เมื่อวันที่ 1 เม.ย. สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดย ศ.ดร.พญ.ลักขณา ไทยเครือ ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ลงพื้นที่ชายหาดละไม ต.มะเร็ต อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อมาบรรยายให้ความรู้เรื่องการป้องกันและการปฐมพยาบาล จากพิษแมงกะพรุนกล่อง ที่โรงแรมเดอะไฮวฟ์ โดยมีนางกฤษณา พรหมเกาะ ประธานที่ปรึกษาชมรมบริหารงานเกาะสมุย พร้อมด้วยตัวแทนจากโรงแรมบนเกาะสมุยจำนวน 20 แห่ง มาร่วมรับฟังการบรรยาย พร้อมรับป้ายเตือนอันตรายจากแมงกะพรุนกล่อง 4 ภาษา และเสาใส่น้ำส้มสายชู เพื่อนำไปปักบนชายหาดของแต่ละโรงแรม พร้อมกับการสาธิตการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากพิษแมงกะพรุนกล่อง

จากข้อมูลกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้ดำเนินการสำรวจแมงกะพรุนพิษ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552–ปัจจุบัน มีพื้นที่ได้รับการสำรวจครอบคลุมทางชายฝั่งทะเลอันดามัน และอ่าวไทย รวม 23 จังหวัด พบแมงกะพรุนพิษ 9 ชนิด กลุ่มแมงกะพรุนไฟ 2 ชนิด แมงกะพรุนขวด 1 ชนิด และเป็นแมงกะพรุนในกลุ่มแมงกะพรุนกล่อง 6 ชนิด

ด้านนางกฤษณา กล่าวว่า ถื่อว่าเป็นเรื่องที่ดีของเกาะสมุย ที่ สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดย ศ.ดร.พญ.ลักขณา ไทยเครือ ซึ่งเป็นแพทย์คนเดียวที่ทำเรื่องของแมงกะพรุนกล่องในประเทศไทย ได้มาให้ความรู้เกี่ยวกับแมงกะพรุนกล่องให้กับผู้ประกอบการโรงแรมในพื้นที ทั้งนี้เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างประเทศว่า โรงแรมมีความรู้ในการช่วยเหลือผู้ประสบเหตุจากพิษของแมงกะพรุนกล่องได้ทันท่วงที และนักท่องเที่ยวก็จะได้มีความระมัดระวังตัวมากขึ้น

ขณะที่ ศ.ดร.พญ.ลักขณา กล่าวว่า การพบแมงกะพรุนกล่องขึ้นอยู่กับพื้นที่ ฝั่งอันดามัน หรืออ่าวไทยตอนบนและตอนล่างจะไม่เหมือนกัน แต่ของเกาะสมุยจะอยู่ในช่วงเดือน ก.ค.-ต.ค. จะเจอผู้บาดเจ็บจากแมงกะพรุนกล่อง แต่ช่วงที่มีคลื่นลมแรงๆ มักจะไม่เจอแมงกะพรุน แต่ถ้าช่วงที่คลื่นลมสงบหรือลักษณะเป็นอ่าวโค้ง หลังฝนตกใหม่ๆ ช่วงเวลากลางคืน มักจะพบแมงกะพรุนกล่อง จึงไม่แนะนำให้ลงเล่นน้ำ แต่ถ้าหาดไหนมีตาข่ายกั้นแมงกะพรุน ลักษณะตัวตาข่ายข้างล่างติดพื้นข้างบนลอยน้ำ แนะนำให้เล่นในบริเวณตาข่าย หรือสวมใส่ชุดแบบเต็มตัวและแนบกับผิวหนังเพื้อป้องกัน

“หากพบว่ามีคนถูกพิษแมงกะพรุนกล่อง ต้องรีบใช้น้ำส้มสายชูเท่านั้น ราดไปที่บาดแผลต่อเนื่อง 30 วินาทีเป็นอย่างน้อย ห้ามเอาทราย น้ำทะเล น้ำเปล่า ผักบุ้งทะเล ไปถูที่บริเวณบาดแผล เพราะจะทำให้พิษเข้าสู่ร่างกายมากขึ้น หากไม่มีสัญญาณชีพให้รีบทำการปั๊มหัวใจทันที พร้อมกับเรียกรถพยาบาลเพื่อนำส่งโรงพยาบาล” ศ.ดร.พญ.ลักขณา กล่าว

จากสถิติตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 ถึงปัจจุบัน พบว่ามีผู้เสียชีวิตจากพิษของแมงกะพรุนกล่อง 10 ราย เกาะสมุยและเกาะพะงัน รวม 9 ราย สถานที่อื่นอีก 1 ราย ส่วนปีนี้ ยังไม่พบผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากแมงกะพรุนกล่อง ส่วนหนึ่งอาจมาจากนักท่องเที่ยวน้อยลง.