ตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ ไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช และทรงสักการะพระบรมสารีริกธาตุ ณ พระบรมบรรพต (ภูเขาทอง) เนื่องในโอกาสที่กระทรวงวัฒนธรรม จัดงาน “ใต้ร่มพระบารมี 240 ปี กรุงรัตนโกสินทร์” เมื่อวันที่ 22 เม.ย. นั้น ทำให้ชื่อของวัดสระเกศฯ ถูกพูดถึงอีกครั้ง และหลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่า บนยอดของพระบรมบรรพต หรือภูเขาทอง วัดสระเกศฯ นั้นได้ถูกกำหนดให้เป็น “สะดือประเทศ” ด้วย

โดยทั่วไปแล้วสำหรับพื้นที่ถูกกำหนดให้เป็น “สะดือเมือง” หมายถึง จุดที่ถูกกำหนดให้เป็นจุดศูนย์กลางของเมืองนั้นๆ สำหรับสะดือเมืองกรุงเทพมหานคร ถูกกำหนดมาตั้งแต่ช่วงช่วงเริ่มสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงกำหนดให้บริเวณพื้นที่เสาชิงช้าคือ “สะดือเมือง” เนื่อจากในยุคแรกของการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ ขอบเขตของเมืองมีพื้นที่อยู่แค่เขตพระนคร โดยหลังจากที่ได้มีการขุดคลองรอบกรุงเป็นแนวเขตเมือง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงมีรับสั่งให้หาบริเวณที่เป็นศูนย์กลางของพระนคร และบริเวณหน้าวัดสุทัศนเทพวราราม ก็คือจุดที่เป็นศูนย์กลางชองเมืองในสมัยนั้น โดยหลังจากนั้นพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเทวสถานโบสถ์พราหมณ์และเสาชิงช้าขึ้น เพื่อใช้เป็นการประกอบพิธีกรรมสำคัญเกี่ยวกับเมือง และถือเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงศูนย์กลางของพระนคร

ขณะที่จุดที่เป็น “สะดือประเทศ” หรือจุดศูนย์กลางประเทศไทยเรานั้น ถูกกำหนดให้อยู่บริเวณยอดภูเขาทอง วัดสระเกศ เพราะสมัยก่อนการกำหนดระวางพิกัดแผนที่ของกรมแผนที่ทหารและกรมที่ดิน ใช้มาตราส่วน 1 : 4,000 เป็นมาตรฐาน โดยกำหนดจุดยอดของภูเขาทองเป็น 0, 0 แล้วแบ่งตามโซนต่างๆ โดยใช้เส้น Grid ลากเป็นแนวตั้งและแนวนอนกระจายไปทั่วทั้ง 4 ทิศ ทำให้เกิดเป็นพื้นที่สี่เหลี่ยม ดังที่เราเห็นเป็นเส้นสี่เหลี่ยมบนแผนที่ ซึ่งแต่ละเส้นมีระยะทาง 2 กิโลเมตร โดยจุดกึ่งกลางนั้นมีชื่อเรียกว่า “ศูนย์กำเนิด” และศูนย์กำเนิดนี้เองที่ถูกเรียกว่า “สะดือประเทศ” และได้มีการตอกหมุดหลักฐานประเทศเพื่อใช้เป็นหมุดอ้างอิงค่าพิกัดศูนย์กำเนิดบนยอดภูเขาทองด้วย (ตามระบบ 29 ศูนย์กำเนิด)

ปัจจุบัน ระวางแผนที่แบบจุดกำเนิดไม่ถูกนำมาใช้แล้ว เพราะถูกแทนที่ด้วยระบบ UTM ซึ่งเป็นมาตรฐานสากล ศูนย์กำเนิดบนแผนที่บนภูเขาทองจึงเหลือไว้เพียงความเชื่อที่เป็นมงคลเมืองว่าเป็น “สะดือประเทศ” ส่วนหมุดหลักฐานได้กลายเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับขอพร โดยเชื่อว่าหากต้องการขายที่ดินหรือทำธุรกิจเกี่ยวกับที่ดินต้องมาขอพรที่หมุดนี้

ส่วนประวัติในการสร้างพระบรมบรรพต หรือภูเขาทองนั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อคราวบูรณปฏิสังขรณ์วัดสระเกศครั้งใหญ่ในรัชกาลที่ 3 ด้วยมีพระราชประสงค์จะสร้างพระเจดีย์เหมือนอย่างวัดภูเขาทองที่กรุงศรีอยุธยา มีคลองมหานาคล้อมรอบวัดและเป็นคลองที่ชาวพระนครจัดเป็นที่ชุมนุมรื่นเริงลอยเรือเล่นสักวากัน แรกสร้างพระเจดีย์ภูเขาทองนั้น รูปแบบเป็นปรางค์องค์ใหญ่ฐานสี่เหลี่ยมแบบย่อมุมไม้สิบสอง มีฐานกว้าง 50 วา หรือ 100 เมตร สูง 9 วา หรือ 18 เมตร โดยขุดรากลึกลงไปในดิน วางท่อนซุงเรียงเป็นแพอัดแน่น จากนั้นก่ออิฐถือปูนครอบไว้ชั้นนอก ปรากฏว่าส่วนฐานล่างองค์พระเจดีย์รับนํ้าหนักดิน หิน และ ศิลาแลงที่ถมไม่ได้ ส่วนบนยอดเจดีย์จึงทรุดลงจนไม่สามารถแก้ไขได้และมิได้สร้างต่อให้แล้วเสร็จจนสิ้นรัชกาล

ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระเจดีย์ภูเขาทองที่ทิ้งค้างไว้ในสมัยรัชกาลที่ 3 ต่อ โดยซ่อมแปลงแก้ไขพระปรางค์องค์ใหญ่ทำเป็นภูเขาทอง ทำบันไดเวียนสองข้างจนถึงยอดมีส่วนหนึ่งทำบันไดทอดตรงลงมาเมื่อ พ.ศ.2408 ได้เสด็จฯ ทรงวางศิลาฤกษ์ พร้อมทั้งพระราชทานนามใหม่ว่า “บรมบรรพต”

การก่อสร้างดำเนินมาจนถึงรัชกาลที่ 5 จึงแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ.2420 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ประกอบพิธีสมโภช ภายหลัง พ.ศ.2434 โปรดเกล้าฯ อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุที่บูชาไว้ในพระบรมมหาราชวัง ไปประดิษฐานในพระเจดีย์ภูเขาทองเป็นครั้งแรก ต่อมาวันที่ 23 พ.ค.2442 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมขุนนครราชสีมา เสด็จฯ แทนพระองค์ ทรงประกอบพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ไปอัญเชิญมาจากประเทศอินเดีย ซึ่งรัฐบาลอินเดียทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระองค์โปรดให้อัญเชิญมาประดิษฐานในพระเจดีย์ภูเขาทอง และในสมัยรัชกาลที่ 5 นี้ พระบรมบรรพตยังได้เป็นที่สังเกตการณ์และแจ้งเหตุได้เป็นอย่างดี ด้วยสามารถมองเห็นทั่วทั้งพระนคร

พ.ศ.2481 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร พร้อมด้วยสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี , สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ และสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ภายหลังจากเสด็จฯ นิวัตประเทศไทยแล้ว ได้เสด็จฯ มาทอดพระเนตรและทรงสักการะปูชนียสถาน ณ วัดสระเกศ เมื่อวันที่ 29 ธ.ค.

ในสมัยสมเด็จพระสังฆราช ญาโณทยมหาเถร ขณะดำรงสมณศักดิ์เป็นพระธรรมวโรดม เจ้าอาวาสวัดสระเกศ ได้ทำการซ่อมใหญ่อีกครั้งหนึ่ง เมื่อแล้วเสร็จพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จฯ ยังมณฑลพิธี ณ บรมบรรพต ทรงบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในพระเจดีย์ ยอดพระมณฑป เมื่อวันที่ 22 ม.ค. 2497

ต่อมาเมื่อวันที่ 28 พ.ย.2540 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระราชอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงพระกรุณาโปรดถวายโมเสกสีทองแบบเรียบเพื่อซ่อมแซมพระเจดีย์ภูเขาทองอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้พระบรมบรรพตหรือพระเจดีย์ภูเขาทองในปัจจุบันมีขนาดสูงจากฐานถึงยอด 63.6 เมตร ฐานโดยรอบมีเส้นผ่าศูนย์กลางกว้าง 150 เมตร ยาว 330 เมตร มีบันไดทอดขึ้นเป็นบันไดเวียน 344 ขั้น เมื่อเดินขึ้นสู่ยอดเขาบนลานพระเจดีย์ จะสามารถมองเห็นทัศนียภาพกรุงเทพมหานครได้โดยรอบ.