เมื่อวันที่ 28 ม.ค. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารงานจราจร (ศจร.ตร.), พล.ต.ท.ปรีชา เจริญสหายานนท์ ผู้ช่วย ผบ.ตร. พร้อมด้วยพล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่า กทม. ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษก กทม. นายประพาส เหลืองศิรินภา ผอ.สำนักการจราจรและขนส่ง กทม. ศ.ดร.พิชัย ธานีรณานนท์ ประธานอนุกรรมการความปลอดภัยทางถนนและจราจร สภาวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย นายสุจิณ มั่งนิมิต ที่ปรึกษาศูนย์ปฏิบัติความปลอดภัยคมนาคม กระทรวงคมนาคมนายวิทยา จันทน์เสนะ ผู้อำนวยการกองบูรณาการความปลอดภัยทางถนน ผู้แทนกรมส่งเสริมการปกครองถิ่น กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท และกรมการขนส่งทางบก ร่วมประชุมหารือแนวทางการป้องกันแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุบริเวณทางม้าลาย ใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมงจึงเสร็จสิ้น

พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กล่าวภายหลังการประชุมว่า ตำรวจเตรียมออกข้อบังคับเจ้าพนักงานจราจร กำหนดชะลอความเร็วเหมาะสมก่อนถึงทางม้าลาย บางจุดอาจให้ใช้ 30 กม.ต่อชั่วโมง ก่อนถึงส่วนบริเวณทางม้าลายก่อนถึงหน้าโรงพยาบาลสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ ให้ชะลอความเร็วก่อนถึงในระยะ 50 เมตรไม่เกิน 40 กม.ต่อชั่วโมง ยกเว้นทางม้ายลายที่อยู่นอกเมือง ที่มองเห็นได้ในระยะไกล 100 เมตร ให้ใช้ความเร็ว 60 กม.ต่อชั่วโมง ได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า การสร้างทางม้าลายในพื้นที่ต่างๆ ใช้ปัจจัยอะไรมากำหนดว่าเหมาะสม พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กล่าวว่า เป็นการตัดสินใจร่วมกันของแต่ละจังหวัด และตามความประสงค์ของแต่ละจุด ซึ่งทางม้าลายหน้าสถาบันโรคไตฯ เมื่อปี 2558 โรงพยาบาลร้องขอมาว่ามีความจำเป็นที่ผู้ป่วยต้องใช้เดินสัญจรข้ามไปมา จึงขอมาที่ กทม. และมีการพิจารณาอนุญาตร่วมกันหลายหน่วย ในที่ประชุมวันนี้จึงมีมติยังไม่ยกเลิกทางม้าลายดังกล่าว เนื่องจากมีความจำเป็นแต่จะปรับปรุงให้มีความปลอดภัยสูงสุด และช่วงนี้อาจมีตำรวจไปกวดขันจับกุมผู้ฝ่าฝืนกฎหมาย

รอง ผบ.ตร. กล่าวอีกว่า ได้สั่งการให้ทุกพื้นที่สำรวจทางม้าลายที่มีการใช้งานน้อยมาก และเกิดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ จนไม่สามารถป้องกันได้ บางจุดที่อยู่ใกล้สะพานลอย เพื่อนำมาพิจารณาปรับปรุงยกเลิกต่อไป

ด้าน พล.ต.ท.โสภณ กล่าวว่า ในการประชุมวันนี้เพื่อแก้ไขปัญหาทางม้าลายหน้าโรงพยาบาลสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ ทาง กทม. ได้รับมอบหมายให้ติดตั้งสัญญาณไฟจราจรคนข้ามแบบกดปุ่ม จะใช้เวลาดำเนินการประมาณ 2 สัปดาห์ การติดตั้งกล้อง AI เพื่อตรวจจับผู้ฝ่าฝืนกฎหมายบริเวณทางข้ามดังกล่าว คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 30 วัน รวมไปถึงการทาพื้นสีแดง ขยายความกว้างของทางข้ามให้เห็นได้ชัดเจน จะใช้เวลาช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ 29-30 มกราคม และวันจันทร์ที่ 31 ม.ค. จะได้เห็นความเปลี่ยนแปลง จากการสำรวจพบว่า ใน กทม.มีทางม้าลาย จำนวน 3,280 แห่ง มีการติดตั้งไฟกะพริบ 1,277 แห่ง ติดตั้งไฟแบบกดปุ่ม 226 จุด และทาพื้นสีแดง 431 แห่ง ยังคงสภาพเดิมอีก 1,934 แห่ง ซึ่งกรุงเทพมหานครจะดำเนินการแก้ไขปัญหาในภาพรวม ขอจัดสรรงบประมาณ ติดตั้งไฟสัญญาณทางข้ามแบบกดปุ่ม 100 จุดเสี่ยงในกรุงเทพมหานครอย่างเร่งด่วน ส่วนจุดที่เหลือจะแก้ไขเบื้องต้นโดยการทาพื้นสีแดงอย่างทั่วถึง

เมื่อถามว่าจะมีการทำสะพานลอยคนข้ามบริเวณหน้าสถาบันโรคไตหรือไม่ พล.ต.ท.โสภณ กล่าวว่า กรุงเทพมหานคร คงศึกษาวิเคราะห์เชิงลึกว่าจะทดแทนได้ดีกว่าหรือไม่ หากดีกว่าทาง กทม.พร้อมทำทันที ในชั้นนี้ยังไม่สามารถตอบได้ทันที ขอให้ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องได้ร่วมพิจารณาก่อน.