เปิดสังเวียนอย่างเป็นทางการเรียบร้อยแล้ว สำหรับสนามเลือกตั้ง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือ ผู้ว่าฯ กทม. ที่จะเริ่มเปิดรับสมัครรับเลือกตั้งกันในปลายเดือนนี้ ก่อนจะเปิดคูหาเลือกตั้งในวันที่ 22 พ.ค. 2565

โดยตัวชี้วัดที่จะสะท้อนให้เห็นถึงเกมอำนาจได้ชัดที่สุด ต้องย้อนดูผลการเลือกตั้ง ส.ส.ในพื้นที่ กทม. ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 โดยในการเลือกตั้งครั้งนั้น มีผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง จำนวน 3,025,757 คน ซึ่งผลการเลือกตั้งครั้งนั้น (ยึดตามข้อมูลสถิติของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง) พรรคอนาคตใหม่กวาดคะแนนเสียงได้เป็นอันดับ 1 จำนวน  804,217 คะแนน พรรคพลังประชารัฐ จำนวน 791,821 คะแนน พรรคเพื่อไทย จำนวน 604,661 คะแนน และพรรคประชาธิปัตย์ จำนวน 474,836 คะแนน พรรคอื่นๆ จำนวน 426,596 คะแนน

ทั้งนี้เมื่อแยกผลคะแนนออกเป็นจะพบว่ามีพรรคฝ่ายค้านมีคะแนนรวมประมาณ 1,408,878 คะแนน ขณะที่ฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาล มีคะแนนรวมประมาณ 1,266,657 คะแนน เท่ากับว่าในพื้นที่ กทม.พรรคฝ่ายค้านมีฐานเสียงเป็นต่อพรรคร่วมรัฐบาลพอสมควร

ขณะที่ผลโพลที่ออกมาจากหลายสำนัก ยังคงเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยมีชื่อของ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” มีคะแนนนำโด่ง โดยเสียงสนับสนุนส่วนใหญ่มาจากฐานเสียงของพรรคเพื่อไทย ด้วยอดีตเคยดำรงตำแหน่ง รมว.คมนาคม ในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และมีชื่อเป็น 1 ใน 3 รายชื่อ แคนดิเดตนายกฯในบัญชีของพรรคเพื่อไทย ดังนั้นจึงถือได้ว่า “ชัชชาติ” ยืนอยู่บนฐานเสียงของพรรคเพื่อไทย แม้ในครั้งนี้จะลงในนามผู้สมัครอิสระก็ตาม

แม้งานนี้ “ชัชชาติ” จะเลือกดีดตัวออกจากพรรคเพื่อไทย แต่เมื่อเปิดสนามเลือกตั้งแล้ว โอกาสที่จะถูกโยงไปพัวพันกันพรรคเพื่อไทยก็เป็นไปได้สูง โดยเฉพาะการที่พรรคเพื่อไทยหลีกทางไม่ส่งผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. แต่ส่งผู้สมัคร ส.ก. ครบทั้ง 50 เขต ทำให้ถูกเชื่อมโยงกับพรรคเพื่อไทยได้ไม่ยาก ขณะเดี่ยวกันการที่พรรคเพื่อไทยเปิดตัวแคมเปญ “ครอบครัวเพื่อไทย” โดยมีการชู “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร บุตรสาวคนเล็กของ  “โทนี่ วู้ดซัม” ทักษิณ ชินวัตร ขึ้นแท่นเป็นหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย นอกจากจะเป็นการดึง DNA สายตรง “โทนี่” เพื่อกระชับฐานเสียงเดิมของพรรคเพื่อไทยแล้ว ยังถือเป็นยุทธศาสตร์ดึงคะแนนนิยมจากคนรุ่นใหม่ได้ด้วยเช่นกัน

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นสังเวียนเลือกตั้ง กทม.ครั้งนี้ “ชัชชาติ” ยังประมาทไม่ได้ แม้คะแนนนิยมจะนำโด่ง ฐานเสียงทางการเมืองแน่นปึ๊ก แต่ก็ยังต้องเจอกับ “เกมตัดแต้ม” จากบรรดาผู้สมัครที่ยึดฐานเสียงฝ่ายค้านเช่นเดียวกัน

ไล่ตั้งแต่ “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” ผู้สมัครจากพรรคก้าวไกล แม้จะมีคะแนนนิยมเป็นรอง แต่อาจจะสร้างปรากฏการณ์ “มาเงียบๆ…แต่มานะ” เหมือนในครั้งการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.กทม. เขต 9 หลักสี่-จตุจักร ที่พรรคก้าวไกล กวาดคะแนนได้ถึง 20,361 คะแนน ดังนั้นในการเลือกตั้งผู้ว่ากทม.หนนี้ พรรคก้าวไกลถือเป็นอีกหนึ่งความเคลื่อนไหวที่น่าจับตามอง โดยมีการเล่นใหญ่ชูสโลแกนทวงคืนสนามหลวงให้ประชาชน

และยังมีการทำโพลลับที่ชี้ชัดว่าพรรคก้าวไกลเริ่มดึงเสียงจากชุมชนใน กทม.ได้มากขึ้น นอกจากฐานะเสียงเดิมที่ได้จากกลุ่มคนรุ่นใหม่และบ้านมีรั้ว ดังนั้นการทะลวงคะแนนจากชุมชนใน กทม.ของพรรคก้าวไกล ก็อาจจะทำให้การขับเคี่ยวแบ่งแต้มในฝ่ายเดียวกันหนักหน่วงมากยิ่งขึ้น

นอกจากนั้นยังมีผู้สมัครจากพรรคไทยสร้างไทย จากการปลุกปั้นของ “เจ้าแม่ กทม.” คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานพรรคไทยสร้างไทย โดยมีการเปิดตัว “ผู้พันปุ่น” น.ต.ศิธา ทิวารี  อดีตโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร และอดีตส.ส.กทม.พรรคไทยรักไทย ซึ่งเรียกได้ว่าโปรไฟล์ไม่ธรรมดาบวกกับผลงานการทำพื้นที่อย่างต่อเนื่องของ “เจ๊หน่อย” ก็จะส่งผลให้การตัดแต้มกันเองของพรรคฝ่ายค้านเป็นไปอย่างดุเดือด!

ขณะเดียวกันผู้สมัครในฟากฝั่งของพรรครัฐบาล ที่น่าจับตามองที่สุดคือ “ดร.เอ้” สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ แม้หากดูจากผลการเลือกตั้งใน กทม. ปี 2562 พรรคประชาธิปัตย์จะแพ้ราบคาบ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าก่อนหน้านี้ตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. เคยถูกผูกขาดโดยพรรคประชาธิปัตย์หลายสมัย ดังนั้นในสังเวียนเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.รอบนี้ “ดร.เอ้” อาจจะดึงคะแนนจากฐานเสียงของพรรคพลังประชารัฐเดิมให้กลับมาเทคะแนนให้พรรคประชาธิปัตย์อีกรอบ ก็มีโอกาสเป็นไปได้

แต่ก็ยังต้อง “วัดกำลัง” ในการเบียดแย่งฐานเสียงของพรรคร่วมรัฐบาลเช่นเดียวกัน ทั้งกับเจ้าของเก้าอี้เดิม อย่าง “บิ๊กวิน” พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.คนล่าสุด ที่เพิ่งจะประกาศลาออกจากตำแหน่งเพื่อลงชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.อีกสมัย โดยมีทุนเดิมจากการเคยดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.มาแล้ว  

รวมทั้ง “สกลธี ภัททิยกุล” อดีตรองผู้ว่าฯ กทม. ที่ประกาศตัวลงในสู้ศึกเลือกตั้งในนามผู้สมัครอิสระ มีดีกรีเป็น อดีต ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งในส่วนนี้คงจะต้องรอดูท่าทีของ พรรคพลังประชารัฐ ว่าท้ายที่สุดแล้วจะเลือกหนุนหลังใครในศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้

อย่างไรก็ตามงานนี้ผู้สมัครที่อาศัยฐานเสียงของพรรคร่วมรัฐบาลจะต้องขับเคี่ยวแย่งฐานเสียงกันเองแล้ว ยังต้องเจอกับความท้าทาย จากการผูกโยงคะแนนนิยมทางการเมืองของรัฐบาลด้วย ซึ่งอาจจะทำให้ฐานเสียงที่มีอยู่เดิมถูกตัดไปเลือกผู้สมัครจากฐานเสียงพรรคฝ่ายค้านแทน ด้วยปัจจัยจากความเอือมระอากับการทำงานของรัฐบาล!

ทั้งหมดทั้งมวลส่งที่จะชี้ขาดผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้ได้ อยู่ที่นโยบายของผู้สมัคร และอยู่ที่กระแสความนิยมทางการเมือง แต่งานนี้เรียกได้ว่าทั้งผู้ชนะและผู้แพ้ต่างไม่เสียแรงเปล่า เพราะการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นจะเป็นเวทีปล่อยของของผู้สมัคร และพรรคการเมืองที่สนับสนุน ซึ่งจะสามารถนำไปต่อยอดปรับใช้ในการเลือกตั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นอีกไม่นานนี้

ปรับโฟกัสไปที่การเมืองภาพใหญ่ในช่วงที่ผ่านมาจะเห็นได้ถึงความเคลื่อนไหว เตรียมกำลังพล จัดกระบวนทัพ ของพรรคการเมืองต่างๆให้ได้เห็นกันบ้างแล้ว โดยที่น่าสนใจที่สุดหนีไม่พ้น แคมเปญ “ครอบครัวเพื่อไทย” ซึ่งงานนี้อาจจะเป็นปรากฎการณ์ “ลับ ลวง พราง” ทางการเมืองอีกครั้ง จากการที่ “โทนี่” ส่งลูกสาว ออกมาชิมลางทางการเมือง เช็คกระแสวัดเรทติ้งในตัวลูกสาวแบบนี้ จะต้องดูต่อไปว่าในอนาคตจะเป็นอย่างไร

ส่วนพรรคขนาดเล็กที่น่าจับตามองก็หนีไม่พ้นพรรคเศรษฐกิจไทย ที่ล่าสุดเพิ่งได้คณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ป้ายแดง โดยมี “บิ๊กน้อย” พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิส ณ อยุธยา นั่งหัวหน้าพรรค ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า นั่งเลขาธิการพรรค ซึ่งงานนี้พรรคเศรษฐกิจไทยก็ยังไม่มีท่าทีที่ชัดเจนว่าจะยังให้การสนับสนุน “บิ๊กตู่” ต่อไปในฐานะพรรครัฐบาลหรือไม่ และหากจะพูดถึงอนาคตในการเลือกตั้งแล้วอะไรก็สามารถเกิดขึ้นได้

ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ ก็ยังต้องอาศัยกระแสความนิยมทางการเมืองจาก “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ที่ตอนนี้ยังอยู่ในวังวนของอาการ “ปริ่มน้ำ” ทางการเมือง จนทำเอาหายใจหายคอไม่สะดวก ด้วยปัญหาเสถียรภาพของเสียงในสภา จากการแยกตัวของ “ก๊วนธรรมนัส” ที่รัฐบาลยังหาทางแก้ไม่ตก ดังนั้นคงจะต้องรอดูการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2565 ของพรรคพลังประชารัฐ ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 3 เม.ย.นี้ ว่าจะมีการแก้เกมในสภา จัดทัพเตรียมสู้ศึกเลือกตั้งอย่างไรหลังจากนี้

ปิดท้ายกันด้วยความเคลื่อนไหวของรัฐบาล ภายหลังเบิร์ธเดย์ “บิ๊กตู่” ในวัย 68 ปีไปหมาดๆ  โดยมี “พี่ป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ นำ ครม.มอบช่อดอกไม้อวยพร แม้งานนี้ “บิ๊กตู่” จะย้ำว่า ครม.ต้องให้ใจกัน ทำงานร่วมมาตั้ง 3 ปีแล้ว ซึ่งตนไม่ได้เป็นศัตรูกับใคร พร้อมกันนั้นยังมีการนัดมิตติ้งชุดใหญ่ โดยชวน ครม. ส.ส. ส.ว.มาร่วมรับประทานอาหารกลางวัน ที่ตึกสันติไมตรี ในวันที่ 12 เม.ย.ที่จะถึงนี้ เพื่อถือโอกาสทำบุญในช่วงวันขึ้นปีใหม่ไทย และพบกันก่อนหยุดยาวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2565

ต้องรอดูกันว่า “บิ๊กตู่” จะเดินเกมเรียกคะแนนนิยมกระชับความสัมพันธ์ ครม. ส.ส. ส.ว. บริหารแต้มในสภา นำพา “รัฐบาลเรือเหล็ก” ไปถึงฝั่งฝันได้หรือไม่ และผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. จะเพิ่มแรงเสียดทานต่อรัฐบาลมากน้อยแค่ไหน.