จากกรณี “พยาบาล” สาวรายหนึ่งได้โพสต์ประสบการณ์สอบ GAT-PAT เมื่อวันที่ 12 มี.ค.ที่ผ่านมา แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่คุมสอบ สั่งให้หยุดทำข้อสอบ และเชิญออกจากห้อง โดยให้เหตุผลว่าเป็นข้าราชการสอบไม่ได้ โดยเหตุเกิดขึ้นในห้องสอบมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งใน จ.นครศรีธรรมราช ช่วงเช้ากำลังทำข้อสอบ จู่ ๆ มีเจ้าหน้าที่ 2 คนเดินมาที่โต๊ะสอบ แล้วแจ้งให้หยุดทำข้อสอบ พร้อมถามว่า “เป็นครูโรงเรียนไหน” ส่งผลให้คนที่ในห้องเดียวกันหันมามองทั้งห้อง ภายหลังเจ้าหน้าที่ประสานฝ่ายงานพิจารณาแล้วปรากฏว่า ให้สอบต่อได้ แต่ฝ่ายพยาบาล เกิดความอับอายและไม่ได้เข้าไปสอบอีก

พยาบาลโอดถูกเชิญออกห้องสอบ จนท.อ้างเป็นข้าราชการสอบไม่ได้?

เกี่ยวกับเรื่องนี้เมื่อวันที่ 13 มี.ค. ในเพจ เฟซบุ๊ก “สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว” ได้โพสต์ข้อความให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า ฝ่ายพยาบาได้แจ้งเจ้าหน้าที่ว่า ไม่ได้เป็นครู เป็นเพียงข้าราชการเท่านั้น เจ้าหน้าที่ก็ได้เชิญออกไปจากห้องสอบ พร้อมสอบถามว่ามาสอบได้อย่างไร จึงตอบไปว่า เป็นพยาบาล มาสอบเพื่อนำคะแนนไปยื่นสมัครเรียนในมหาวิทยาลัยนเรศวร หลักสูตรผลิตบุคลากร ซึ่งต้องใช้คะแนน GAT-PAT ในการยื่น แต่ยังไม่ได้ยื่นสมัครกับทางมหาวิทยาลัย เพราะต้องการดูคะแนนสอบก่อน

“…ตอนนี้เป็นพยาบาล บรรจุเข้าปีที่ 4 แล้ว ซึ่งคะแนน GAT-PAT เก็บได้ 2 ปีเท่านั้น ต้องการนำคะแนนไปยื่นศึกษาต่อ ไม่ได้เป็นติวเตอร์ แต่อย่างใด ยอมรับตอนนั้น เจ้าหน้าที่แจ้งต่อมาว่าสามารถสอบต่อได้ แต่ต้องเขียนคำร้อง แต่รู้สึกอับอาย ไม่กล้าเข้าสอบแล้ว อาจจะสอบอีกครั้งในปีหน้า ขอพิจารณาอีกครั้ง…”

หลังเกิดเหตุ รศ.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ ผู้จัดการการระบบสอบ TCAS65 ให้สัมภาษณ์ว่า ว่า “ทปอ.” ได้ประกาศหลักเกณฑ์และคุณสมบัติของผู้เข้าสอบ GAT-PAT อย่างชัดเจนแล้ว ผู้ที่เข้าสอบต้องเรียนจบชั้น ม.6 หรือเทียบเท่า และต้องนำคะแนนไปใช้เพื่อสมัครสอบเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาเท่านั้น กรณีที่เกิดขึ้นนี้ เนื่องจากผู้เข้าสอบเป็นข้าราชการ จึงทำให้เจ้าหน้าที่คุมสอบมั่นใจว่า เรียนจบชั้นปริญญาตรีแล้ว และอาจสงสัยว่าเป็นติวเตอร์ หรือครู จึงได้มีการสอบถามข้อมูลผู้เข้าสอบ เพื่อหาวัตถุประสงค์ ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า ผู้เข้าสอบจะนำคะแนนไปใช้เพื่อศึกษาต่อในหลักสูตรระดับอุดมศึกษา “กรณีนี้ถือว่าสามารถสอบได้ ภายหลังเจ้าหน้าที่จึงแจ้งให้สอบต่อ แต่ผู้สอบตัดสินใจไม่สอบต่อ”

ทปอ.แจง กรณีไม่ให้ ข้าราชการสอบ GAT/PAT

อย่างไรก็ตาม ทปอ.ได้หารือเบื้องต้นเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวแล้ว โดยมีคำแนะนำว่า เจ้าหน้าที่คุมสอบควรเข้าไปสอบถามข้อมูลที่นุ่มนวลกว่านี้ และโดยปกติเจ้าหน้าที่คุมสอบ ต้องให้ผู้เข้าสอบดำเนินการทำข้อสอบให้แล้วเสร็จก่อน หากตรวจสอบพบว่าไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ หรือทุจริต ก็จะไม่มีการประกาศผลคะแนนในท้ายที่สุด

ทั้งนี้ในเพจของ “สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว” ยังได้โพสต์ถามความเห็นจากชาวเน็ต ทำให้พบว่า ส่วนใหญ่ ต้องการให้ทาง “ทปอ.” ออกมาแสดงความรับผิดชอบมากกว่านี้ ไม่ใช่เพียงแค่แจ้งเจ้าหน้าที่ให้พูดจานุ่มนวลแล้วให้เรื่องจบไป เพราะนี่คือ “….การทำลายอนาคตของบุคคลหนึ่งคน…” เพราะต้องเสียเวลาไปสอบใหม่ หลังจากต้องอับอายขายหน้า เสียความรู้สึก และไม่มีสมาธิในการสอบอีกแล้ว

ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก เพจเฟซบุ๊ก “สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว”