่เคยแข็งแรงจะกลายเป็นคนป่วยและคนที่เคยป่วยอาจเริ่มหาย ดังนั้นจะต้องมีการเตรียมสลับฟังก์ชันระหว่างแต่ละคนในครอบครัวกันดีๆ

นอกจากนี้โรคนี้ยังเปลี่ยนเร็วมาก จากดูเหมือนไม่มีอาการๆภายในไม่กี่ชั่วโมงอาจกลายเป็นหนักมาขึ้นมา จึงต้องมีการเตรียมรับมือดีๆ

เช่น ผมทำงานเบาๆไปด้วยในช่วงรักษาตัวไปด้วยวันนึงอาการอาจเป็นเพลียมากจนประชุมออนไลน์ไม่ไหว อีกวันอาจเจ็บคอจนพูดไม่ได้แต่พอทำงานอื่นได้

5.เด็กกับผู้ใหญ่เหมือนเป็นคนละโรคกัน

แม้จะเป็นเชื้อเดียวกันแต่อาการของเด็กกับผู้ใหญ่ต่างกันอย่างสิ้นเชิง ของลูกผมทั้งสองคนแทบไม่มีอาการอะไรเลยนอกจากไข้สูงทะลุ 40 เป็นช่วงๆต้องให้ยาเช็ดตัวแล้วก็ลง นอกนั้นแทบดูไม่รู้ว่าป่วยและพลังของลูกชายสองคนนี้ไม่มีตกเลย ทั้งสองคนไม่ได้รับยาอะไรนอกจากรักษาตามอาการ

ของผู้ใหญ่จะมีอะไรคล้ายๆกัน มีไข้ ปวดหัว เจ็บคอ เพลียมากๆๆ เหนื่อยง่ายแม้ในช่วงฟื้นตัว (และอาการไม่ได้เบาขนาดที่หลายคนคิดนะครับ)

ใครมีลูกให้นึกภาพเราหมดแรงในวันที่ลูกพลังเหลือมากๆ

ป.ล. ทั้งนี้อาการแต่ละคนคงไม่เหมือนกันนะครับอย่าเอาที่เขียนนี้ไปทำให้ประมาทว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ไม่เป็นไรมากเพราะคงเป็นแล้วแต่เคสจริงๆ แค่จะบอกว่าผู้ใหญ่-เด็กอาการต่างกันมากจากประสบการณ์ตนเอง

ทั้งหมดนี้เป็นข้อคิดเบื้องต้นนะครับ เพราะผมก็ยังไม่หายแต่ลูกๆดีขึ้นแล้ว อยากแชร์เรื่องเหล่านี้เผื่อจะมีประโยชน์กับบางครอบครัวครับเพราะเชื่อว่าwave นี้คงมีคนติดเยอะทีเดียว”

ขอบคุณ ข้อมูล – ภาพ เพจเฟซบุ๊ก “สันติธาร เสถียรไทย – Dr Santitarn Sathirathai”