เมื่อวันที่ 10 มี.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “นิธิพัฒน์ เจียรกุล” เมื่อช่วงวันจันทร์ที่ 8 มี.ค. ระบุว่า “ตัวเลขรวมรายวันดูนิ่งแบบลง แต่ตัวเลขวิกฤติยังไปต่อช้า ๆ ต้องรอให้แน่ใจว่าเพราะตรวจยืนยันและเข้าข่ายน้อยกว่าจริงหรือเปล่า

สัปดาห์ก่อนตรวจผู้ป่วยลองโควิดสองราย หายกันมากว่าหกเดือน หลงเหลืออาการเด่นทางระบบประสาท รายแรกเป็นชาย เดิมเป็นนักธุรกิจวัยกลางคนที่แข็งแรงดี ไม่มีโรคประจำตัว รูปร่างสมส่วน ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มสุรา และไม่ใช้สารเสพติด ป่วยเป็นโควิดเข้าโรงพยาบาลนาน 14 วัน อาการไม่รุนแรงใช้ออกซิเจนแค่สองสามวัน หลังกลับไปบ้านเขารู้สึกว่าสมองไม่โปร่งโล่งเหมือนเดิม สมาธิและความจำไม่ดี และนอนหลับได้ไม่สนิท เท่าที่ซักประวัติและตรวจร่างกายทำการประเมินขั้นต้น ยังไม่พบความผิดปกติทางร่างกายที่จะอธิบายอาการต่าง ๆ ได้ดี กำลังอยู่ในระหว่างนัดตรวจการนอนหลับ ในระหว่างนี้ แนะนำให้เขาพยายามฟื้นฟูร่างกายและจิตใจเพิ่มมากขึ้น ไม่ต้องกังวลว่าจะมีโรคหรือความผิดปกติอะไรที่น่ากลัว ในระหว่างรอผลตรวจจะพยายามไปค้นคว้าหาคำตอบมาพูดคุยและหาทางช่วยเหลือ

รายที่สองเป็นหญิงวัยกลางคนเช่นกัน เป็นข้าราชการระดับสูง ป่วยไม่รุนแรง หายแล้วไม่มีปัญหาการใช้สมองและนอนหลับ ที่ทรมานคือเจ็บปลายประสาท (neuralgia) บริเวณครึ่งล่างของลำตัว ทำกายภาพบำบัดและใช้ยาบรรเทาอาการหลายอย่างแต่ยังไม่ดีขึ้น ได้ตรวจประเมินเช่นรายแรกไม่พบความผิดปกติทางกาย จึงให้คำแนะนำและความมั่นใจ (advice and reassure) ว่าเวลาอีกสองสามเดือนข้างหน้าจะช่วยเยียวยาเขาทั้งสอง ขอเพียงแต่ต้องปรับตัวเพื่ออยู่กับเขาลองโควิด แล้วเรสจะพิชิตเขาในที่สุด

ทีมนักวิจัยจากอิตาลี ได้ทำการติดตามอาการทางสมองและจิตใจของผู้ป่วย 49 คน อายุอยู่ที่ราว 60 ปี ทั้งหมดมีอาการของโควิดจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรงมาก มีที่ต้องเข้าไอซียูเพียงสองสามคน เมื่อหายจากโรคใหม่ ๆ 53% จะมีปัญหาเรื่องความจำ และ 28% มีปัญหาทางด้านจิตใจ ในรายที่เกิดปอดอักเสบรุนแรงมักจะพบปัญหาการใช้สมองเชิงบริหารตามมา ซึ่งเมื่อนำไปตรวจสมองด้วยเครื่องสร้างภาพด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) จะพบความผิดปกติในบางหย่อมของสมองที่เกี่ยวข้องกับความคิดเชิงบริหารและการคิดคำที่จะใช้พูด รายที่มีปัญหาจมูกไม่รับกลิ่นลิ้นไม่รับรสในช่วงแรก เมื่อหายแล้วจะพบความจำผิดปกติได้มากขึ้น สำหรับการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG) จะพบความผิดปกติได้บ่อยในช่วงสองเดือนแรก และเมื่อติดตามไปถึง 10 เดือน ความผิดปกติจะค่อยหมดไปเช่นเดียวกับปัญหาเรื่องความจำที่ฟื้นตัวกลับมา

ในเมื่อกีฬานอกไม่มีอะไรน่าสนใจ หลังทีมโปรดถูกคู่ต่อสู้หลากหน้าหลายตาทำให้ตกอยู่ในสถานะโปรดอยู่ห่างจากแชมป์ จึงหันมาสนใจกีฬาในประเทศ มหกรรมกีฬาแห่งชาติครั้งที่ 47 ที่จังหวัดศรีสะเกษเป็นเจ้าภาพ ผ่านมาสองวันแล้ว โดยมีกว่าเจ็ดพันชีวิตเข้ามาเกี่ยวข้อง งานนี้ผู้จัดอ้างว่าจะทำเป็นต้นแบบของการรวมคนจำนวนมากในวิถีใหม่ เพื่อให้ห่างไกลจากการแพร่ระบาดของโควิดในระหว่างงานให้ได้มากที่สุด ผ่านมาสองวันยังคงเร็วที่จะเห็นผลลัพธ์ เชื่อว่าฝีมือของเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนจะทำได้สำเร็จ ไม่ให้เหมือนการแข่งขันบอลหญิงที่อินเดียและบอลชายที่กัมพูชา ซึ่งยิ่งแข่งนานวันเข้านักบอลเริ่มร่อยหรอจากโควิดลงไปเรื่อย ๆ จนถึงวันชิงชนะเลิศนักบอลหายหน้ากันไปเกือบครึ่งเพราะติดโควิด มาช่วยกันลุ้นให้ยอด RT-PCR ของจังหวัดศรีสะเกษคงที่ในระดับ 100 กว่า ๆ หรือลดลงต่อเนื่องตลอดการแข่งขันจนสิ้นสุดในวันที่ 25 เดือนนี้”

ขอบคุณข้อมูล – ภาพ เฟซบุ๊ก “นิธิพัฒน์ เจียรกุล”