เมื่อวันที่ 17 เม.ย. ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา ผอ.สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจ เรื่อง ปริญญ์เอฟเฟกต์ เลือกตั้ง กทม. กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตกรุงเทพมหานครโดยดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ และการวิจัยเชิงคุณภาพ จำนวน 1,548 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 15-6 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา พบว่าส่วนใหญ่หรือร้อยละ 48.5 ติดตามข่าว เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. มากถึงมากที่สุด ร้อยละ 32.3 ติดตามปานกลาง และร้อยละ 19.2 ติดตาม น้อยถึงไม่ติดตามเลย

เมื่อถามถึง การรับรู้ข่าว นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ ของคน กทม. พบว่าส่วนใหญ่หรือร้อยละ 46.3 รับรู้มากถึงมากที่สุด ร้อยละ 31.3 รับรู้ปานกลาง และร้อยละ 22.4 รับรู้น้อย ถึงไม่รู้เลย

ที่น่าพิจารณาคือ ผลกระทบของข่าว นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ ต่อการตัดสินใจเลือกตั้งผู้ว่า กทม. หลังจากทดสอบค่านัยสำคัญทางสถิติ พบว่าไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ ต่อนายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ในนามพรรคประชาธิปัตย์ แม้มีค่าติดลบ คือ -.029 ก็ตาม นอกจากนี้ ไม่มีนัยสำคัญต่อผู้สมัครคนอื่นด้วย เช่น พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง แม้ติดค่าลบจากข่าวนายปริญญ์ เช่นกัน คือ -.054 แต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ แต่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ มีค่าเป็นบวก คือ +.054 แต่ไม่มีนัยสำคัญ

ที่น่าสนใจคือ มีผู้สมัครรับเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม. สองคนที่ผลการทดสอบ ปริญญ์เอฟเฟกต์ พบว่า มีค่าผลกระทบเป็นบวก และมีนัยสำคัญทางสถิติคือนายสกลธี ภัททิยกุล ได้ +.161 และมีนัยสำคัญทางสถิติกว่าร้อยละ 99  รวมถึงนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ที่ได้รับผลกระทบในทางบวกคือได้ +.091 และมีนัยสำคัญทางสถิติกว่าร้อยละ 90 ตามลำดับ ส่วนผู้สมัครท่านอื่น ทดสอบผลกระทบของ ปริญญ์เอฟเฟกต์ แล้ว ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ ความหมายคือ ไม่มีผลกระทบอะไรต่อการตัดสินใจเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม. ของคน กทม.

เมื่อถามถึง การตัดสินใจเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม. ของคน กทม. เปรียบเทียบระหว่าง ครั้งแรก และ ครั้งที่สอง หลังมีการลงสมัครรับเลือกตั้งอย่างเป็นทางการแล้ว พบว่าแนวโน้มคนจะเลือก เพิ่มขึ้นทุกคน แต่อันดับสลับกันอยู่บ้าง กล่าวคือ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ยังคงนำเพิ่มจาก ร้อยละ 20.3 ในครั้งที่ 1 มาเป็นร้อยละ 24.5 ในครั้งที่ 2 นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 9.8 ในครั้งที่ 1 มาเป็น ร้อยละ 13.9 ในครั้งที่ 2 

ที่น่าสนใจ จาก ปริญญ์ เอฟเฟกต์ ในการสำรวจครั้งนี้ พบว่า นายสกลธี ภัททิยกุล เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5.7 ในครั้งที่ 1 มาเป็นร้อยละ 10.1 ในการสำรวจครั้งล่าสุด และขยับขึ้นมาเป็นอันดับ 3 ในขณะที่ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 7.1 มาอยู่ที่ร้อยละ 9.8  นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.5 มาอยู่ที่ร้อยละ 5.5 และอื่น ๆ ได้แก่ นางสาวรสนา โตสิตระกูล น.ต.ศิธา ทิวารี เป็นต้น เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5.9 มาอยู่ที่ร้อยละ 7.5 ในขณะที่ กลุ่มคนไม่ตัดสินใจลดลงจากร้อยละ 48.7 มาอยู่ที่ร้อยละ 28.7 ในการสำรวจครั้งนี้

ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่า การสำรวจการรับรู้ ติดตามและผลกระทบของเหตุการณ์ส่วนตัวของผู้มีความเกี่ยวข้องในทางการเมืองคนหนึ่งช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา สะท้อนถึงอิทธิพลของข้อมูลข่าวสารการเมืองระดับหนึ่ง เมื่อนำการรับรู้ต่อเหตุการณ์ส่วนตัวของนักการเมืองดังกล่าวไปหานัยสำคัญทางสถิติกับแนวโน้มการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. พบว่า มีผลกระทบต่อการตัดสินใจที่น่าสนใจดังนี้ ผู้สมัครในนามพรรคเดียวกันกับผู้ตกเป็นข่าวได้รับผลกระทบทางลบ แต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ แต่กลับไปมีผลกระทบทางบวกและมีนัยสำคัญต่อผู้สมัครที่ไม่ได้อยู่ในพรรคเดียวกันแต่อยู่ในฝากฝ่ายเดียวกัน ตามทฤษฎีอัตลักษณ์กลุ่มทางสังคม (Social Group Identity) 

ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวต่อว่า ที่น่าสนใจคือ ถ้าวันนี้เป็นวันเลือกตั้ง ประชาชนคนกรุงเทพมหานครกระจายตัวตัดสินใจเทคะแนนให้กับผู้สมัครแต่ละคนมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกคนเปรียบเทียบระหว่างการสำรวจครั้งแรกและครั้งที่สองหลังจากมีการสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครอย่างเป็นทางการ โดยเฉพาะผลกระทบจาก ปริญญ์เอฟเฟกต์ ส่งผลให้นายสกลธี ภัททิยกุล อาจจะเป็นเพราะฐานคะแนนนิยมจากฝั่งเดียวกันของผู้สมัครสามคนในกลุ่มสนับสนุนรัฐบาลทำให้ นายสกลธีฯ ขึ้นนำเบียดกันกับ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง อยู่เล็กน้อย ในผลการศึกษาครั้งนี้ และที่น่าจับตามองต่อไปคือ ปริญญ์เอฟเฟกต์ จะมีผลยั่งยืนยาวนานเพียงไรต่อการตัดสินใจเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครของประชาชน คน กทม. และอาจจะมีปัจจัยสำคัญอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น นโยบาย ผลงาน และความเป็นนักบริหารแก้ปัญหาเก่งให้คน กทม.