เมื่อวันที่ 2 ก.พ. ที่ห้อง 5101 อาคาร AG05 คณะเกษตรศาสตร์​ มหาวิทยาลัยขอนแก่น รองศาสตราจารย์ ดร.ดรุณี โชติษฐยางกูร คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมด้วย ดร.นรินทร์​ ชมภูพวง อาจารย์ประจำสาขากีฏวิทยาและโรคพืชวิทยา คณะเกษตรศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับทีมวิจัยประกอบด้วย นายชวลิต ส่งแสงโชติ​ นักแมงมุมวิทยาจากคณะวนศาสตร์​ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นายวุฒิไกร ใข่แก้ว​ นักวิชาการอิสระ และ นายทรงธรรม สิปปวัฒน์​ หรือ “โจโฉ” ยูทูบเบอร์ชื่อดัง เป็นผู้ค้นพบบึ้งชนิดนี้ในขณะเดินป่าที่จังหวัดตาก หลังจากนั้นได้ทำการสำรวจเก็บตัวอย่างและศึกษาเพิ่มเติม ได้ร่วมกันแถลงข่าว บึ้งต้นไม้สกุลใหม่ของโลก Taksinusbambus “บึ้งปล้องไผ่พระเจ้าตากสิน” ถูกค้นพบและตีพิมพ์ลงในวารสารวิจัยนานาชาติ Zookeys เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2565

รองศาสตราจารย์ ดร.ดรุณี โชติษฐยางกูร คณบดีคณะเกษตรศาสตร์​ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า งานแถลงข่าวการค้นพบบึ้งปล้องไผ่พระเจ้าตากสินบึ้งสกุลใหม่ของโลก คณะเกษตรศาสตร์ มข.ได้ทราบว่าทีมนักวิจัยผู้ค้นพบบึ้งต้นไม้สกุลใหม่ของโลกท่านเป็นอาจารย์ประจำซึ่งปฏิบัติงานอยู่​ ณ สาขาวิชากีฏวิทยาและโรคพืชวิทยา คณะเกษตรศาสตร์ คือ ดร.นรินทร์ ชมภูพวง​ ผลงานวิจัยบึ้งพันธุ์ใหม่ที่ได้ค้นพบในครั้งนี้เป็นการค้นพบบึ้งสกุลใหม่ของเอเชียในรอบ​ 104 ปี และยังเป็นครั้งแรกของโลกที่มีการค้นพบในประเทศไทย​ ถือได้ว่าเป็นการสร้างชื่อเสียงให้แก่มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นอย่างยิ่ง สถานที่ค้นพบบึ้งสกุลใหม่นี้​ ทางคณะผู้วิจัยจึงเห็นควรตั้งชื่อสกุลว่า Taksinus เพื่อเป็นการถวายพระเกียรติแด่ “สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” อีกทั้งการค้นพบนี้ยังเป็นค้นพบที่สำคัญของโลกดังนั้นเพื่อเป็นการระลึกถึงความสำคัญของพระองค์ รวมถึงเป็นการเฉลิมฉลองให้กับเมืองตากหรือจังหวัดตาก​ สถานที่ค้นพบบึ้งสกุลใหม่นี้

ดร.นรินทร์ ชมภูพวง อาจารย์ประจำสาขากีฏวิทยาและโรคพืชวิทยา คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น​ กล่าวว่า Taksinus bambus “บึ้งปล้องไผ่พระเจ้าตากสิน” จัดจำแนกในวงศ์ย่อย Ornithoctoninae เป็นกลุ่มบึ้งในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้​ มีบึ้งต้นไม้อยู่เพียง 4 สกุลคือ Omothymus, Lampropelma, Phormingochilus และ Melognathus โดยกระจายตัวอยู่ในแถบมาเลเซียสิงคโปร์ สุมาตรา บอร์เนียว อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์เท่านั้น สำหรับ Taksinusbambus “บึ้งปล้องไผ่พระเจ้าตากสิน” ถูกค้นพบห่างไกลออกไปในทางพื้นที่ภูมิศาสตร์ทั้งหมดที่เคยถูกค้นพบมา​ โดยค้นพบในป่าไผ่บนภูเขาสูงกว่า 1,000 เมตร ในจังหวัดตาก ของประเทศไทย

Taksinus bambus “บึ้งปล้องไผ่พระเจ้าตากสิน” แม้จะจัดอยู่ในกลุ่มบึ้งต้นไม้ แต่เป็นบึ้งชนิดแรกของโลกที่มีความจำเพาะกับต้นไม้โดยบึ้งชนิดนี้อาศัยดำรงชีวิตอยู่ภายในปล้องของต้นไผ่เท่านั้น มีนิเวศวิทยาเกี่ยวข้องกับต้นไผ่เอเชีย​ (Gigantochloa sp.) ขนาดของรูทางเข้าของบึ้งปล้องไผ่พระเจ้าตากสิน​ มีขนาดตั้งแต่ประมาณ​ 2-3 เซนติเมตรไปจนถึงขนาดใหญ่​ บึ้งเป็นสัตว์ไม่สามารถเจาะรูไม้ไผ่ได้เอง​ จากการศึกษาสันนิษฐานว่าอาจจะเกิดจากสัตว์ฟันแทะเจาะเข้ามาใช้ประโยชน์ในการหาอาหารจากไผ่เพื่อกินหนอนที่อยู่ภายในรวมถึงอาจเกิดจากสัตว์อื่น ๆ เช่น แมลงที่เจาะเข้าไปหรือเกิดปริแตกตามธรรมชาติของต้นไผ่เอง รวมทั้งยังเกิดจากการกระทำของคนได้อีกด้วย​ บึ้งชนิดนี้จะอาศัยอยู่ภายในปล้องไผ่โดยสร้างใยปกคลุมล้อมรอบภายในปล้องและมักออกมาหาอาหารเป็นสัตว์ขนาดเล็กหรือแมลงในช่วงกลางคืน

จากการสำรวจพื้นที่โดยรอบไม่พบว่าบึ้งชนิดนี้อาศัยบนต้นไม้อื่นยกเว้นต้นไผ่​ จึงถือได้ว่าเป็นบึ้งที่หายากที่สุดในประเทศไทย และการค้นพบนี้เป็นการค้นพบบึ้งสกุลแรกของเอเชียในรอบ​ 104 ปี หลังจากการค้นพบครั้งหลังสุดเมื่อปี ค.ศ.1917 (พ.ศ.2460) และนับได้ว่าเป็นบึ้งสกุลแรกในประวัติศาสตร์ไทยที่ถูกค้นพบและวิจัยโดยคนไทย​ อีกทั้งยังได้รับเกียรติในการนำรูปของบึ้งปล้องไผ่พระเจ้าตากสินขึ้นปกวารสารทางวิทยาศาสตร์​ Zookeys ฉบับที่ 1080 ในปี 2022​ วารสารทางด้านสัตววิทยาที่มีชื่อเสียงถูกจัดอยู่ในระดับควอไทล์ที่ 1 ลักษณะสำคัญในการจำแนกบึ้งสกุล​ Taksinus มีลักษณะแตกต่างจากบึ้งต้นไม้ในสกุลอื่นๆ​ คือลักษณะของอวัยวะสืบพันธุ์เพศผู้ที่สั้นและความชันของส่วนปลายน้อยกว่าบึ้งต้นไม้ในสกุลอื่นที่พบทั้งหมด​ รวมทั้งบึ้งสกุลนี้ยังมีขนาดเล็กกว่าบึ้งต้นไม้ในสกุลอื่น ๆ อีกด้วย

ถึงแม้ว่าการค้นพบ “บึ้งปล้องไผ่พระเจ้าตากสิน” ในพื้นที่ห่างไกลและเข้าถึงยากและมีการใช้ประโยชน์จากพื้นที่สำหรับการทำเกษตรของกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงเพียงเล็กน้อย​ สำหรับในปัจจุบันพื้นที่ป่าในประเทศไทยเหลืออยู่เพียง 31% เท่านั้น​ หากในอนาคตพื้นที่ป่าลดจำนวนลงอย่างต่อเนื่องไม่มีการจัดการการใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าและทรัพยากรป่าไม้ “บึ้งปล้องไผ่พระเจ้าตากสิน” ก็เป็นหนึ่งในสัตว์ที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ อันเนื่องมาจากลักษณะการดำรงชีวิตผูกติดกับป่าไผ่​ และสามารถพบได้บนพื้นที่เขาสูงในภาคเหนือของประเทศไทยเท่านั้น​ ดังนั้นทางคณะผู้วิจัยจึงความมุ่งหวังในการศึกษาสัตว์เหล่านี้เพื่อให้เป็นที่รู้จักนำไปสู่การศึกษาด้านอื่น ๆ เช่น ชีววิทยา นิเวศวิทยา หรือการเพาะเลี้ยงต่อยอดในอนาคตเพื่อหาแนวทางอนุรักษ์ไม่ให้ที่สิ่งมีชีวิตเหล่านี้สูญพันธุ์.