สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 16 ก.พ. ว่า สมาคมโรคเอดส์นานาชาติ ( ไอเอเอส ) เผยแพร่ผลการศึกษาวิจัย ที่เป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตลอสแอนเจลิส ( ยูซีแอลเอ ) กับมหาวิทยาลัยจอห์นส ฮอปกินส์ ที่เมืองบัลติมอร์ ในรัฐแมริแลนด์ เกี่ยวกับการรักษาผู้ป่วยโรคลิวคีเมีย หรือมะเร็งเม็ดเลือดขาว และติดเชื้อไวรัสเอชไอวีร่วมด้วย


ทั้งนี้ ผู้ป่วยเป็นหญิงชาวอเมริกันแต่มีลูกผสมหลายเชื้อชาติ อายุ 64 ปี เข้ารับการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จากผู้บริจาคซึ่งมีภูมิคุ้มกันธรรมชาติจากเชื้อไวรัสเอชไอวี ด้วยวิธีการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดทางสายสะดือ เพื่อรักษาโรคลิวคีเมีย จากศูนย์การแพทย์เพรสไบทีเรียน ในนครนิวยอร์ก หลังผ่านไป 14 เดือน ในร่างกายของเธอไม่มีเชื้อไวรัสเอชไอวีอีก และไม่จำเป็นต้องรักษาด้วยการให้ยาต้านไวรัสอีกต่อไป


แม้การปลอดเชื้อไวรัสเอชไอวีของผู้ป่วยหญิงคนนี้ ในทางการแพทย์ยังถือว่า อยู่ในช่วงเวลาที่เรียกว่า เป็นการ “พักจากโรค” หรือ “ไม่มีอาการของโรค” ( remission ) ยังไม่ถึงขั้นที่เรียกว่า “รักษาจนหายขาด” ( cure ) ซึ่งจะยังต้องใช้เวลาติดตามอาการอีกนานหลายปี


อย่างไรก็ตาม ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวย่างสำคัญ ของการคิดค้นและพัฒนาแนวทางการรักษาผู้ป่วยจากไวรัสเอชไอวี เนื่องจากเคยมีการวิเคราะห์ว่า ภูมิหลังที่หลากหลายของผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็น เพศ เชื้อชาติ และอายุ เป็นปัจจัยทำให้การเกิดโรคมีรูปแบบแตกต่างกัน อนึ่ง ผู้ป่วยหญิงคนดังกล่าวเป็นผู้ติดเชื้อไวรัสเอชไอวีคนที่ 3 ซึ่งเข้ารับการรักษาจนปลอดเชื้อไวรัสเอชไอวี และเป็นผู้ป่วยหญิงคนแรก.

เครดิตภาพ : REUTERS