เมื่อวันที่ 29 เม.ย. รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระบุว่า “เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 48,566 คน ตายเพิ่ม 277 คน รวมแล้วติดไป 686,948,662 คน เสียชีวิตรวม 6,863,065 คน 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น รัสเซีย ฝรั่งเศส และเวียดนาม” เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชีย ครอง 9 ใน 10 อันดับแรก และ 18 ใน 20 อันดับแรกของโลก จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 96.93 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 95.66

“…อัปเดต XBB.1.16.x ข้อมูลจาก GISAID (Cr: Rajnarayanan R) ชี้ให้เห็นว่า XBB.1.16.x ได้มีการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นโดยตรวจพบในประเทศต่างๆ ทั่วโลกเพิ่มเป็น 43 ประเทศแล้ว” ทั้งนี้ XBB.1.16.1 จะพบมากในสวีเดน ในขณะที่ XBB.1.16.2 เด่นในแคนาดา

“ส่วนในแถบประเทศไทยและเพื่อนบ้าน พบว่า XBB.1.16 ยังครองสัดส่วนสูงสุด รองลงมาคือ XBB.1.16.1” …สัดส่วนของสายพันธุ์ที่ระบาดในอเมริกา ข้อมูลจาก US CDC ที่ทำการคาดการณ์จนถึง 29 เมษายน 2566 พบว่า XBB.1.5 ยังครองสัดส่วนหลัก 68.8% ในขณะที่ XBB.1.16 นั้น มีสัดส่วนสูงขึ้นชัดเจน 11.7% ซึ่งเพิ่มจากสัปดาห์ก่อนที่มีสัดส่วนราว 7.4% โดยเบียดแซง XBB.1.19.x ขึ้นมาเป็นอันดับสองได้แล้ว

…ผู้ป่วย Long COVID มีลักษณะระบบภูมิคุ้มกันถูกกระตุ้นต่อเนื่อง
Joung S และคณะ จาก Cedars-Sinai Medical Center ประเทศสหรัฐอเมริกา เผยแพร่ผลการศึกษาในวารสารการแพทย์โรคติดเชื้อ BMC Infectious Diseases เมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา โดยศึกษาลักษณะการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันหลังได้รับวัคซีนของผู้ที่เคยติดเชื้อโรคโควิด-19 ทั้งที่ติดแล้วหาย และติดแล้วเกิดภาวะ PASC (Long COVID) เปรียบเทียบกับคนที่ไม่เคยติดเชื้อ

สาระสำคัญคือ กลุ่มผู้ป่วยที่เป็น Long COVID นั้น มีลักษณะการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันแตกต่างไปจากกลุ่มที่ไม่เป็น Long COVID และกลุ่มที่ไม่เคยติดเชื้ออย่างชัดเจน โดยชี้ให้เห็นว่า กลุ่ม Long COVID มีลักษณะที่ระบบภูมิคุ้มกันถูกกระตุ้นอย่างต่อเนื่อง (persistent immune activation)

…ผลการศึกษานี้ สอดคล้องกับสมมติฐานก่อนหน้านี้ที่มีการอธิบายกลไกการเกิดอาการผิดปกติของระบบต่างๆ ในร่างกายของผู้ป่วย Long COVID ว่าน่าจะมาจากการติดเชื้อแบบเรื้อรัง หรือการคงค้างของชิ้นส่วนไวรัสในร่างกาย ซึ่งจะนำไปสู่กระบวนการอักเสบ การตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันผิดปกติ หรือการทำงานผิดปกติของอวัยวะต่างๆ จนทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยตามมา

…ถ้อยแถลงของ ผอ.องค์การอนามัยโลก
เมื่อ 26 เมษายน 2566 Dr.Tedros ผู้อำนวยการของ WHO ได้แถลงโดยมีสาระสำคัญหนึ่งดังนี้
“An estimated one in 10 infections results in post-Covid conditions suggesting that hundreds of millions of people will need longer term care” คาดว่าจะมีผู้ได้รับผลกระทบจากภาวะ Long COVID ราว 1 ใน 10 ของผู้ที่ติดเชื้อทั้งหมด ซึ่งแปลว่า จะมีคนจำนวนมากทั่วโลกหลายร้อยล้านคนที่จะต้องการการดูแลระยะยาว

“นี่คือหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ย้ำเตือนให้เราเห็นความสำคัญของปัญหานี้ และความจำเป็นที่จะต้องป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอระหว่างใช้ชีวิตประจำวัน การติดเชื้อแต่ละครั้ง ไม่จบแค่ชิลชิล แล้วหาย แต่ป่วยได้ ตายได้ และเสี่ยงต่อ Long COVID ที่จะบั่นทอนคุณภาพชีวิตในระยะยาวอีกด้วย”

ไทยเราตอนนี้มีคนติดเชื้อกันจำนวนมาก พิสูจน์ให้เห็นว่า ไม่ใช่การระบาดตามฤดูกาล ตามความเชื่องมงายที่ยังไม่ใช่ความจริง แต่เป็นการปะทุรุนแรงจากพฤติกรรมเสี่ยง กิจกรรมเสี่ยง ที่เพิ่มขึ้นหลังมีการใช้ชีวิตโดยไม่ได้ป้องกันตัวอย่างเพียงพอ ควรเลี่ยงที่แออัด ระบายอากาศไม่ดี ไม่แชร์ของกินของใช้ร่วมกับผู้อื่นนอกบ้าน การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องนั้นมีความสำคัญมาก จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก

“…ย้ำเตือนดังๆ อีกครั้งว่า ระลอกนี้เยอะมากนะครับ ติดเชื้อแล้วยังควรแยกตัวจากผู้อื่น 7-10 วัน จนกว่าจะไม่มีอาการและตรวจ ATK ซ้ำแล้วได้ผลลบ จากนั้นจึงค่อยมาทำงานหรือใช้ชีวิต โดยป้องกันตัวเคร่งครัดจนครบ 14 วัน” ด้วยหลักฐานทางการแพทย์จากการวิจัยทั้งจากสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ หากติดเชื้อและแยกตัว 5 วัน มีโอกาสที่จะแพร่เชื้อได้อยู่ 50-75% 7 วัน 25-30% 10 วัน 10% 14 วัน ก็จะปลอดภัย แต่หากไม่แยกตัว หรือแยกตัวระยะสั้น ไม่เพียงพอ ย่อมเสี่ยงที่จะแพร่เชื้อให้แก่ผู้อื่นได้ ที่ทำงานควรช่วยกันปรับสภาพแวดล้อมในการทำงานของตนเอง ให้มีการถ่ายเทอากาศ ระมัดระวังการรับประทานอาหารร่วมกัน และรณรงค์ให้ใส่หน้ากากอย่างถูกต้องสม่ำเสมอ..

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก @Thira Woratanarat