ปี 1991 ( พ.ศ. 2534 ) : นายเลโอนิด คราฟชุค ผู้นำสาธารณรัฐโซเวียตยูเครน ประกาศเอกราชจากรัฐบาลกลางในกรุงมอสโก หลังจากนั้นมีการลงประชามติและการเลือกตั้งประธานาธิบดี ซึ่งคราฟชุคได้รับชัยชนะ ดำรงตำแหน่งผู้นำยูเครนคนแรก


ปี 1994 ( พ.ศ. 2537 ) : นายเลโอนิด คุชมา ชนะการเลือกตั้งเหนือคราฟชุค ได้ดำรงตำแหน่งผู้นำคนที่สองของยูเครน


ปี 1999 ( พ.ศ. 2542 ) : คุชมาชนะการเลือกตั้งเป็นสมัยที่สองติดต่อกัน ท่ามกลางข้อครหามากมาย


ปี 2004 ( พ.ศ. 2547 ) : นายวิกเตอร์ ยานูโควิช นักการเมืองนิยมรัสเซีย คว้าชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ของยูเครน แต่ข้อกล่าวหาเรื่องการทุจริต ส่งผลให้เกิดการประท้วงทางการเมืองครั้งใหญ่ ที่เรียกว่า “การปฏิวัติสีส้ม” ตามด้วยการจัดเลือกตั้งใหม่ ซึ่งนายวิกเตอร์ ยุชเชนโก อดีตนายกรัฐมนตรี และนักการเมืองสายนิยมตะวันตก ชนะการเลือกตั้ง


ปี 2005 ( พ.ศ.2548 ) : ยุชเชนโกประกาศแนวทางการบริกหารยูเครน “ให้พ้นจากเงาของทำเนียบเครมลิน” มุ่งหน้าหาความสนับสนุนจากองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ ( นาโต ) และสหภาพยุโรป ( อียู ) ยุชเชนโกแต่งตั้งนางยูเลีย ทิโมเชนโก นักธุรกิจหญิงซึ่งมีจุดยืนทางการเมืองแบบเดียวกัน ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่เธอถูกปลดในเวลาต่อมา ท่ามกลางความขัดแย้งภายในรัฐบาล


ปี 2008 ( พ.ศ. 2551 ) : นาโต “ให้คำมั่นสัญญา” ว่ายูเครนจะได้เป็นสมาชิก “ในสักวันหนึ่ง”


ปี 2010 ( พ.ศ.2553 ) : ยูเครนจัดการเลือกตั้งครั้งใหม่ ยานูโควิชกลับมาลงสมัครอีกครั้ง และเอาชนะทิโมเชนโก ตามด้วยการที่รัสเซียและยูเครนลงนามในข้อตกลงเรื่องค่าก๊าซฉบับพิเศษ แลกกับการที่รัสเซียเข้ามาตั้งฐานทัพขนาดใหญ่ ที่ท่าเรือริมชายฝั่งทะเลดำ


ปี 2013 ( พ.ศ. 2556 ) : ยานูโควิชระงับการเจรจาความร่วมมือทางการค้ากับอียู และเตรียมฟื้นการเจรจาแบบเดียวกันกับรัสเซีย ส่งผลให้เกิดการประท้วงครั้งใหญ่ในยูเครน


ปี 2014 ( พ.ศ. 2557 ) : การประท้วงครั้งใหญ่ในหลายพื้นที่ของยูเครน เพื่อต่อต้านรัฐบาลของยานูโควิช ตามด้วยการที่สภาลงมติปลดยานูโควิชพ้นจากตำแหน่ง หลังจากนั้นปรากฏกองกำลังติดอาวุธยึดสภาในไครเมีย ต่อมารัสเซียประกาศผนวกไครเมียกลับคืนเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของตัวเอง ตามการลงประชามติของประชาชนในพื้นที่ เมื่อวันที่ 16 มี.ค.


อย่างไรก็ตาม ในอีกประมาณ 1 เดือนต่อมา สงครามปะทุในภูมิภาคดอนบาส ทางตะวันออกของยูเครน


พ.ค. 2557 : นายเปโตร โปโรเชนโก มหาเศรษฐีเจ้าของธุรกิจโรงงานช็อกโกแลต และมีจุดยืนการเมืองนิยมตะวันตก ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดี


ก.ค. 2557 : เครื่องบินโดยสารของมาเลเซีย แอร์ไลน์ส เที่ยวบินเอ็มเอช17 ถูกยิงตกในยูเครน รัฐบาลและฝ่ายกบฏในภาคตะวันออกกล่าวโทษกันไปมา


2017 ( พ.ศ. 2560 ) : ยูเครนและอียูบรรลุข้อตกลงการค้าและความร่วมมือ


เม.ย. 2019 ( พ.ศ. 2562 ) : นายโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี อดีตนักแสดงตลก ชนะโปโรเชนโกในการเลือกตั้งประธานาธิบดี


ก.พ. 2021 ( พ.ศ. 2564 ) : รัฐบาลยูเครนขึ้นบัญชีดำนายวิกเตอร์ เมดเชฟชุค ผู้นำฝ่ายค้าน และพันธมิตรทางการเมืองคนสำคัญของรัสเซียในยูเครน


ฤดูใบไม้ผลิ 2564 : กองทัพรัสเซียเริ่มวางกำลังทหารและสรรพาวุธตามแนวพรมแดนฝั่งตะวันตก ที่ติดกับภาคตะวันออกของยูเครน


ธ.ค. 2564 : ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ เตือนเรื่องการคว่ำบาตรอย่างหนักต่อรัสเซีย หากประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน สั่งให้ทหารยกกำลังข้ามพรมแดนเข้ามาในยูเครน หลังจากนั้นมีการเจรจากันอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการที่รัสเซียเรียกร้อง “หลักประกันความมั่นคง” รวมถึงการที่นาโตต้องไม่รับยูเครนเข้าเป็นสมาชิก


22 ก.พ. 2022 ( พ.ศ.2565 ) : ปูตินรับรองสถานะของ “สาธารณรัฐโดเนตสก์” และ “สาธารณรัฐลูฮันสก์” ในภูมิภาคดอนบาส


24 ก.พ. : รัสเซียเปิดฉากปฏิบัติการทางทหารในภูมิภาคดอนบาส “เพื่อป้องปราม” และ “ตอบสนอง” ต่อ “ความก้าวร้าว” ของยูเครน และเตือน “กองกำลังภายนอก” ไม่ควรยุ่งเกี่ยว.

เครดิตภาพ : REUTERS