เมื่อวันที่ 31 ม.ค. รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุว่า “31 มกราคม 2565 ทะลุ 375 ล้านไปแล้ว เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่มสูงถึง 2,083,202 คน ตายเพิ่ม 5,654 คน รวมแล้วติดไปรวม 375,031,297 คน เสียชีวิตรวม 5,681,087 คน 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ฝรั่งเศส อินเดีย รัสเซีย เยอรมนี และอิตาลี

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ ซึ่งรวมกันคิดเป็นร้อยละ 86.77 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 75.85 ล่าสุดจำนวนติดเชื้อใหม่จากทวีปยุโรปนั้นคิดเป็นร้อยละ 49.97 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 30.1 เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปครอง 5 ใน 10 อันดับแรก และ 10 ใน 20 อันดับแรกของโลก

น่าจับตาดู Omicron สายพันธุ์ BA.2 เพราะจำนวนการติดเชื้อของ BA.2 เพิ่มขึ้นในแอฟริกาใต้ (ภาพที่ 1) ทั้งๆ ที่เค้าเพิ่งผ่านการระบาดหนักของ BA.1 มา ดังนั้นตอนนี้จึงเห็นจำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของแอฟริกาใต้ทรงๆ สัดส่วนการตรวจพบ BA.2 สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว (ภาพที่ 2) สถานการณ์ที่เห็นนี้ ดูจะสอดคล้องกับงานวิจัยหลายชิ้นที่ออกมาชี้ให้เห็นว่า BA.2 แพร่เร็วกว่า BA.1 เดิม แม้ตอนนี้ข้อมูลที่มีอยู่นั้นมีแนวโน้มว่าการดื้อต่อภูมิคุ้มกันของ BA.2 จะไม่หนักไปกว่า BA.1 ก็ตาม แต่เรื่องการป่วยรุนแรงและการติดเชื้อซ้ำนั้นยังไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะบอกได้

มองบทเรียนในอดีตที่ผ่านมา ไม่ว่าจะที่ใดในโลก ความสูญเสียจากระลอกสองและสามในปีก่อนนั้น รัฐบาลแต่ละประเทศควรวิเคราะห์ให้ดีว่าเกิดขึ้นเพราะเหตุใด และนำมาปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้ประเทศมีระบบและกลไกที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น กระบวนการตัดสินใจ ณ จุดเวลาวิกฤตินั้น จำเป็นต้องใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์ ความรู้ที่ผ่านการศึกษาตามขั้นตอนมาตรฐาน และเป็นที่ยอมรับของสากล ยิ่งหากเป็นวิกฤติต่อสวัสดิภาพ และความปลอดภัยในชีวิตของคนในสังคม ยิ่งต้องไม่ยอมให้เกิดการตัดสินใจนโยบายและมาตรการที่นำไปสู่ social experiment ซึ่งไม่ยุติธรรมต่อทุกคนในสังคม

ประชาชนทุกคนในสังคมควรมีสิทธิที่จะเข้าถึงข้อมูลรายละเอียดเชิงลึกที่ใช้ในการตัดสินใจนโยบายและมาตรการต่างๆ ไม่เกิดภาวะเปิดเท่าที่อยากเปิด และทำให้คนในสังคมอาจไม่รู้เท่าทันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมาจากการตัดสินใจนั้นในระยะต่อมา กลไกการตรวจสอบและถ่วงดุลการตัดสินใจนโยบายและการทำงานของหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบนโยบายที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ สวัสดิภาพ และความปลอดภัยในชีวิตของทุกคนในสังคม จำเป็นต้องมี และควรสามารถ veto ได้

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องนโยบายควบคุมป้องกันโรค ยา วัคซีน รวมไปถึงเรื่องอื่นๆ ก็ตาม หากทำเช่นนี้ได้ ในอนาคตสังคมจะมีความพร้อมในการรับมือภาวะวิกฤติได้ดียิ่งขึ้น ประชาชนก็จะมีระดับความรอบรู้ มีสมรรถนะในการดูแลตนเองดีขึ้น เป็น health literate society

Health literacy จะเกิดขึ้นได้ ต้องทำให้คนสามารถตั้งคำถามสงสัย เข้าถึงข้อมูล ค้นหาข้อมูลที่ต้องการได้ เพื่อทำความเข้าใจในเรื่องนั้นอย่างลึกซึ้ง และนำไปสู่การตัดสินใจประพฤติปฏิบัติได้อย่างถูกต้องเหมาะสม

สำหรับสถานการณ์ไทยเรา การระบาดยังรุนแรงต่อเนื่อง เป็นกำลังใจให้ทุกคนป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ ติดเชื้อไม่ใช่เรื่องธรรมดา ไม่กระจอก และส่งผลระยะยาวเป็น Long COVID ได้ ใส่หน้ากากเสมอ รักษาระยะห่างจากคนอื่น เลี่ยงการกินดื่มหรือแชร์ของกินของใช้กับผู้อื่น ไม่ติดเชื้อย่อมดีที่สุด”..

ขอบคุณภาพประกอบ : Thira Woratanarat