พระครูปลัดปัญญาวรวัฒน์ (หรรษา ธมฺมหาโส) ผอ.หลักสูตรสันติศึกษา และผอ.วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) ได้โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊ก Hansa Dhammahaso ถึงกรณี วิลล์ สมิธ ขึ้นไปตบหน้า คริส ร็อก พิธีกรที่ได้ Bully ภรรยาของวิลล์ สมิธ เกี่ยวกับศีรษะที่ไร้เส้นผมอันเกิดจากโรคประจำตัว บนเวทีประกาศผลรางวัลออสการ์ ประจำปี 2565 ระบุว่า แรง Bully แลกแรงตบ ความรุนแรงแลกด้วยความรุนแรง น้ำตาไหลอาบแก้มนักแสดงชื่อดัง วิลล์ สมิธ บนเวทีประกาศผลรางวัลออสการ์ ประจำปี 2565 น้ำตาดังกล่าวมิใช่น้ำตาแห่งความสุขที่เขาได้รับรางวัลดาราแสดงนำชายยอดเยี่ยม หากแต่เป็นน้ำตาแห่งความทุกข์ และเสียใจที่ได้ตัดสินใจเดินขึ้นไปตบหน้า คริส ร็อก พิธีกรที่ได้ Bully ภรรยาของวิลล์ สมิธ เกี่ยวกับศีรษะที่ไร้เส้นผมอันเกิดจากโรคประจำตัว

Bully มีการอธิบายเอาไว้หลายนัย แต่ในกรณีนี้เป็นกิริยาอาการที่แสดงออกถึงการหยิบยกจุดด้อยคนอื่นมาหยอกล้อด้วยเจตนาคึกคะนอง หรือสนุกสนาน ผู้ชมและผู้ฟังบางกลุ่มใน Hall และทางบ้าน อาจจะหัวเราะสนุกสนาน แต่สำหรับแฟนของวิลล์ สมิธ หันมาส่งสายตาแสดงความรู้สึกให้สามีได้รับทราบถึงความเจ็บปวดที่ร้าวลึกอยู่ภายใน นั่นจึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ วิลล์ สมิธ ลุกขึ้นไปตบหน้าพิธีกรที่ยืนหัวเราะบนเวที

Bully ซึ่งเป็นการแสดงออกถึงความรุนแรงทางอ้อม (Indirect Violence) ผ่านการนำจุดด้อยหรือจุดอ่อนไหวคนอื่นมานำเสนอด้วยความตลก หรือคึกคะนองของคริส ร็อก ถึงคราวต้องมาเผชิญหน้ากับการโต้กลับด้วยความรุนแรงทางตรง (Direct Violence) ของวิลล์ สมิธ ได้นำมาซึ่งประเด็นข้อถกเถียงของคนสองกลุ่มที่มีทั้งสนับสนุน และไม่เห็นด้วยกับการแสดงออกด้วยการเดินขึ้นไปตบของวิลล์ สมิธ

กลุ่มที่สนับสนุนจะยกเหตุผลมาอธิบายให้เห็นความชอบธรรมของการตบว่า เป็นการถูกต้อง และการตบถือเป็นการกระทำที่สมควรแก่เหตุ ที่พิธีกรตลกคนดังกล่าวแสดงการ Bully แฟนของวิลล์ สมิธ การตบถือเป็นการสั่งสอนให้เข็ดหลาบ เพื่อจะได้เกิดความตระหนักรู้ และไม่มีพฤติกรรมเช่นนี้กับคนอื่นๆ อีกต่อไปในอนาคต

ในทางตรงกันข้าม เมื่อประเมินท่าทีของวิลล์ สมิธ จากคำพูดที่บอกว่า “ความรักทำให้คุณทำเรื่องบ้าๆ ได้” คำพูดและหยาดน้ำตาทำให้ได้คำตอบที่ชัดเจนว่า ตัวเขารู้สึกว่าพลาดไปแล้ว เป็นการพลาดด้วยอำนาจของโทสะ ที่แสดงออกถึงความโกรธอย่างรุนแรงจนไม่สามารถควบคุมอารมณ์ความโกรธเอาไว้ได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเอาสถานะของพระเอกเจ้าของรางวัลออสการ์ไปแลกกับพิธีกรตลกที่มีพฤติกรรม Bully คนอื่น บวกลบคูณหารแล้ว เป็นที่ชัดแจ้งว่าได้ไม่คุ้มเสีย หรืออาจจะมีแต่เสียกับเสีย จนในที่สุดเขาต้องกล่าวขอโทษผู้ชม และแฟนคลับตัวเองทั้งน้ำตา และมีผู้คนบางกลุ่มเรียกร้องให้ถอดรางวัลที่เขาได้ รวมถึงสถาบันที่มอบรางวัลก็ออกมาประกาศไม่สนับสนุนการใช้ความรุนแรงแก้ไขปัญหาครั้งนี้

การ Bully ในมุมของพระพุทธศาสนานั้น จัดเป็นพฤติกรรมทางวาจาที่บ่งชี้ถึงการส่อเสียด ที่ทำให้เข้าข่ายการผิดศีลข้อที่ 4 เพราะทำให้ผู้ฟังเจ็บปวดจากการ Bully ที่ตัวเองมีเจตนาคึกคะนองจนนำไปสู่ผลเสียดังกล่าว พร้อมกันนี้ ยังก่อให้เกิดการผิดธรรม ด้วยการกล่าววาจาทุพภาษิต นำเสนอถ้อยคำเป็นมิจฉาวาจาก่อให้เกิดความทุกข์ ความเจ็บปวดภายใน และนำไปสู่การสร้างเวรภัยทั้งต่อตนเองและคนอื่นในสังคม

พฤติกรรม Bully ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ เป็นหนึ่งในภาพสะท้อนที่เกิดขึ้นทั่วทุกมุมของโลก ทุกชาติ ทุกภาษา ทุกชาติพันธุ์ การนำจุดด้อย จุดเปราะบาง มากลั่นแกล้ง เยาะเย้ย ถากถาง ทั้งในเชิงขบขับ ดูหมิ่น เหยียดหยาม นำไปสู่ความเจ็บปวด เคียดแค้น และลดคุณค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หลายกรณีมิได้ลงเอยด้วยการตบตี แต่แลกด้วยด้วยชีวิตที่มิสามารถทนต่อการ Bully จากคนรอบข้าง หรือคนอื่นในสังคมได้

การปลูกฝังคุณค่าความเห็นอกเห็นใจ หรือ Empathy และสร้างความตระหนักรู้ถึงการเอาใจเขามาใส่ใจเรา หรืออัตตานัง อุปมัง กเร บนฐานของพรหมวิหารธรรม ตั้งแต่เยาว์วัย ผ่านระบบการศึกษา และสื่อต่างๆ จะทำให้ชุมชน และสังคมได้มีทัศนคติ และท่าทีเชิงบวกต่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขในสังคมโลกที่มีความแตกต่างและหลากหลาย