เมื่อวันที่ 22 ก.พ. ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถนนรัชดาภิเษก พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 3 นัดฟังคำสั่งฟ้องหรือไม่ คดีที่ ส.ต.ต.นรวิชญ์ บัวดก ผบ.หมู่ กองร้อยที่ 2 กองกำกับการ 1 กองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน (กก.1 บก.อคฝ.) เป็นผู้ต้องหาขี่จักรยานยนต์บิ๊กไบค์ ยี่ห้อดูคาติ รุ่นมอนสเตอร์ ทะเบียน 1 กผ 9942 เชียงราย ชน พญ.วราลัคน์ หรือ สุภวัตร จริยากุล หรือ หมอกระต่าย จักษุแพทย์ ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขณะกำลังเดินข้ามทางม้าลายใกล้แยกพญาไท จนเสียชีวิต เมื่อวันที่ 21 ม.ค.ที่ผ่านมา

โดยในวันนี้ ส.ต.ต.นรวิชญ์ ผู้ต้องหามีสีหน้าเศร้า และเดินทางมาฟังคำสั่งพร้อมกับทนายความ

เรียก 72 ล้าน! ‘พ่อแม่หมอกระต่าย’ ฟ้องต้นสังกัด-ส.ต.ต.นรวิชญ์

ซึ่งนายอิทธิพร แก้วทิพย์ อธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญาในฐานะโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า วันนี้พนักงานอัยการนัดผู้ต้องหามาฟังคำสั่ง หลังจากได้พิจารณาแล้ว พนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหาทุกข้อหาที่พนักงานสอบสวนตั้งไว้ 9 ข้อหา และนอกจากคำสั่งฟ้องแล้ว พนักงานอัยการมีคำขอให้ยึดรถจักรยานยนต์ รวมทั้งขอให้ศาลเพิกถอนหรือพักใช้ใบอนุญาตขับขี่รถจักรยานยนต์ของผู้ต้องหาด้วย

โดยข้อหาแรก คือ นำรถที่ไม่ได้ติดแผ่นป้ายทะเบียนมาใช้ในทางเดินรถ, ฝ่าฝืนใช้รถที่ไม่ได้เสียภาษีประจำปี, ใช้รถที่ไม่ได้จัดให้มีการประกันความเสียหายผู้ประสบภัย, นำรถไม่สมบูรณ์มาขับเพราะไม่ติดกระจกมองข้าง, ขับรถไม่ชิดขอบทางด้านซ้าย, ขับรถจักรยานยนต์เร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด, ขับรถโดยไม่คํานึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่น, ขับรถโดยไม่ปฏิบัติตามเครื่องหมายบนพื้นทาง, ขับรถโดยประมาทหรือน่าหวาดเสียว อันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์สิน กระทำการโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย โดยวันนี้พนักงานอัยการจะนำตัวผู้ต้องหาไปยื่นฟ้องต่อศาลทันที

ผู้สื่อข่าวถามว่า อัยการให้ตำรวจไปสอบสวนเพิ่มเติมเกี่ยวกับสารเสพติดหรือปริมาณแอลกอฮอล์หรือไม่ นายธวัชชัย หัตถะปนิตร์ อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 3 เจ้าของสำนวนคดี กล่าวว่า ไม่มีการสั่งสอบเพิ่มเพราะพนักงานสอบสวนตรวจสอบแล้วไม่พบว่ามีกลิ่นแอลกอฮอล์จากผู้ต้องหา ซึ่งในสำนวนคดีนั้นก็มีการแจ้งผลการตรวจแอลกอฮอล์แล้ว ซึ่งไม่พบปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกายผู้ต้องหาและไม่ได้สั่งให้ตำรวจสอบสวนเพิ่มเติมเนื่องจากครบถ้วนทุกประเด็นแล้ว

ด้านนายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวเพิ่มว่า ประเด็นที่อัยการเสนอให้ศาลพิจารณามี 2 กรณี คือการขอเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ตลอดชีวิตไม่ให้ทำใบขับขี่ กับกรณีที่ 2 คือการขอพักใช้ ส่วนจะมีการพักใช้กี่ปีนั้นขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล ส่วนการขอยึดรถนั้นเนื่องจากในคำฟ้อง มีข้อหาที่ 7 เกี่ยวกับการขับรถไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้อื่น เหมือนกับกลุ่มที่แข่งรถ ซึ่งกฎหมายถือว่า รถเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิด คดีนี้เราจึงขอริบรถจักรยานยนต์ด้วย ส่วนประเด็นที่ว่ารถถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่นั้น ทางตำรวจไม่มีการแจ้งแสดงว่ารถนั้นถูกต้องตามกฎหมาย หากรถไม่ถูกต้องตามกฎหมายจะมีการดำเนินคดีอีกส่วนหนึ่ง

ด้านนายอิทธิพร กล่าวว่า เรื่องรถถูกต้องหรือไม่และการขับรถโดยประมาทเป็นคนละเรื่องกัน หากรถไม่ถูกต้องตามกฎหมาย พนักงานสอบสวนก็คงจะต้องทำคดีอีกสำนวนหนึ่งไม่เกี่ยวกับเรื่องนี้

นายประยุทธ กล่าวอีกว่า ในการสั่งคดี อัยการเจ้าของสำนวนมีคำสั่งให้แจ้งกับผู้เสียหายว่า ผู้เสียหายสามารถมาขอยื่นขอค่าเสียหายได้ตามมาตรา 44/1 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เนื่องจากการขอตามมาตรานี้นั้นเป็นการขอให้ผู้เสียหายมาเรียกร้องจากจำเลยที่เราฟ้อง แต่ไม่สามารถมายื่นคำขอเอากับบุคคลอื่นนอกคดีได้ ส่วนที่ครอบครัวผู้เสียหายไปฟ้องศาลแพ่งนั้นก็เป็นสิทธิตามกฎหมาย ทางอัยการจะไม่ก้าวล่วง อย่างไรก็ตามสำหรับระเบียบอัยการนั้น แจ้งว่าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกค่าเสียหายทุกอย่าง โดยจะต้องมาประสานกับทางอัยการและอัยการจะแนะนำให้ไปยื่นคำร้อง และในขั้นตอนสืบพยานทางอัยการจะมีการถามในประเด็นค่าเสียหาย แต่ต้องมายื่นก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษา กรณีที่จำเลยรับสารภาพ หรือต้องยื่นก่อนศาลสืบพยานนัดแรกในกรณีจำเลยปฏิเสธ.